- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- "วันกาเดร์"แนะจับมือพัฒนาชายแดนใต้... สู้กันไปก็ตายเปล่า
"วันกาเดร์"แนะจับมือพัฒนาชายแดนใต้... สู้กันไปก็ตายเปล่า
สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26 ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู ซึ่งองค์กรนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2532 เป็น "องค์กรร่ม" ที่รวบรวมนักต่อสู้และผู้เห็นต่างจากรัฐเพื่อปลดปล่อยดินแดนปัตตานีทุกกลุ่มเข้าเจรจากับรัฐบาลไทย
ปัจจุบัน ดร.วันกาเดร์ ในวัย 76 ปี ได้เป็นตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐ บอกเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ได้เคยเคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐไทยมาอย่างยาวนานหลายสิบปี โดยเขาบอกว่าแนวคิดแยกดินแดนหมดสมัยไปแล้ว การใช้ความรุนแรงเข่นฆ่ากันไม่ได้ก่อประโยชน์อะไร นอกจาก “ตายเปล่า” พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลไทยเปิดโต๊ะพูดคุยเจรจาขึ้นในประเทศ เพื่อสร้างสันติสุขชายแดนใต้อย่างแท้จริง
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ถอดเทปสัมภาษณ์ ดร.วันกาเดร์ มานำเสนอให้ได้อ่านกันทุกแง่มุม
O เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ได้อย่างไร?
ผมเริ่มเข้ากับพวกต่อต้านรัฐตอนผมอายุ 19 ปี เพราะผมไปอยู่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ตอนนั้นมีองค์กรต่างๆ ต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐ เราก็มาจากภาคใต้ ก็เป็นอัตโนมัติที่ต้องเข้ากับกลุ่มต่างๆ พอย้ายไปอียิปต์ก็เจอเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ ถามว่าเห็นด้วยไหม ตอนแรกก็ไม่เห็นด้วย คนอย่างผมก็ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มากมาย แต่เราก็จำเป็นต้องเข้ากับเพื่อนที่มาจากสามจังหวัด และเกือบทุกคนเป็นสมาชิกขององค์กร ผมไม่ใช่อยากจะเป็น พอเข้าไปก็โดนชักชวน
O อะไรคือสิ่งที่องค์กรต่อต้านรัฐไทยต้องการ?
เขาก็บอกว่าเราคือปัตตานี เป็นประเทศที่เคยมีอิสรภาพ แล้วตอนนี้ตกอยู่ภายใต้ไทย เราต้องเอากลับคืน อันนี้แหละ แต่ยังไม่พอสำหรับผม เขาบอกว่าศาสนาเราต้องเอาแผ่นดินของมุสลิมกลับคืน เมื่อเอาศาสนามายิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น ผิดหรืถูกอีกเรื่อง แต่เราต้องเข้า ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ ต้องประชุมบ้าง ถ้าเราต้องการความช่วยเหลืออะไร องค์กรนี้จะช่วยเรา
O ถึงจุดไหนที่เราเชื่อองค์กรทั้งหัวใจ?
สิ่งแรกที่เรารู้สึกจริงๆ เป็นประสบการณ์ของผมเอง ตอนอยู่มักกะห์ (ซาอุดิอาระเบีย) เวลาวันชาติไทย ทางกงสุลจะเรียกเราไปฉลองวันชาติของไทย ผมเป็นคนส่วนน้อยที่พูดไทยได้ ทางกงสุลให้ผมช่วยแปลจากไทยเป็นมลายู
วันหนึ่งท่านกงสุลถามผม เพราะผมไปช่วยแปล ถามว่าชื่ออะไร เมื่อตอบว่าชื่อ วันกาเดร์ เจ๊ะมัน ท่านกงสุลชี้หน้าเลย แล้วบอกว่านี่ไม่ใช่คนไทยนะ ผมก็เลยคิดว่า เออ...จริง ตั้งแต่นั้นมาก็คิดว่าเราไม่ใช่คนไทย เคยคิดว่าเราเป็นคนไทย คนไทยไม่เคยทำอะไรผม มีแต่ช่วยผม แต่มาที่ซาอุฯ กงสุลบอกว่าเราไม่ใช่ นี่คือจุดเปลี่ยน
O จุดที่ทำให้กลายเป็นแกนนำเบอร์ซาตู?
