คสช.บอนไซ ศอ.บต.-ตัดอำนาจประชาชน?
คำสั่งหัวหน้า คสชที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกําหนดอํานาจหน้าที่ของกองอํานวยการ รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นั้น หากพิจารณาอย่างรวบรัดจะพบว่ามีสาระสำคัญอยู่ 2 ประการ
หนึ่ง คือ โละสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ตามกฎหมาย ศอ.บต. แล้วให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาชุดใหม่ที่มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายรัฐแทนทั้งหมด
สอง คือ วางบทบาทให้ กอ.รมน.อยู่เหนือ ศอ.บต. ทั้งๆ ที่โดยกฎหมายของหน่วยงานทั้งสอง คือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (กฎหมาย กอ.รมน.) กับ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (กฎหมาย ศอ.บต.) ออกแบบให้ทั้งสององค์กรมีสถานะเท่าเทียมกัน มีภารกิจรับผิดชอบงานด้านความมั่นคง และอำนวยความเป็นธรรมกับการพัฒนาควบคู่สอดประสานกันไป
คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 จึงเรียกได้ว่าขัดหรือแย้งกับกฎหมายเดิมที่มีมา แต่ด้วยอำนาจในฐานะ “รัฏฐาธิปัตย์” ของ คสช. จึงย่อมสั่งการอะไรก็ได้ ต้องการอะไรก็เป็นไปตามนั้น
หลังคำสั่งออกมามีทัศนะจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งผู้บริหารหน่วยงาน ศอ.บต. และประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการของ ศอ.บต.
"ภาณุ" ยันไม่มียุบ ศอ.บต.
นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา ในรายการ “เลขาธิการ ศอ.บต.พบประชาชน” เมื่อวันอังคารที่ 5 เม.ย.59 อธิบายคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ออกมา
“มีหลายคนโทรศัพท์มาสอบถามเรื่องนี้ ก็ได้ยืนยันว่าไม่ได้มีการยุบหรือเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย” นายภาณุ ระบุตอนหนึ่ง
เขาอธิบายต่อว่า ศอ.บต.ยุคนี้เป็นยุคที่มีผลงาน เดินตามแนวนโยบายรัฐบาล ผลงานที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ศอ.บต.กับพี่น้องประชาชนมีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการศึกษา ผลการสอบโอเน็ตดีกว่าทุกปี, เรื่องเศรษฐกิจ การว่างงานลดลง ขณะที่ร้านค้าและกิจการต่างๆ เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้น ตรงนี้คือความร่วมมือของประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ.บต. ทำให้ปรากฏผลงาน อย่างนี้ก็คงไม่ได้ยุบ
สาระสำคัญของคำสั่งคือ การเปลี่ยนแปลงจากเดิม เรามีสภาที่ปรึกษา ศอ.บต. จำนวน 49 คน ตอนนี้เปลี่ยนจากสภาที่ปรึกษาฯ เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกรรมการ 60 คน โดยคณะกรรมการชุดนี้มาจากการหารือกันของเลขาธิการ ศอ.บต. กับแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 จำนวน 45 คน
อีกส่วนหนึ่งมาจากผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด จังหวัดละ 2 คน เป็น 10 คน ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน รวมแล้วมี 60 คน คนเหล่านี้ก็จะมาเลือกประธาน รองประธาน และเลขานุการ มีอายุการทำงาน 2 ปี และมีการยกเลิกบทบาทหน้าที่สภาที่ปรึกษาฯเดิมไป งดใช้ภารกิจเดิมที่เป็นของสภาที่ปรึกษาฯ เพราะไม่มีสภาที่ปรึกษาฯแล้ว
คำสั่งใหม่จะทำให้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง ศอ.บต.กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทำให้เราดำเนินการทุกอย่างอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อยากให้ประชาชนสบายใจและได้ทำงานร่วมกันต่อไป
ชาวบ้านค้าน กอ.รมน.คุม
ด้านความเห็นของคนในพื้นที่ มีทัศนะที่น่าสนใจจากพี่น้องไทยพุทธ เขาบอกว่า ไม่เห็นด้วยอย่างมากกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 เพราะทุกวันนี้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ก็เข้าถึง ศอ.บต.ยากอยู่แล้ว ในฐานะที่เป็นหน่วยราชการ พอมีคำสั่งออกมาแบบนี้ ศอ.บต.ก็ตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องขึ้นกับทหาร
