- Home
- South
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวภาคใต้
- "เบตง" ชงเลิก พ.ร.ก. - สรุปพื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก "สัญลักษณ์วันเสียงปืนแตก"
"เบตง" ชงเลิก พ.ร.ก. - สรุปพื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก "สัญลักษณ์วันเสียงปืนแตก"
กอ.รมน.เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา แล้วใช้กฎหมายความมั่นคงแทน รับข่าวคณะพูดคุยสันติสุขฯบรรลุข้อตกลง "มารา ปาตานี" กำหนดพื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก เลือก "สัญลักษณ์วันเสียงปืนแตก" ลั่นเริ่มที่ไหนต้องจบที่นั่น!
การยกเลิกการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ อ.เบตง จ.ยะลา อำเภอใต้สุดแดนสยาม เป็นมติของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีการประชุมกันที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.พ.61
ภายหลังการประชุม พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณา 2 เรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรื่องแรกคือ การขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไป เพื่อช่วยประชาชนในการพิทักษ์ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเห็นชอบเสนอคณะรัฐมนตรีขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.ถึง 29 มิ.ย.61 ซึ่งถือเป็นการขยายเวลาครั้งที่ 51 นับตั้งแต่ประกาศใช้เมื่อ 20 ก.ค.48 และขยายเวลาทุกๆ 3 เดือนมาตลอดกว่า 12 ปี
เรื่องที่ 2 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เสนอปรับลดพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ออกจากพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ "พ.ร.บ.ความมั่นคง" มาบังคับใช้แทน เนื่องจาก กอ.รมน.ได้ประเมินผลตามตัวชี้วัดแล้ว พบว่า อ.เบตง ผ่านเกณฑ์ ซึ่งการปรับลดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะช่วยส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจในพื้นที่ และสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" โดย อ.เบตง เป็น 1 ใน 3 อำเภอนำร่อง และทั้ง 2 เรื่องนี้จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
ผลของที่ประชุมดังกล่าว จะทำให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งเป็นอำเภอรอยต่อ รวมทั้งสิ้น 37 อำเภอ มีการใช้กฎหมายพิเศษต่างกัน โดยพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 33 อำเภอ (สีแดงในแผนที่) เป็นพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งยกเลิกไปก่อนหน้านี้แล้ว กับ อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งกำลังจะยกเลิก (2 อำเภอนี้คือพื้นที่สีเขียวในแผนที่) ฉะนั้น อ.เบตง จึงนับเป็นอำเภอที่ 2 จาก 33 อำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ส่วน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ได้นำร่องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปก่อนแล้วตั้งแต่ปี 52 และใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตลอด โดยต่ออายุคราวละ 1 ปี (อำเภอสีเหลืองในแผนที่)
การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน อ.เบตง สอดรับกันพอดีกับผลประชุมของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้ทำความตกลงกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ภายใต้ชื่อ "มารา ปาตานี" ได้ข้อยุติร่วมกันในการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง 1 อำเภอ" ซึ่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ก.พ.61 พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานข้อตกลงของคณะพูดคุยฯ
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการขับเคลื่อน "เซฟตี้ โซน" หรือ "พื้นที่ปลอดภัย" โดยจะมีการจัดตั้ง "เซฟเฮาส์" เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาช่วยกันทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการแก้ไขปัญหายาเสพติด
พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก เคาะกันลงตัวที่อำเภอไหน เรื่องนี้คณะพูดคุยฯบอกว่าเป็นความลับสุดยอด แต่ "ทีมข่าวอิศรา" ได้ข้อมูลมาว่า พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรกคือ "พื้นที่สัญลักษณ์" ที่เป็นต้นกำเนิดของความรุนแรงรอบใหม่เมื่อ 14 ปีก่อน หรือที่เรียกว่า "วันเสียงปืนแตก" ภายใต้หลักคิดที่ว่า เริ่มที่ไหน ต้องจบที่นั่น!
---------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพแผนที่จากรายการล่าความจริง เนชั่นทีวี 22
อ่านประกอบ : รอบที่ 50! ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯชายแดนใต้ - กอ.รมน.ลดอัตรากำลัง