ผมเป็นคนที่เรียนสูง และเป็นคนที่ไปอยู่มักกะห์ ไปอยู่อียิปต์ มีเพื่อนที่นั่น ไปอยู่อเมริกาด้วย พอกลับมาเขาก็หาคนที่มีประสบการณ์อย่างนี้ไม่มี เพราะพูดอังกฤษ ไทย มลายู อาหรับได้หมด เขาเลยตั้งเป็นประธาน BIPP (องค์กรต่อสู้องค์กรหนึ่ง) และผมไปเรียกกลุ่มต่างๆ มาประชุมว่าเรามีความคิดไม่เหมือนกันในด้านการตัดสินใจกับฝ่ายไทย เพราะฉะนั้นเราควรจะร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว เลยเป็นเบอร์ซาตู ตั้งผมเป็นประธาน
O แนวคิดของแต่ละองค์กรคืออะไร?
มันก็เหมือนๆ กัน คือเราต้องต่อสู้กับรัฐไทย โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ไปจับคนที่ไม่ผิด เรามองไม่เหมือนกับรัฐไทย ทำให้ขัดใจ รู้สึกไม่ดีที่ไปทำอะไรไม่เหมือนกับที่เรามอง เราเชื่อ คนผิดไปปล่อย คนไม่ผิดไปจับ อันนี้ไม่ได้ ฝ่ายไทยอาจจะรู้ดีกว่าเรา แต่เรามองต่าง
O สรุปแล้วไฟใต้เกิดขึ้นเพราะอะไร ใครทำ?
สิ่งที่เกิดขึ้นบ้านเรา ความไม่สงบเดี๋ยวนี้ไม่ใช่กลุ่มที่ต่อต้านรัฐไทยอย่างเดียว แต่มาจากกลุ่มอื่นด้วย เราจะเหมาว่าความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นพวกแยกดินแดน หรือฝ่ายต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียวก็ไม่ค่อยถูกเท่าไหร่
O กลุ่มที่มีบทบาทเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันคือกลุ่มอะไร?
เดิมมีองค์กรต่อสู้อยู 13 กลุ่ม ปัจจุบันคือกลุ่มที่ 14 เป็นกลุ่มหนั่งที่ไม่มีชื่อ ไม่ได้ตั้งชื่อ ถ้ากลุ่มนี้ทำเขาก็จะไม่ประกาศ เพราะเขาไม่มีชื่อ แต่กลุ่มที่มีชื่อเขาอาจจะประกาศก็ได้ เพราะความจริงแล้วคนที่ทำจริง อยากต่อสู้จริง เขาจะไม่ประกาศ แค่อยากทำเท่านั้น ไม่อยากให้รู้ว่าเป็นใคร เพราะเขากลัว
เพราะฉะนั้น คนที่ทำจริงเขาฉลาดพอ พวกนี้เขาเรียนมาหลายประเทศ มีไอคิวสูงนะพวกที่เป็นประธานกลุ่มต่างๆ เขาทำอะไรทำอย่างดี ส่วนนี้สำคัญ เพราะเวลามีความไม่สงบเกิดขึ้น ฝ่ายหนังสือพิมพ์ เจ้าหน้าที่รัฐจะประกาศว่ากลุ่มนี้ทำ กลุ่มนั้นทำ เราดูแล้วมันไม่ใช่ มันผิดกัน แล้วเป็นหลายครั้ง แล้วฝรั่งมาบ้านเรา พวกสายลับมาเขายังรู้เลย และคิดแบบเดียวกับผม
หมายความว่าสายลับที่มาหาผม เขาเห็นด้วยกับผมว่าใครทำ แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐกลับบอกว่าเป็นคนอื่น ผมคิดว่าไทยนี่แกล้งประกาศเพื่ออะไรบางอย่าง เขาจะยกกลุ่มเดียว ยกชื่อกลุ่มที่เขาอยากให้เป็นคนทำ บางครั้งผมรู้ก่อน เพราะคนทำมาบอก แต่พอรัฐประกาศมา กลับเป็นกลุ่มอื่น
O กลุ่มที่ไม่ประกาศชื่อคือใคร?
