สำรวจธุรกิจร้านอาหารรุ่นใหม่ชายแดนใต้(2) "เอ็มซ่า@ยะลา"วินเทจผสมโมเดิร์น
แม้เศรษฐกิจบ้านเราจะมีแนวโน้มไม่สู้ดีทั้งปีนี้และปีหน้า แต่ธุรกิจร้านอาหารสไตล์โมเดิร์น หรือ อีซี่ ไดนิ่ง (easy dining) ประเภทฟาสต์ฟู้ด กลับคึกคักยิ่งที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะฟาสต์ฟู้ดฮาลาล
แน่นอนว่าการถอยทัพของแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง "เคเอฟซี" ด้วยการปิดทุกสาขาในพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อยุติปัญหา "ฮาลาล-ไม่ฮาลาล" ทำให้ตลาดของร้านอาหารประเภทนี้มีช่องว่างสำหรับรายใหม่
และนั่นจึงเป็นที่มาของ MZA Pizza&Ayam (เอ็มซ่า พิซซ่าแอนด์อายัม) กลางเมืองยะลา
ที่มุมหนึ่งของห้าแยกถนนผังเมือง 4 เป็นที่ตั้งของร้านอาหารสีสันสดใส ซึ่งมี อัสมาน กะโด หรือ "มัง" เป็นเจ้าของ ที่ผ่านมาเขาเปิดร้านขายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา พร้อมกับเตรียมสถานที่ไว้สำหรับเปิดร้านอาหาร เมื่อร้านอุปกรณ์กีฬาอยู่ตัว จึงถึงเวลาของการทำความฝันให้เป็นจริง คือ เปิดร้านอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่เขาคิดว่ามีโอกาสเติบโต
"ผมแต่งร้านไปเรื่อยๆ ตามสไตล์ที่ชอบ คือวินเทจผสมโมเดิร์น ตอนแรกอยากเปิดร้านกาแฟ แต่เมื่อคำนวณต้นทุน วางเป้าหมายกำไร และวิเคราะห์ตลาดแล้วคิดว่าไม่คุ้ม เมื่อคิดถึงร้านอาหารที่เปิดขายได้แค่มื้อหลัก คือ เที่ยงกับค่ำก็ไม่คุ้มเช่นกัน ช่วงนั้นไปดูร้านเคเอฟซีที่ยังไม่ปิดตัวเห็นว่ามีลูกค้าใช้บริการตลอดเวลา จึงเริ่มสนใจหาข้อมูลจนแน่ใจ คิดหาจุดขาย คือ ฮาลาล ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ลูกค้าในพื้นที่ต้องการ"
มัง บอกว่า ศึกษารายละเอียดและทดลองสูตรประมาณ 1-2 เดือน ก็เริ่มมีความมั่นใจ
"ผมเน้นไก่ทอดกับพิซซ่า เหมือนอัลลอฮ์เปิดทางให้เราได้ไปในหนทางที่เหมาะสม จนกำหนดวันเปิดร้านไว้ ช่วงนั้นมีข่าวว่าเคเอฟซีสาขาโคลีเซียม (ห้างสรรพสินค้ากลางเมืองยะลา) จะปิดตัว ทางผู้จัดการสาขาและทีมงานส่วนหนึ่งไม่อยากไปทำต่อที่สาขาโลตัส อ.จะนะ จ.สงขลา จึงมาคุยกัน ตกลงทำทีมและระบบให้ลงล็อค ทดสอบกันทุกอย่าง จนเปิดร้านเมื่อไม่นานมานี้"
วันเปิดร้าน MZA มังบอกว่ากระแสตอบรับดีมาก ลูกค้ารอคิวตั้งแต่เช้าจนเย็น แต่ถึงกระนั้้นยอดขายก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากเป็นครั้งแรกของทุกอย่าง และได้นำข้อผิดพลาดในครั้งนั้นมาปรับปรุงแก้ไข
"ทุกอย่างเพิ่งเริ่มต้น เมื่อได้รับทราบปัญหาก็นำมาปรับปรุงภายใน 1 สัปดาห์ ประชุมกันทุกวันเพื่อดูปัญหาทั้งระบบ พนักงาน หน้าร้าน ตัวอาหาร รสชาติ บริการ ต้องควบคุมทุกอย่าง ปรับปรุงมาตลอดจนทุกวันนี้ มีทีมต้อนรับซึ่งถือเป็นประตูด่านแรก ดูแลลูกค้า ต้องรู้จักชื่อ ใส่ใจรายละเอียด เหมือนเป็นเจ้าของร้าน ทำให้มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด"
มัง บอกว่า จุดขายของ MZA คือ อร่อย เร็ว สะอาด ด้วยทีมงานบริการถึง 23 คน ซึ่งในระบบที่ลูกค้าบริการตัวเองของร้าน ทำให้ต้องมีการเช็คลูกค้าในเรื่องของการรับอาหารว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้ลูกค้าบอกกันปากต่อปาก มาแล้วอยากมาอีก บริการทุกคนทุกศาสนาทุกวัยทุกระดับ
สำหรับสไตล์ตกแต่งร้านที่ดูโปร่ง โล่ง สบายตา แต่ก็ฉูดฉาดด้วยสีสดใส มัง บอกว่า สีแดงแทนความทันสมัย ลายไม้แทนความคลาสสิคที่นำมารวมกันอย่างลงตัว ซึ่งเป็นสไตล์ที่เขาชอบ มีมุมเด็กเล่นให้เด็กๆ ได้สนุก มีห้องละหมาด ห้องน้ำที่ใส่ใจทุกรายละเอียด
เมื่อถามถึงความตั้งใจและการอยู่รอดของ MZA ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ มัง บอกว่า ตั้งใจทำอย่างดีที่สุด หากไม่ดีก็จะไม่ทำ
"เราแข่งกับตัวเองมากกว่าที่จะไปแข่งกับคนอื่น ทำทุกวันให้ดีที่สุด หาความลงตัวในพื้นที่ให้อยู่ตัวแล้วค่อยขยับขยาย เศรษฐกิจแบบนี้ลูกค้ามาไกลสำคัญมาก เมื่อมาแล้วเขากลับไปบอกคนอื่นต่อ จึงจะทำให้มีคนรู้จักร้านเรามากขึ้น นั่นคือสิ่งสำคัญ และวางใจได้ในเรื่องของวัตถุดิบและบุคลากรที่ฮาลาลร้อยเปอร์เซ็นต์"
เขาย้ำทิ้งท้ายว่า จะพัฒนาทุกอย่างไปพร้อมกันเพื่อให้ MZA เป็นตัวแทนธุรกิจของมุสลิมชายแดนใต้อย่างแท้จริง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 สไตล์การตกแต่งร้านวินเทจผสมโมเดิร์น
2 อัสมาน กะโด
3 สัญลักษณ์ร้านเอ็มซ่า
อ่านประกอบ : สำรวจธุรกิจร้านอาหารรุ่นใหม่ชายแดนใต้(1) "บากุส"กับไก่ทอดฮาลาลแท้ๆ