- Home
- South
- เรื่องเด่น-ภาคใต้
- เสียงครวญจากหนุ่มสาวชายแดนใต้ ปมหนี้ กยศ.ซ้ำเติมความไม่สงบ
เสียงครวญจากหนุ่มสาวชายแดนใต้ ปมหนี้ กยศ.ซ้ำเติมความไม่สงบ
จากกรณีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ฟ้องร้องบังคับลูกหนี้ให้ชำระ "หนี้" ที่กู้ยืมเงินจากกองทุนฯไป แต่ยังไม่ชำระหนี้คืนแม้จบการศึกษาแล้วเกิน 2 ปีแล้วตามกำหนด จนกลายเป็นปัญหาวุ่นวายและส่อเค้าบานปลาย เพราะหลายๆ กรณีอาจเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของผู้กู้และครอบครัวในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดนั้น
"ทีมข่าวอิศรา" ได้นำเสนอแนวคิดของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้สิน กยศ. โดยเสนอให้เปลี่ยนจากการ "ฟ้องร้องบังคับคดี" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้ "มาตรการทางการปกครอง" แทน เนื่องเพราะสภาพปัญหาการค้างชำระหนี้นั้นส่วนใหญ่มาจาก "ผู้กู้และครอบครัว" มีฐานะยากจน เมื่อจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ หรือได้งานทำ แต่รายได้ยังน้อย ไม่พอใช้จ่ายและชำระหนี้
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในบริบทของ "ผู้กู้และครอบครัว" แล้ว พบว่ายังมีประเด็นน่าสนใจอีกหลายประเด็นซึ่งไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ตัวอย่างหนังสือร้องขอความช่วยเหลือจากลูกหนี้ กยศ.ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้เดือดร้อนส่งไปยังหน่วยงานรัฐต่างๆ ทั้งในกรณีที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว และยังไม่ถูกดำเนินคดี คงช่วยสะท้อนสภาพความจริงที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
นางสาวรอมือละห์ (สงวนนามสกุล) จาก จ.นราธิวาส ซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีฟ้องร้องถึงขั้นเตรียมยึดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เขียนในจดหมายตอนหนึ่งว่า ไม่มีเจตนาไม่ชำระหนี้ เพียงแต่ช่วงเวลานี้ยังไม่พร้อม สาเหตุเพราะต้องส่งเสียน้องเรียนหนังสือตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ไม่อยากให้น้องต้องมีหนี้สินเหมือนตัวเอง
นอกจากนี้ยังไม่อยากให้ "ผู้คำประกัน" อายุ 84 ปีต้องมาเดือดร้อน จึงอยากขอความกรุณายืดเวลาชำระหนี้ออกไป และขอความอนุเคราะห์ให้การชำระหนี้ไม่มีดอกเบี้ย
"หากถูกดำเนินคดี คงจะให้น้องหยุดเรียน และคนในครอบครัวคงไม่มีโอกาสศึกษาในระดับชั้นสูงกว่ามัธยมได้อีก ตอนนี้รู้สึกกังวลและเดือดร้อนมาก อยากให้ช่วยแก้ปัญหา ชี้แนะวิธีการที่ทำให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดี และเป็นปัญหาในระยะยาวกับตนเอง คนในครอบครัว และคนอื่นๆ ที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน"
นางนิธิมา (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านจากนราธิวาสอีกรายที่กู้เงินจาก กยศ. เล่าว่า ปัจจุบันทำงานได้เงินเดือนเดือนละ 4,000 บาท มีลูก 2 คน ส่วนสามีทำงานอยู่ที่เดียวกัน ได้เงินเดือน 4,000 บาท เมื่อรวมกันแล้วไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ค่าเลี้ยงดูบุตร และค่านมบุตร
ที่สำคัญต้องดูแลหลานอีก 1 คนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ กยศ.ได้
"เหตุการณ์ความไม่สงบทำให้ต้องเพิ่มรายจ่าย ของกินของใช้แพง เงินเดือนก็จำกัด จึงไม่พอเป็นค่าใช้จ่าย และไม่สามารถเก็บเงินไปจ่ายหนี้ กยศ.ได้ ตอนนี้ถูกฟ้องอยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไร"
เธอบอกว่า เคยถูกเรียกไปคุย แต่ก็เป็นการบอกว่าให้ชำระหนี้เท่านั้นเท่านี้ ไม่ได้รับฟังปัญหาว่าที่จ่ายหนี้ไม่ได้เพราะอะไร