คือคนที่ไม่ชอบพวกกลุ่มต่างๆ ก็ออกมาประกาศ เพราะคิดว่าพวกกลุ่มต่างๆ ไม่ดีพอ ไม่ถูกใจเขา ก็ออกมาแล้วมารวมกัน และคิดว่าต้องทำใหม่ ทำจริง ไม่ตั้งชื่อ เพราะมาจากหลายๆ กลุ่ม และไม่อยากให้ใครรู้ เพราะกลัวรัฐบาลรู้ จะได้หาตัวยาก ไม่มีตัวตน ไม่แสดงออก ผมคิดว่าพวกนี้ดีกว่า มีจิตใจสูงกว่ากลุ่มของผม
O กลุ่มไม่มีชื่อนี้คือเบื้องหลังของความไม่สงบหรือเปล่า?
ที่เราทราบคือพวกนี้ทำ พวกนี้เขามีความคิดรุนแรงมากกว่าจึงออกจากกลุ่ม ความคิดรุนแรงนี้ทำให้เขาทำ
O ปัจจุบันการต่อสู้เดินทางมาถึงการเปิดโต๊ะพูดคุย เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่?
พูดคุยมีมานานแล้ว สมัยผมถูกเรียกไปพูดคุยเป็นสิบๆ ครั้ง ไม่เคยได้ผล เพราะเราถูกคล้ายๆ ว่า บังคับให้ไปพูดคุย เราก็ไม่ได้ตั้งใจไปแก้ปัญหา มันฝืนใจ คนที่มากันก็ไม่ใช่อยากแก้ปัญหา แต่โดนบังคับ และมาเพื่อมาดูว่าคนในกลุ่มมีใครมาบ้าง ส่วนใหญ่ที่มาเพราะอยากรู้ว่าใครบ้างที่มาพูดกับคนไทย ดูว่าพูดอย่างไร บางคนก็เป็นสายลับจากทางโน้น เพราะฉะนั้นมันไม่สำเร็จหรอกครับ มันมีมานานแล้ว
O การพูดคุยในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
วันนี้ก็เหมือนถูกบังคับอยู่ดี เพราะเราไปพูดที่มาเลเซีย ใช้ได้ที่ไหน ทื่สำคัญคนจากฝ่ายไทยที่จะไปพูดคุย ต้องให้ฝ่ายเรารู้สึกว่าคนนี้อยากแก้ปัญหาจริงๆ แล้วก็เรียกเรามา เราก็จะไป คนที่ไม่อยากแก้ปัญหาก็ไม่ต้องไป เราต้องไม่ถูกบังคับ แล้วมันก็อยู่อย่างนี้ ทางที่ดีทางหนึ่งคือต้องเปลี่ยน ต้องมาพูดในประเทศไทย พูดในบ้านเรา ปัญหาเราอยู่บ้านเรา แล้วไปพูดต่างประเทศทำไม คนต่างประเทศจะไปรู้เรื่องปัญหาของเราได้อย่างไร
ใครๆ ก็พูดว่าปัญหา 3 จังหวัดเป็นปัญหาภายใน หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าว แต่พอจะแก้ต้องไปต่างประเทศ ข้ามสุไหงโก-ลก (จ.นราธิวาส) ไป คนแก้พูดไทยยังไม่ค่อยได้
ฉะนั้นถ้าเราเปลี่ยนมาพูดกันที่ไทย ไม่นานหรอกคนที่อยู่ต่างประเทศจะกลับมาทันที มาเยี่ยมบ้าน เพราะเขารู้ว่าพวกเรากลับมาได้ หัวหน้ากลับมาได้ ไทยก็ไม่ได้จับ ใครๆ ก็อยากกลับมา นี่เขาไม่กล้ากลับ เพราะเราพูดคุย 20 ปีแล้วที่ต่างประเทศทั้งนั้น ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย สวีเดน เยอรมันก็เคย แต่ก็แก้ไม่ได้
สิ่งแรกเราต้องพูดคุยที่บ้านเรา ที่ประเทศไทย เป็นสิ่งแรกเลย แล้วถ้าเราพูดคุยไปสักปีสองปี ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น คนที่กลับมาไม่โดนจับ ก็จะทำให้คนที่อยู่แถวนี้กลับมากันหมด ทุกคนอยากอยู่กับครอบครัว อยากอยู่กับญาติ ทุกอย่างก็จะจบ
อีกอย่างเราไปคุยกันนอกประเทศ ไปคุยกับคนที่ไม่มีอาวุธแม้แต่กระบอกเดียว แล้วเราไปพูดกับพวกนี้ เราจะแก้ได้อย่างไร เราจะแก้การยิงกัน ระเบิดกัน แล้วไปพูดกับคนที่ไม่มีปืนไม่มีระเบิด แล้วจะแก้อย่างไร นี่คือ common sense เป็นสาเหตุธรรมดา ไปพูดกับคนที่ไม่ได้ทำ แล้วจะแก้อย่างไร
คนที่อยู่ต่างประเทศจะมาสั่งพวกที่มีอาวุธได้อย่างไร เพราะสนามรบอยู่ที่ไทย
O จากประสบการณ์ที่ต่อสู้มา การแบ่งแยกดินแดนเกิดได้จริงหรือไม่?
