อนาคตพูดคุยสันติภาพ (2) จับตา กอ.รมน. ผงาดหลังทหารยึดอำนาจ-เด้ง"ทวี"
การเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 พ.ค.2557 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย
โดยเฉพาะการสั่งย้ายข้าราชการระดับคีย์แมนที่อยู่ในกระบวนการพูดคุย ทั้ง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยังไม่นับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ต้องถูกย้ายไปก่อนหน้านี้เพราะคำสั่งศาลปกครอง เพื่อคืนตำแหน่งให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี
ทั้งหมดนี้ทำให้คาดหมายได้ว่าการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น ในรูปแบบที่ทำมาตลอด 1 ปีนั้น น่าจะต้องถึงคราว "ยุติลง"
ทางขรุขระของการพูดคุย
หลายคนถามหาอนาคตของกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ตั้งแต่นัดพบปะกันครั้งสุดท้ายเมื่อ 13 มิ.ย.2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แต่ดูเหมือนยิ่งถาม ยิ่งหาไม่เจอ
เพราะหลังจาก 13 มิ.ย.ปีที่แล้วก็ไม่มีการนัดพบกันอีกเลย แม้ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ส่งคำอธิบายข้อเรียกร้อง 5 ข้อมายัง พล.ท.ภราดร เลขาธิการ สมช.ในขณะนั้น ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายรัฐบาลไทย และ ดาโต๊ะ สรี อะห์มัด ซัมซามิน ฮาชิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย ได้เดินทางเข้า-ออกประเทศไทยหลายครั้ง เพื่อล็อบบี้ให้กระบวนการเดินหน้าต่อไป
ความพยายามนัดหมายครั้งใหม่มีความเป็นไปได้มากที่สุดช่วงเดือน ต.ค.2556 แต่ก็ติดเงื่อนไขของวาระครบรอบ 9 ปีเหตุการณ์ตากใบ วันที่ 25 ต.ค. ทำให้กำหนดการถูกเลื่อนออกไปอีก
กระทั่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเผชิญปัญหาทางการเมืองจากการผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบสุดซอย (มีแนวโน้มนิรโทษกรรมครอบคลุมถึงหลายๆ กรณีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย) จน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องประกาศยุบสภา ทำให้กระบวนการพูดคุยต้อง "พักยาว"
ข้างฝ่ายบีอาร์เอ็นก็มีปัญหาไม่แพ้กัน เพราะเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2556 นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ YouTube ยืนยันหลักการให้ไทยยอมรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อก่อน จึงจะเดินหน้าการพูดคุยต่อไป พร้อมส่งสัญญาณเล็กๆ ว่าตัวเองอาจไม่ได้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยอีกต่อไปแล้ว
ต่อมาได้มีแถลงการณ์อ้างว่าเป็นของขบวนการบีอาร์เอ็น เนื้อหาเป็นภาษาไทย ความยาว 1 หน้ากระดาษเศษ ระบุว่า การพูดคุยสันติภาพจะไม่เกิดขึ้นหากข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อที่บีอาร์เอ็นเสนอไม่ได้รับการยอมรับโดยผ่านมติจากรัฐสภาไทย และบีอาร์เอ็นก็จะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพอีก
ท่าทีที่สื่อออกมาทั้ง 2 กรณี ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพในช่องทางนี้คงยุติลงอย่างถาวรแล้ว...
