ย้อนมติมหาเถรฯวางกฎเหล็กโรงเรียนในที่สงฆ์ ชี้ขาดปม"มุสลิมสันติ-วัดหนองจอก"
ประเด็น "ฮิญาบอนุบาลปัตตานี" หรือการเรียกร้องขอสิทธิ์แต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามของผู้ปกครองนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนรัฐบาล ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ซึ่งกำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้
แต่ประเด็นคล้ายๆ กัน เคยเกิดขึ้นมาแล้วแม้แต่โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศ โดยเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตวัด หรือ "ที่ธรณีสงฆ์" เช่นเดียวกัน และยังเป็นที่มาของมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 2/2554 ที่กลุ่มผู้ปกครองชาวพุทธ ตลอดจนสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนอนุบาลปัตตานี นำมาอ้างถึงด้วย
เป็นมติที่รับรองให้โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตวัด หรือ "ที่ธรณีสงฆ์" รักษากฎระเบียบบนครรลอง "วิถีพุทธ" ได้อย่างเหนียวแน่น
ที่น่าแปลก...หรืออาจจะมองเป็นความบังเอิญก็ได้ นั่นก็คือ กลุ่มที่เรียกร้องเรื่องนี้ ใช้ชื่อว่า "กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ" ซึ่งคล้ายคลึงหรืออาจเป็นกลุ่มเดียวกันกับ "มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ" ที่อยู่เบื้องหลังสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือด้านคำปรึกษา ตลอดจนข้อกฎหมายกับผู้ปกครองนักเรียนมุสลิมที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี
เกิดอะไรขึ้นเมื่อปี 54 จนนำมาสู่มติมหาเถรสมาคมที่ใช้อ้างอิงกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ "ทีมข่าวอิศรา" สืบค้นข้อมูลมาสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
ความเป็นมา...
มติมหาเถรสมาคมครั้งที่ 2/2554 เป็นมติที่ 46/2554 เรื่อง "รายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก" ประชุมและมีมติเมื่อวันที่ 20 ม.ค.54 อ้างถึงหนังสือของอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนา สภาผู้แทนราษฎร ที่ได้รับ "ลิขิต" (จดหมาย) จากวัดหนองจอก กรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับปัญหาของโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก
ปัญหาที่ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 53 กล่าวคือ
- 1 มิ.ย. กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นหนังสือขอให้นักเรียนหญิงจำนวน 17 คน ซึ่งศึกษาอยู่ที่โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก แต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม คลุมผ้าฮิญาบมาโรงเรียน
- 11 มิ.ย. ทางโรงเรียนตอบหนังสือกลับไปว่า ไม่สามารถอนุญาตได้ตามระเบียบของโรงเรียน วัฒนธรรมโรงเรียน และความเหมาะสม เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ในที่ของวัด
- 29 ต.ค. กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ ได้ยื่นหนังสือขอให้นักเรียนหญิงแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามอีกครั้ง โดยอ้างหลักศาสนา สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (น่าจะหมายถึงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ; ความเห็นของกองบรรณาธิการ) ซึ่งโรงเรียนได้รับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการ ยังไม่มีการวินิจฉัย
- 2 พ.ย. นักเรียนหญิงชั้น ม.5 จำนวน 2 คน ซึ่งศึกษาในโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกมาตั้งแต่ ม.1 ได้แต่งกายตามหลักศาสนา ด้วยการคลุมผ้าฮิญาบมาโรงเรียน ซึ่งทางโรงเรียนได้ขอให้นักเรียนแต่งกายปกติตามระเบียบของโรงเรียนไปก่อน ระหว่างรอการพิจารณา