แบ่งแยกดินแดนเป็นไปไม่ได้ เป็นความฝันที่ผิด ตั้งแต่ผมกลับมา พอมาเห็นสภาพ คิดว่าเราน่าจะสู้เหมือนกัน แต่สู้ด้านพัฒนา ด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่สู้แบบทิ้งระเบิด มันผิด สามจังหวัดนี้เป็นพื้นที่ที่ร่ำรวย แต่เอามาไม่ได้ เพราะทุกคนกลัวหมด
ยิงกันสู้กันไม่มีประโยชน์อะไร แต่มีโทษด้วย เราตายกันเกือบทุกอาทิตย์ เราตายเปล่า ถ้าใครก็ตามที่ดูประวัติศาสตร์ คนที่แยกดินแดน ที่ต่อสู้ ส่วนใหญ่ 5 ปีเท่านั้นจะได้รู้ว่าชนะหรือแพ้ แต่ของเราสู้มาหลายสิบปีแล้ว มีหลายรุ่นมาแล้ว รอบนี้ 10 กว่าปีแล้ว ก่อนหน้านี้อีก แล้วจะสู้ทำไม สู้สิ่งที่เราสู้ไม่ได้ เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่เราต้องร่วมกันทั่วโลก เหมือนกับอาเซียน อียู (สหภาพยุโรป) เพื่อทำงานด้วยกัน ไม่ใช่แยกกัน มันผิดเวลา ผิดสมัย
การต่อสู้เพื่อแยกดินแดนเดี๋ยวนี้ไม่มีทาง ไม่มีใครส่งเสริม ต่อสู้แบบนี้มันผิดสมัย เพราะฉะนั้นเราแยกไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ของโลกเขาอยากให้รวมกัน สมัยเขาแยกกันเราไม่แยก เรายังโง่อยู่ พอเขารวมกันเราก็โง่อีก อยากแยก มันผิดสมัย โง่ทั้งสองสมัย
การพูดคุยเป็นเรื่องดี แต่ต้องพูดเพื่อแก้ปัญหา ต้องพูดกับคนที่ทำ พูดกับคนที่สร้างปัญหา ถ้าเราไม่รู้ว่าใครสร้างปัญหา เราก็ต้องหาให้รู้ก่อนว่าใครกันแน่เป็นตัวการ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แล้วคุยกับคนนั้น
O การพูดคุยกับ มารา ปาตานี มีแนวโน้มสำเร็จหรือไม่?
จริงๆแล้ว ผมพูดไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่ามาราฯนี่มีใครบ้าง แต่ที่เราต้องระวังคือ เราต้องพูดคุยกับคนที่สร้างปัญหา พูดคุยกับคนที่มีปืน ไปพูดคุยกับกลุ่มใดก็ตามที่ไม่ได้มีปืน มันก็แก้ไม่ได้ ผมว่าเสียเวลา
O เมื่อปลายเดือนตุลาคมมีการปักธงที่คล้ายๆ กับของพูโล เป็นกลุ่มใหม่หรือเปล่า?
กลุ่มใหม่มีจริง แต่เราอย่าไปมองเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ พวกนี้มีไม่กี่คน ผมก็ทำได้ แต่เดี๋ยวเขาโกรธ มันไม่มีผลอะไรกับฝ่ายไทย พวกนี้โดยเฉพาะที่อยู่มาเลเซีย เขาไม่มีปืน ท่านต้องพูดคุยกับพวกบันนังสตา ยะหา บาเจาะ ฯลฯ
การพูดคุยมีหลายขั้นหลายตอน แต่อย่าไปคิดว่าคุยแค่กลุ่มเดียวจะแก้ปัญหา ก็เห็นมาหลายปีแล้ว มันต้องเปลี่ยนวิธี มาพูดในบ้านเรา
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26 เอื้อเฟื้อบทสัมภาษณ์
หมายเหตุ : สัมภาษณ์โดย นลิน สิงหพุทธางกูร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26