"ซัมซามิน"ฉุน"อกนิษฐ์"เตะตัดขา
อย่างไรก็ดี ดาโต๊ะซัมซามิน ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ได้เดินสายจัดกิจกรรมและแถลงข่าวหลายรอบช่วงปลายเดือน ก.พ.2557 ในวาระครบรอบ 1 ปีการลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยระหว่าง พล.ท.ภราดร กับ นายฮัสซัน เมื่อ 28 ก.พ.2556 และยืนยันว่าวงพูดคุยยังไม่เลิกหรือล้มตามที่หลายฝ่ายวิจารณ์ แต่ยังพร้อมเดินหน้าต่อไปเมื่อรัฐบาลไทยมีความพร้อม (สะสางปัญหาการเมืองภายในได้สำเร็จ) โดยจะดึงกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่นเข้าร่วมพูดคุยด้วย
แต่ท่ามกลางการสร้างบรรยากาศให้เห็นว่ากระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกยังคงเดินหน้าต่อได้นั้น ปรากฏว่ามีความเคลื่อนไหวของ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ นายทหารนอกราชการที่เคยมีบทบาทการพูดคุยสันติภาพกับโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) จนกระทั่งยอมวางอาวุธ นำเสนอข้อมูลอีกด้านว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ทำมา 1 ปีนั้นมีปัญหามากมาย และไม่ประสบความสำเร็จ
พล.อ.อกนิษฐ์ ยังได้นำเสนอบทเรียน 8 ข้อของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไม่พร้อม ขาดความรู้ และไม่ตั้งใจจริงในการดำเนินกระบวนการ โดยเฉพาะฝ่ายตัวแทนรัฐบาลไทย ทั้งยังวิจารณ์บทบาทของมาเลเซียอย่างรุนแรงว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงในการผลักดันให้เกิดกระบวนการพูดคุยทั้งๆ ที่ไม่มีความพร้อมอย่างแท้จริง
คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อกนิษฐ์ ต้องถือว่ามีน้ำหนัก เพราะไม่เพียงเขามีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เท่านั้น แต่ยังเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) รุ่นเดียวกันด้วย
ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ฝ่ายกองทัพยังได้เดินสายเปิดตัว ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานขบวนการเบอร์ซาตู ขึ้นพูดบนเวทีต่างๆ หลายเวที โดยมีเนื้อหาสาระคล้ายๆ กันเป็นการชี้จุดอ่อนของกระบวนการสันติภาพที่มีมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ พร้อมฟันธงว่าบุคคลที่ทางการมาเลเซียนำมาขึ้นโต๊ะพูดคุยนั้น ไม่ใช่ตัวจริงที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่
จากการขับเคลื่อนอย่างสอดประสานกันดังกล่าว ทำให้กระบวนการพูดคุยถูกลดทอนความน่าเชื่อถืออย่างหนัก ส่งผลให้ ดาโต๊ะซัมซามิน ถึงกับเปรยกับเจ้าหน้าที่ไทยที่ไปร่วมสังเกตการณ์เวทีสัมนา 1 ปีกระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อภาคใต้ (ของไทย) ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอูตูรา รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อต้นเดือน เม.ย.2557 ว่า "ข่าวจากอดีตนายทหารไทยบางคนที่วิจารณ์กระบวนการพูดคุยสันติภาพ เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่รู้จริง"
อดีตนายทหารไทยผู้นั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ พล.อ.อกนิษฐ์!
ประเด็นที่ ดาโต๊ะซัมซามิน หยิบขึ้นมาเป็นตัวอย่างของ "ความไม่รู้จริง" ในมุมมองของเขาก็คือ การที่ พล.อ.อกนิษฐ์ ระบุถึงจุดบกพร่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ 1 ใน 8 ข้อว่า ไม่มีการรับประทานอาหารร่วมกันระหว่างตัวแทนคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ทำให้ความไว้วางใจเกิดยาก (อ่านรายละเอียดใน ดูฟิลิปปินส์แล้วย้อนมองไทย "อกนิษฐ์"สรุปบทเรียน 1 ปีพูดคุยสันติภาพใต้ http://www.isranews.org/south-news/special-talk/item/28215-oneyear.html ) ซึ่ง ดาโต๊ะซัมซามิน ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะมีการรับประทานอาหารร่วมกันตลอด
อย่างไรก็ดี จากการสอบถาม พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้เชี่ยวชาญโครงสร้างองค์กรบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายรัฐบาล ได้รับคำตอบว่า มีการรับประทานอาหารร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับบีอาร์เอ็นในการพบปะกันทุกครั้ง และมีการพูดคุยนอกรอบกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าข้อสังเกตอื่นๆ อีก 7 ข้อของ พล.อ.อกนิษฐ์ จะผิดพลาดเหมือนข้อนี้
"พี่อกนิษฐ์แกก็พูดถูกทั้งหมด ข้ออื่นๆ จริงหมด ยกเว้นเรื่องที่ว่าไม่ได้กินข้าวด้วยกัน" พล.อ.สำเร็จ กล่าว
กอ.รมน.รุกคุมเบ็ดเสร็จ
ยิ่งรัฐบาลรักษาการพรรคเพื่อไทยมีปัญหารุมเร้าทางการเมืองมากเท่าไหร่ ดูเหมือนทหาร โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะเริ่มรุกคืบเข้ากำหนดทิศทางการพูดคุยสันติภาพมากขึ้นเพียงนั้น
สอดรับกับข้อเสนอของ พล.อ.อกนิษฐ์ ที่ว่าควรจัดรูปองค์กรที่รับผิดชอบกระบวนการพูดคุยเสียใหม่ หรือมอบหมายให้ กอ.รมน.รับผิดชอบไปทั้งหมด เพื่อให้การพูดคุยมีความต่อเนื่อง ไม่วูบไหวไปตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ขณะที่ นายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งเพิ่งหวนคืนเก้าอี้เลขาธิการ สมช. ก็ระบุว่าจะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยต่อไป แต่ต้องทำหลายระดับ หลายวง และต้องระดมศักยภาพจากทุกหน่วยงาน รวมทั้ง กอ.รมน.