- 5 พ.ย. โรงเรียนได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 (สพม.2) เพื่อขอทราบแนวปฏิบัติ
- 12 พ.ย. ทาง สพม.2 ได้ตอบข้อหารือของทางโรงเรียน โดยให้โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (ก.สถ.พฐ.) ของโรงเรียน เพื่อดำเนินการต่อไป
- 27 พ.ย. โรงเรียนได้เชิญคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ "ยกคำขอ" หมายความว่า นักเรียนทั้ง 17 คนต้องแต่งกายตามระเบียบของโรงเรียน โดยมีเหตุผลประกอบ คือ ระเบียบของโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรมของโรงเรียนวัดหนองจอก ที่เข้าเรียนและจบไปแล้ว 57 รุ่น หรือ 57 ปี ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียนมาตลอด ขณะเดียวกันก็ได้แจ้งสิทธิ์อุทธรณ์ไปยังนักเรียนทั้ง 17 คน
อย่างไรก็ดี ในส่วนของคำสั่งเจ้าอาวาสวัดหนองจอก ที่สั่งให้ทั้งครูและนักเรียนไม่ต้องแต่งกายแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนานั้น พิจารณาแล้วเห็นว่ากระทบสิทธิ์ของครู ซึ่งต่างจากนักเรียนที่มีกฎระเบียบอยู่แล้วชัดเจน
สิทธิ์ของวัดบนที่ธรณีสงฆ์
หลังได้ข้อสรุป ปรากฏว่ามีการนำปัญหานี้ไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ และเผยแพร่ในเว็บไซต์ข่าวบางแห่ง อ้างว่าผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก บริหารจัดการไม่เด็ดขาด ทำให้ภายในโรงเรียนแตกความสามัคคี ครูพุทธกับครูมุสลิมแบ่งเป็นฝักฝ่าย ไม่สอนนักเรียนเหมือนเดิม เพราะมีนักเรียนหญิง 2 คนคลุมฮิญาบไปโรงเรียน อ้างว่ากฎหมายให้สิทธิและเสรีภาพกับทุกคน
เหตุนี้เองที่ทำให้เจ้าอาวาสวัดหนองจอกมีลิขิตไปถึงอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนาฯ และอนุกรรมาธิการได้ลงพื้นที่วัดหนองจอกเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. เพื่อหารือกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยท่าทีของฝ่ายเจ้าอาวาสวัดหนองจอก เห็นว่าการอ้างสิทธิ์การแต่งกายตามหลักศาสนาของชาวมุสลิม โดยทนายความกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ โดยอ้างกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ทางวัดถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ของวัด ซึ่งชุมชนวัดหนองจอกอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยมาเป็นเวลาช้านาน การอ้างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และการกล่าวหาว่าวัดหนองจอกก้าวก่ายงานของโรงเรียน เป็นการกล่าวที่ไม่สมควร
ขณะที่อนุกรรมาธิการฯท่านหนึ่ง ซึ่งเคยรับราชการอยู่ที่กรมการศาสนา (สมัยนั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ) ให้ข้อมูลว่า ราวปี 40 เคยมีหนังสือจากสำนักเขตบางกะปิ อ้างถึงหนังสือร้องเรียนของ นายสามารถ มะลูลีม ส.ส.กรุงเทพมหานคร อ้างนโยบายกระทรวงศึกษาธิการว่า โรงเรียนใดมีนักเรียนผู้นับถือศาสนาอิสลาม จะต้องจัดห้องละหมาดให้ด้วย แต่เจ้าอาวาสวัดเทพลีลาไม่อนุญาต เพราะโรงเรียนตั้งอยู่ในวัดทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงขอให้กรมการศาสนา ดำเนินการขอให้วัดปฏิบัติตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการด้วย
แต่กรมการศาสนาพิจารณาแล้วเห็นว่า กรมการศาสนาไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการใดๆ ได้ เพราะวัดเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนวัด และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินการใดๆ ในเขตวัด หรือใน "ที่ธรณีสงฆ์" ของวัด เป็นอำนาจของเจ้าอาวาส ซึ่งต้องปฏิบัติไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย และจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติมา จึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานเขตบางกะปิ แล้วเรื่องก็เงียบหายไป
มติมหาเถรฯ : แนวปฏิบัติโรงเรียนในเขตวัด
จากการลงพื้นที่ของอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนาฯ ได้สรุปรายงานเสนอมหาเถรสมาคมเป็น "ข้อพิจารณา" ระบุว่า เนื่องจากการอ้างสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องยึดถือการปฏิบัติตามหน้าที่ของคนไทยตามรัฐธรรมนูญด้วย โดยการปฏิบัติตามหลักศาสนา ลัทธิทางศาสนา และความเชื่อของตน สามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงาม ตลอดถึงไม่กระทบสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย ซึ่งมีกรณีตัวอย่างของวัดเทพลีลาที่ไม่อนุญาตให้โรงเรียนมัธยมวัดเทพลีลาจัดห้องละหมาดในเขตวัดเทพลีลามาแล้ว
คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้มีความสำคัญในการให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา กรณีการแก้ไขปัญหาวัดหนองจอก ได้เสนอให้คณะสงฆ์วัดหนองจอกดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และให้โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก คณะครู กรรมการสถานศึกษา ได้ถือปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามถือว่ามีความผิดและละเมิดสิทธิ์ของวัดในฐานะที่เป็นนิติบุคคล
นอกจากนั้นคณะอนุกรรมาธิการฯ ยังได้เสนอแนวปฏิบัติ 4 ข้อต่อมหาเถรสมาคม ได้แก่
1.โรงเรียนหรือหน่วยราชการใดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ การใช้พื้นที่ต้องปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี วิถีไทย และวิถีพุทธ และกฎระเบียบของวัด
2.ให้คณะสงฆ์มีส่วนร่วมในการพิจารณาการแต่งตั้งผู้บริหารของโรงเรียน หรือหน่วยราชการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์
3.ควรให้พระสงฆ์เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา หลักคุณธรรม จริยธรรมทุกระดับชั้น
4.โรงเรียนหรือหน่วยราชการใดขอใช้พื้นที่ของวัดหรือที่ธรณีสงฆ์ จักต้องหารือและได้รับความยินยอมจากเจ้าอาวาส และคณะสงฆ์ผู้ปกครองทุกระดับจนถึงเจ้าคณะจังหวัดก่อน
ที่ประชุมมหาเถรสมาคมพิจารณาแนวปฏิบัติทั้ง 4 ข้อแล้ว ลงมติเห็นชอบ
และทั้งหมดนี้คือที่มาที่ไปของมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 2/2554 ยืนยันสิทธิ์ของวัดที่เป็น "นิติบุคคล" ที่มีต่อโรงเรียนและหน่วยงานราชการที่ปลูกสร้างบนที่ดินวัดหรือที่ธรณีสงฆ์
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ตราสัญลักษณ์ของมหาเถรสมาคม (ภาพจากเว็บไซต์)
2 โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก (ขอบคุณ : ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
อ่านประกอบ :
เหตุเกิดที่อนุบาลปัตตานี นักเรียนที่นี่ห้ามสวมฮิญาบ?
ปมฮิญาบบานปลาย! "บาบอแม" ลาออกพ้น กก.สถานศึกษาอนุบาลปัตตานี
พหุวัฒนธรรมมีจริงไหม? "อังคณา"จี้ทุกฝ่ายหันหน้าพูดคุยแก้ปม"ฮิญาบ"
ต้องจบก่อนวันจันทร์! ผู้แทนพิเศษฯสั่งเลขาฯสพฐ.แก้ปมฮิญาบ
ศธ.ไฟเขียวนักเรียนมุสลิมอนุบาลปัตตานีแต่งกายตามหลักศาสนา
"เป็นระเบียบ-เท่าเทียม" เหตุผลคนค้านอนุบาลปัตตานีเปลี่ยนเครื่องแบบ นร.มุสลิม
"พระ-ชาวบ้าน"ขีดเส้นศุกร์นี้ นร.อนุบาลปัตตานีต้องแต่งเครื่องแบบตามกฎโรงเรียน
เปิดเอกสาร "เจ้าคณะปัตตานี" ชี้แจงปมฮิญาบโรงเรียนอนุบาลฯ
ปมฮิญาบ "อนุบาลปัตตานี" ยังไม่จบ แม้ผู้ว่าฯนำถกหาทางออก
ตร.เร่งหาตัวเจ้าของเพจขู่ทำร้ายพระ - พบมุสลิมก็ร่วมบริจาคที่ดินอนุบาลปัตตานี
เปิดชัดๆ ระเบียบ ศธ.หลังสมาคมผู้ปกครองฯอนุบาลปัตตานีชงแก้-ปิดช่องสวมฮิญาบ
รอง ศธ.ปัตตานีโต้ข่าวกดดันเด็กมุสลิมปมฮิญาบ ผู้ปกครองแห่ร้องบาบอแม
"คอรีเยาะ" เสนอทางออกปมฮิญาบ แนะนักเรียนมุสลิม "ถอยเพื่อสง่างาม"
"นิมุ" แนะจัดสานเสวนายุติปมปัญหาฮิญาบ ละวางความรู้สึก "แพ้-ชนะ"
ป้ายต้านฮิญาบโผล่หน้าอนุบาลปัตตานี แม่ทัพ4 ปรามห้ามชุมนุม ชี้มีคนปั่นกระแส