- Home
- South
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวภาคใต้
- บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ตั้ง 3 เงื่อนไขเจรจาสันติภาพ
บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ตั้ง 3 เงื่อนไขเจรจาสันติภาพ
บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืนไม่คัดค้านกระบวนการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งและการประหัตประหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ต้องดำเนินการ 3 เงื่อนไขที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งเรื่องรูปแบบ คนกลาง และการมีประชาคมระหว่างประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน
แถลงการณ์ที่อ้างว่าเผยแพร่จากฝ่ายสารสนเทศของบีอาร์เอ็น ซึ่งมีชื่อแปลเป็นภาษาไทยว่า "ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี" ลงวันที่ 10 เม.ย.60 ระบุว่า เกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพในปาตานี ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ควรมีตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจจากทั้งสองฝ่าย และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ กระบวนการเจรจาไม่ควรออกแบบโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนอกเหนือไปจากคู่เจรจา และควรเป็นความพยายามสร้างความไว้วางใจและความมั่นใจในศักดิ์ศรีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาสันติภาพด้วย
สิ่งที่เน้นย้ำก็คือ การต่อสู้ของบีอาร์เอ็นเป็นการต่อสู้ของมนุษยชาติและเพื่อสันติภาพ ต่อต้านการกดขี่ทุกรูปแบบ รวมถึงการตั้งอาณานิคม ทั้งหมดเพื่อปกป้องและฟื้นฟูสิทธิรวมทั้งอำนาจอธิปไตย ดังนั้นการเรียกร้องและความพยายามใดๆ ในการหาทางแก้ปัญหาที่อาจนำไปสู่การยุติการประหัตประหารเพื่อสร้างสันติภาพนั้น แท้จริงแล้วบีอาร์เอ็นเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการเจรจาสันติภาพเป็นวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
บีอาร์เอ็นมีท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับที่ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ว่า ความพยายามใดๆ ในการหาแนวทางสร้างสันติภาพ จะต้องสอดคล้องกับค่านิยมและบรรทัดฐานที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ ดังนั้นหลายแง่มุมที่สามารถนำความสำเร็จมาสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ และเป็นข้อกังวลของบีอาร์เอ็นมีดังนี้
1.ทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีความจริงใจ และมีส่วนร่วมของภาคีฝ่ายที่สาม ซึ่งหมายถึงองค์กรหรือชุมชนระหว่างประเทศ ในฐานะพยานและผู้สังเกตุการณ์
2.คนกลางในการเจรจาควรมีความน่าเชื่อถือ และต้องมีหลักปฏิบัติตรงตามมาตรฐานสากล เช่น มีความเป็นธรรม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
3.กระบวนการเจรจาควรถูกออกแบบให้มีความชัดเจนจากคู่เจรจา และทั้งสองฝ่ายต้องเห็นพ้องร่วมกันก่อนเริ่มต้นการเจรจา
ตอนท้ายของแถลงการณ์ย้ำว่า บีอาร์เอ็นเชื่อว่าถ้าสันติภาพดำเนินไปตามบรรทัดฐานข้างต้น ย่อมไม่มีเหตุผลว่าทำไมการเจรจาจึงไม่ควรเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในปาตานี และในการเจรจาสันติภาพใดๆ ต้องได้รับมอบอำนาจอย่างสมบูรณ์จากการเลือกตั้งและประชาชน
------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เอกสารแถลงการณ์ที่อ้างว่าเผยแพร่โดยฝ่ายสารสนเทศของบีอาร์เอ็น
ขอบคุณ : อัศโตรา ญาบัต ผู้สื่อข่าวอาวุโส