ที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ทำเรื่องนี้มาอย่างเงียบๆ โดยเฉพาะการเปิดเวที "นานาทัศนะสู่ฝันสันติสุข" ตระเวนไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังและสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งเป็นกลไกที่ยังขาดอยู่ในกระบวนการขับเคลื่อนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งในระดับนโยบาย และระดับองค์กรภาคประชาสังคม มีคณะทำงานดำเนินการอยู่แล้ว (ช่วงก่อนการยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557 ยังมีการนัดหมายพบปะระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ กับตัวแทนหน่วยงานรัฐที่มีความเป็นอิสระหน่วยงานหนึ่งที่ยุโรป) ทั้งนี้เพื่อสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง
กระทั่งเมื่อปลายเดือน เม.ย.2557 มีการประชุมสภากลาโหม ซึ่งขณะนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังมีสถานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอยู่ ประเด็นการผลักดันให้ กอ.รมน.เป็น "เจ้าภาพ" ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพแทนคณะเดิมที่นำโดย พล.ท.ภราดร และ สมช.ก็เริ่มมองเห็นเป็นรูปธรรม
โดยระหว่างการหารือนอกรอบระหว่างนางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะ ผอ.รมน. กับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะรอง ผอ.รมน. พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอว่าอยากให้พิจารณาผู้เข้าร่วมคณะพูดคุยใหม่ โดยให้เป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจและมีอิทธิพลต่อการสั่งการของผู้ก่อความรุนแรงในพื้นที่จริงๆ เพราะในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาแกนนำและโครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร
แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ยอมรับว่า ในช่วงรัฐบาลรักษาการพรรคเพื่อไทย ได้เสนอไปยังรัฐบาลให้ กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพจัดกระบวนการพูดคุยสันติภาพจริง เพราะ กอ.รมน.เป็นองค์กรที่มีความพร้อมในเรื่องนี้มากที่สุด และมีองค์ความรู้ มีบุคลากร ทั้งยังเป็นหน่วยงานกลางที่ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และอื่นๆ
"เรื่องนี้ต้องเดินหน้าต่อแน่ เพราะเราได้ส่งสัญญาณไปยังกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มต่างๆ แล้วด้วยว่าโอเคไหมหาก กอ.รมน.จะมาทำเรื่องนี้เอง ปรากฏว่าทุกกลุ่มตอบรับด้วยดี เพราะเชื่อว่าจะมีความต่อเนื่องมากกว่าการใช้คณะทำงานเฉพาะกิจที่รัฐบาลตั้งขึ้น และมักต้องสลายตัวไปหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง" แหล่งข่าวใน กอ.รมน.ระบุ
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ และเมื่อมีการยึดอำนาจการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานด้วยแล้ว ย่อมเป็นตัวเร่งให้ กอ.รมน.รุกเข้ายึดกุมกระบวนการพูดคุยอย่างเบ็ดเสร็จเร็วขึ้น...
เมื่อใดที่สถานการณ์นิ่ง เมื่อนั้นคงได้เห็นการพูดคุยสันติภาพในสไตล์ทหาร!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ตราสัญลักษณ์ภาษาอังกฤษของ กอ.รมน.