“อยากให้ ศอ.บต.ทำงานเป็นเอกเทศ เหมือนที่เคยเป็นมา เพื่อดูแลเรื่องความยุติธรรมให้กับชาวบ้าน ซึ่งเป็นจุดแข็งของ ศอ.บต. และถ่วงดุลกับหน่วยงานรัฐหน่วยอื่น แต่ถ้าต้องไปขึ้นกับทหาร (กอ.รมน.) เวลาทำงานก็คงอึดอัด เพราะทหารชอบตีกรอบให้ประชาชน การทำงานของทหารมีลักษณะสั่งการ เหมือนการสั่งลูกน้อง ไม่ค่อยอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชน” ตัวแทนชาวบ้านไทยพุทธ กล่าว
ขณะที่ชาวบ้านมุสลิมอีกรายหนึ่ง ขอสงวนนาม บอกว่า การที่ทุกคนเงียบไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วย แต่เพราะกลัวที่จะพูด เมื่อพูดก็จะถูกหาว่าหัวรุนแรง แล้วก็พาไปปรับทัศนคติ
ตัวแทนภาคประชาชนรายหนึ่งที่ทำงานกับ ศอ.บต. กล่าวว่า ทำงานในพื้นที่มานานกว่า 10 ปี ที่ผ่านมาก็ทำงานปกติ แต่เมื่อ กอ.รมน.เข้ามามีอำนาจ ก็ทำให้ภาคประชาชนเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น หลายๆ ครั้งที่จัดกิจกรรมและมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาร่วมหรือสังเกตการณ์ ทำให้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกไม่สบายใจ
ตัดอำนาจประชาชน
สำหรับสาเหตุที่สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกยุบเลิกไป มีความสำคัญกับนโยบายและการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ก็เพราะกฎหมาย ศอ.บต.กำหนดให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 49 คน มีที่มาจากการเลือกกันเองของภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดละ 1 คน, ผู้แทนกำนันและผู้ใหญ่บ้านจังหวัดละหนึ่งคน, ผู้แทนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและอิหม่ามประจำมัสยิดจังหวัดละหนึ่งคน ผู้แทนเจ้าอาวาสในพระพุทธศาสนาจังหวัดละหนึ่งคน และผู้แทนศาสนาอื่นจำนวนหนึ่งคน
ผู้แทนผู้ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดละหนึ่งคน, ผู้แทนผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติจังหวัดละหนึ่งคน ผู้แทนสถาบันศึกษาปอเนาะตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะจำนวนหนึ่งคน และผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจำนวนหนึ่งคน, ผู้แทนกลุ่มสตรีจังหวัดละหนึ่งคน, ผู้แทนหอการค้าจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน, ผู้แทนสื่อมวลชน จำนวนหนึ่งคน, ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ จำนวนไม่เกิน 5 คน
นี่จึงทำให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ สะท้อนความเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชน และยึดโยงกับพื้นที่อย่างชัดแจ้ง
นอกจากนั้น สภาที่ปรึกษาฯ ยังมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ เช่น ให้ความเห็นในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.จัดทำ หรือปรับปรุงเพื่อเสนอ สมช.
ให้ความเห็นในเรื่องที่นายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการเห็นว่าสมควรได้รับฟังความคิดเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ และเสนอความเห็นต่อเลขาฯ ศอ.บต. เพื่อประกอบการพิจารณาในการสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนออกไปจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงพิจารณาเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่เกี่ยวกับปัญหาความไม่เป็นธรรมหรือได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
การยุบเลิกหรือโละสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งมีฐานมาจากตัวแทนประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเท่ากับเป็นการตัดอำนาจประชาชน แล้วดึงกลับไปให้รัฐ โดยเฉพาะกอ.รมน.และผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ต่างกับอีกหลายๆ คำสั่งของ คสช.ที่ออกมาก่อนหน้านี้...
กระทั่งถูกวิจารณ์ว่าย้อนยุคและตัดอำนาจประชาชน!