นางนุรกาตีนี (สงวนนามสกุล) ชาว จ.นราธิวาส เป็นลูกหนี้ กยศ.ประมาณ 3 แสนบาท เธอจบการศึกษาเมื่อปี 2549 ปัจจุบันเป็นครูอัตราจ้างโรงเรียนแห่งหนึ่ง ส่วนสามีรับจ้างกรีดยาง
ทั้งสองมีภาระเลี้ยงดูแม่ 1 คน ลูก 2 คน และน้องอีก 1 คน แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้รับหนังสือจากศาลจังหวัดนราธิวาสเกี่ยวกับคดีที่ถูก กยศ.ฟ้อง ทำให้ตกใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร
"อยากให้ช่วยพวกเราด้วย จ่าย 300-500 บาทต่อเดือนก็ยังดี อยากจะจ่าย ไม่ใช่ไม่อยากจ่าย แต่เมื่อจบมาในตอนนั้นสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นที่นราธิวาสอย่างหนัก ไปสมัครงานที่ไหนไม่มีใครรับ ไปสมัครงานที่กรุงเทพฯยังถูกถามว่าเด็กใต้เป็นโจรหรือเปล่า"
ส่วนลูกหนี้ กยศ.ในพื้่นที่ชายแดนภาคใต้ซึ่งยังไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน แม้จะเป็นทหารที่ประจำการในพื้นที่ อย่างทหารหญิงรายหนึ่งจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) เธอเล่าว่า สามีเป็นทหารแล้วถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จึงได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเป็นกรณีพิเศษ เธอมีลูก 2 คน และมีแม่ที่เป็นโรคหัวใจและเบาหวานต้องดูแล
"ดิฉันต้องเป็นผู้นำครอบครัว พยายามประคับประคองครอบครัว แต่ลำพังเงินเดือนแทบไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว ดิฉันติดหนี้ กยศ.ประมาณ 3 แสนบาท มีปัญหาผ่อนชำระ ทำให้มีดอกเบี้ยจำนวนมากในตอนนี้ จึงอยากเรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วย"
เธอบอกว่า กยศ.น่าจะช่วยเหลือด้วยการลดหย่อนดอกเบี้ยในการชำระหนี้ ช่วยยืดเวลาในการชำระ และขออย่าให้มีการฟ้องร้อง
ด้าน นายอนันต์ (สงวนนามสกุล) ชาว จ.ยะลา ปัจจุบันเป็นครูสอนโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง บอกว่า เป็นหนี้ กยศ. ประมาณ 3 แสนบาท ช่วงจบมาตอนแรกยังไม่มีงานทำ จึงไม่มีเงินผ่อนหนี้เงินกู้
ต่อมาเมื่อได้งานทำแล้ว ก็มีหนังสือทวงหนี้ให้ผ่อนชำระ ซึ่งยอดที่ต้องชำระก็เพิ่มขึ้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ภรรยาก็กู้ กยศ.มาเช่นกันแต่ยังไม่มีงานทำ
"เราสองคนอยากชำระหนี้ทั้งหมดโดยการผ่อนชำระ แต่ติดที่ว่าตอนนี้ยอดหนี้ที่จะชำระสูงมาก และต้องจ่ายดอกเบี้ยให้หมดทั้งก้อนก่อน เราไม่มีเงินมากขนาดที่จะไปจ่ายได้ จึงอยากขอให้ช่วยเหลือ"
นอกจากปัญหาความไม่สงบซึ่งส่งผลต่ออาชีพการงานและค่าครองชีพจนกระทบต่อการชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแล้ว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีประเด็น "ศาสนา" เป็นปัญหาทับซ้อนอยู่ด้วย
โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวกับ "ดอกเบี้ย" ซึ่งตามหลักอิสลามนั้นระบุไว้ว่า "ห้ามการมีดอกเบี้ยทุกรูปแบบ"
ดังนั้นเมื่อมีปัญหาชำระหนี้เงินกู้จนถูกฟ้องร้องให้ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย จึงกลายเป็นประเด็นอ่อนไหว ทำให้นโยบายดีๆ ที่รัฐต้องการส่งเสริมสนับสนุนให้คนมีการศึกษา ถูกมองภาพในแง่ลบ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของลูกหนี้ กยศ.กลุ่มหนึ่งในพื้นที่หนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายกลุ่ม หลายพื้นที่ซึ่งเชื่อว่าสภาพปัญหาน่าจะแตกต่างกันออกไป...
หากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบหวังจะแก้ปัญหาดังกล่าว คงต้องเริ่มจากการ "เปิดใจรับฟัง" เสียงลูกหนี้ทั้งหลาย เพื่อให้ทราบต้นสายปลายเหตุที่แท้จริง เพื่อให้การจัดการปัญหาเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม