- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- พหุวัฒนธรรมมีจริงไหม? "อังคณา"จี้ทุกฝ่ายหันหน้าพูดคุยแก้ปม"ฮิญาบ"
พหุวัฒนธรรมมีจริงไหม? "อังคณา"จี้ทุกฝ่ายหันหน้าพูดคุยแก้ปม"ฮิญาบ"
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เขียนเฟสบุ๊คแสดงความกังวลกับความเห็นต่างกรณีการคลุมฮิญาบของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เรียกร้องทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น หันหน้าพูดคุยกัน ไม่เห็นด้วยแจ้งความ-ฟ้องร้อง เพราะกฎหมายแก้ไขเรื่องแบบนี้ไม่ได้ ต้องอาศัยความเข้าใจเท่านั้น
ข้อความในเฟสบุ๊คของอังคณา ระบุว่า "ติดตามเรื่องราวกรณีการเรียกร้องการคลุมฮิญาบของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลปัตตานีด้วยความกังวลใจอย่างที่สุด เรื่องความขัดแย้งหรือความเห็นต่างในเรื่องการปฏิบัติตามหลักการศาสนา หรือความเชื่อเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญและร่วมแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของความอดทนและความเข้าอกเข้าใจ
ล่าสุดข่าวประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในฐานะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนอนุบาลปัตตานี แถลงข่าวลาออกจากเป็นกรรมการของโรงเรียนฯ ร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ด้วยเหตุผลเนื่องจากมติที่ประชุมกรรมการสถานศึกษา ไม่เห็นชอบให้นักเรียนแต่งกายตามหลักศาสนา
การแถลงข่าวลาออกของประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี พร้อมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฯถือเป็นเรื่องใหญ่ และอาจเหมือนเป็นการประกาศไม่ร่วมวงเจรจากันอีก ทั้งที่จริงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความอดทน อดกลั้น ทุกฝ่ายต้องใจกว้าง โดยใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจ
นักสิทธิมนุษยชนและนักสันติวิธีบางคนเรียกร้องให้ใช้กระบวนการทางศาล เรื่องระเบียบโรงเรียนขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวขอยืนยันว่าการใช้หลักนิติศาสตร์เพียงลำพังไม่สามารถแก้ปัญหาความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ได้ หนำซ้ำยังอาจทำให้เกิดการปะทะทางความคิดมากขึ้น ซึ่งจะไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งใดๆได้ เรื่องนี้จึงควรใช้หลักรัฐศาสตร์ในการเจรจาประนีประนอม โดยยึดเอาผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
โดยในระยะต้นทุกฝ่ายควรหันหน้าพูดคุยกันเพื่อให้เด็กมีโอกาสได้เรียนหนังสือตามปกติ โดยไม่ถูกรังเกียจจากเพื่อนและครู ส่วนในระยะยาวคงต้องหันหน้ามาพูดคุยกันถึงแนวทางในการแก้ปัญหา การยื่นคำขาดโดยการให้เด็กไปเรียนโรงเรียนอื่นที่สามารถคลุมฮิญาบได้ หรือการพยายามผลักดันให้เด็กสวมฮิญาบเข้าไปในโรงเรียนทั้งที่โรงเรียนไม่ต้อนรับ ย่อมเป็นการสร้างความกดดันต่อตัวเด็ก และยังอาจสร้างประสบการณ์ที่เจ็บปวด ขมขื่น ซึ่งอาจทำให้เด็กมีทัศนคติที่ไม่ดีกับเพื่อนต่างศาสนิกต่อไปในภายหน้า
ในระยะยาว ทุกฝ่ายควรเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยในทุกความคับข้องใจ เพราะน่าจะมีหลายเรื่องที่ควรพูดคุยระหว่างคนต่างศาสนาเพื่อหาทางออกในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ ท่านที่ติดตามเรื่องราวปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงทราบว่านอกจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานนับสิบปีแล้ว ยังมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ที่เคยอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน ไว้วางใจและร่วมทุกข์ร่วมสุข แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์และความรู้สึกดีๆ เหล่านี้หายไป แถมยังแปรเปลี่ยนเป็นความหมางเมิน หวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ เด็กๆ ที่เคยมีเพื่อนสนิทเป็นคนต่างศาสนิก ได้เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนา พบว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่เติบโตแบบแยกกันเรียน แยกกันเล่น เด็กมุสลิมส่วนมากเรียนในโรงเรียนที่สอนศาสนาอิสลามด้วย ส่วนเด็กพุทธก็เรียนในโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งบางโรงเรียนแทบไม่มีมุสลิมเรียน
ไม่นานมานี้ มีกรณีความไม่สบายใจของคนไทยพุทธในพื้นที่กรณีที่โรงพยาบาลใหญ่ในจังหวัดยะลา ประกาศให้อาหารในโรงพยาบาลเป็นอาหารฮาลาลทั้งหมด โดยให้มีครัวฮาลาลครัวเดียว โดยให้เหตุผลว่า "อาหารฮาลาลทุกคนรับประทานได้" แต่หากผู้ป่วยประสงค์จะรับประทานอาหารทั่วไป ก็ต้องนำอาหารพร้อมภาชนะมาเอง เรื่องนี้แม้ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็สร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรมต่อผู้ป่วยและญาติที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ทั้งที่ที่จริงโรงพยาบาลสามารถจัดให้มีสองครัวได้ ทั้งครัวอาหารฮาลาลและครัวอาหารทั่วไป โดยต้องยอมรับว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร หรืออาจอยากทานอาหารที่ตนเองคุ้นเคย ซึ่งก็ย่อมมีสิทธิ์ที่กระทำได้ อีกทั้งต้องยอมรับว่า คนป่วยทุกคนไม่ได้มีญาติมาเยี่ยมทุกวัน หรือสามารถส่งอาหารให้ได้ทุกมื้อ ผู้ป่วยหลายคนนานๆ จะมีญาติมาเยี่ยม เพราะอาจไม่สะดวกเรื่องการเดินทางหรือค่าใช้จ่ายอื่น
ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมเรื่องโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ที่เมื่อเร็วๆ นี้ชาวบ้านอำเภอสุคิริน (จ.นราธิวาส) ที่ส่วนมาเป็นคนไทยพุทธ ออกมาคัดค้าน ไม่ต้อนรับผู้ "กลับบ้าน" ต่างศาสนา
ถ้าไม่โรแมนติกและหลอกตัวเองกันเกินไป คงต้องยอมรับว่า งาน Interfaith ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สูญเสียงบประมาณกันไปมากมายนั้น ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ไม่นับรวมงานสันติวิธีแบบที่นิยมให้ผู้หญิงต่างชาติพันธุ์ ต่างศาสนิก แต่งตัวสวยงามออกมาร้องขอพื้นที่ปลอดภัย ร้องขอพื้นที่สันติภาพ อย่าลืมว่า "พื้นที่ปลอดภัย" ไม่ได้หมายถึงพื้นที่ปลอดภัยจากความรุนแรงทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงพื้นที่ซึ่งสร้างความรู้สึกปลอดภัยในการดำเนินชีวิต โดยได้รับการยอมรับ ได้รับความเข้าใจ และได้รับความรัก ความเมตตาจากบรรดาผู้คนในสังคมด้วย
สิทธิทางศาสนาและวัฒนธรรมไม่ได้หมายความว่า ศาสนาหรือวัฒนธรรมใดจะสามารถอยู่เหนือศาสนาและวัฒนธรรมอื่น แต่ทุกศาสนาและวัฒนธรรมล้วนมีความเท่าเทียมกันในการประพฤติปฏิบัติตามความเชื่อของตน หลักการศาสนาอิสลามเคารพสิทธิของคนกลุ่มน้อยในรัฐอิสลาม ไม่เบียดเบียน ไม่กดทับ และเชื่อว่านี่เป็นหลักการของทุกศาสนาด้วยเช่นกัน
และหากปล่อยให้เหตุการณ์ความไม่เข้าใจในลักษณะเช่นนี้ยังคงเกิดขึ้น ก็คงต้องยอมรับความจริงว่า "พื้นที่พหุวัฒนธรรม" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เคยมีจริง"
--------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเฟสบุ๊ค คุณอังคณา นีละไพจิตร
อ่านประกอบ :
เหตุเกิดที่อนุบาลปัตตานี นักเรียนที่นี่ห้ามสวมฮิญาบ?
ปมฮิญาบบานปลาย! "บาบอแม" ลาออกพ้น กก.สถานศึกษาอนุบาลปัตตานี