"ตูน" บนเส้นทาง "เบตง-แม่สาย" สะท้อนอะไรกับไฟใต้และปลายด้ามขวาน
ผ่านมาแล้ว 5 วัน (5 พ.ย.) กับกิจกรรมวิ่งการกุศล "ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ" จาก อ.เบตง จ.ยะลา มุ่งสู่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ของ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ "ตูน บอดี้สแลม" นักร้องเพลงร็อคชื่อดัง
ณ เวลานี้กล่าวได้ว่า ตูน วิ่งผ่าน "พื้นที่สีแดง" ซึ่งอุดมไปด้วยเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบ 100% แล้ว เพราะเส้นทางวิ่งล่าสุดได้ผ่าน จ.ยะลา กับปัตตานีไปเรียบร้อย เข้าสู่เขต อ.เทพา จ.สงขลา แม้จะยังเป็นพื้นที่รอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงอยู่ก็ตาม แต่ก็ถือว่าสถานการณ์ความรุนแรงเบาบางกว่า 3 จังหวัดปลายด้ามขวานมาก
เส้นทางวิ่ง 5 วันแรกของตูน เรียกเสียงฮือฮาและกระแสตอบรับ ไม่ใช่เฉพาะกับแค่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเท่านั้น แต่ยังสร้างกระแสความสนใจไปทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะการวิ่งบนเส้นทางสาย 410 จาก อ.เบตง ผ่าน อ.บันนังสตา อ.เมืองยะลา เข้าสู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และต่อไปยัง อ.เทพา จ.สงขลา เพราะเส้นทางสายนี้ ทั้งคนในพื้นที่และคนทั่วประเทศต่างทราบดีว่าเป็นเส้นทางสายระเบิด และเคยเกิดเหตุการณ์โจมตีจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมานับครั้งไม่ถ้วน
ทว่าตลอด 5 วันที่ผ่านมา กลับไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลยตลอดเส้นทาง แม้จะมีข่าวคนร้ายปฏิบัติการก่อกวนบ้าง เช่น โปรยตะปูเรือใบ แต่ก็เป็นคนละอำเภอกับที่นักร้องหนุ่มชื่อดังวิ่งผ่าน
ในมุมของ "คนพื้นที่" รู้สึกว่าตูนได้ช่วยเปิดเผยสิ่งดีๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ม่านหมอกความรุนแรงมานานนับสิบปี
อย่างน้องมุสลิมรายนี้ เขียนระบายความรู้สึกส่งผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ และมีการแชร์กันอย่างกว้างขวางในพื้นที่ "ทีมข่าวอิศรา" ขอตัดบางช่วงบางตอนมาบันทึกไว้...
"การวิ่งของคุณตูนเฉพาะช่วงเบตงผ่านยะลา เดะถือว่าเป็นที่สุดน่ะ เขาวิ่ง เดิน กินนอน บนเส้นทางที่คนทั้งประเทศพูดกันว่า 'น่ากลัวที่สุด' ในพื้นที่สีแดง
1.เดะเดินทางไปเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย ผู้คนที่พบเจอและพูดคุยจะต้องถามถึงเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะเส้นทางไปเบตงผ่าน กรงปินัง บันนังสตา
2.ดาราหลายคนรับงานเบตง แต่ไม่กล้านั่งรถผ่าน ต้องบินจากกรุงเทพฯ ลงเกาะปีนัง มาเลเซีย แล้วนั่งรถเข้าไทย คนเบตงเองหลายคนเวลาจะไปหาดใหญ่ ไม่กล้าขับรถผ่าน ยอมขับรถเข้ามาเลเซียผ่านด่านนอก สะเดา (จ.สงขลา)
3.คุณตูนมีทหารดูแลมากมายตลอดเส้นทางก็จริง แต่ถ้าฝ่ายขบวนการจะทำจริง ยังไงก็เอาไม่อยู่ และเขาสามารถทำได้ เพราะรู้กำหนดการล่วงหน้า แต่ไม่มีเหตุการณ์เลย แม้แต่ในพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างสถานการณ์ข่มขู่ก็ไม่มี
4.ลักษณะส่วนตัวคุณตูน เจาะหู สักตามร่างกาย ในสายตาคนมุสลิม มักมองในมุมไม่ดี แต่การกระทำของเขาทำให้คนมุสลิมไม่มองตรงนั้น สังเกตุจากภาพที่เห็น คนเฒ่าคนแก่ที่ยืนต้อนรับ ที่ยื่นมือบริจาค ส่งยิ้มให้กำลังใจ
5.ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี ราคายางไม่ดี ชาวบ้านอยู่ในสภาวะขัดสน แต่ผู้คนก็ยังคงบริจาคตลอดเส้นทาง
คุณตูนได้สะท้อนสิ่งดีๆ ที่มีอยู่จริง และคนทั้งประเทศไม่เคยได้รับรู้"
นี่คือความคิดที่แจ่มชัดซึ่งน่าจะอธิบายแทนความรู้สึกของผู้คนอีกจำนวนมากในพื้นที่ และแทบไม่ต้องบรรยายอะไรเพิ่มอีก โดยคำว่า "เดะ" หรือ "เด๊ะ" เป็นสรรพนามเรียกตัวเองหรือคนมุสลิมที่เด็กกว่า
อย่างไรก็ดี ยังมีความเห็นอีกหลายความเห็นจากคนนอกพื้นที่ที่มองกิจกรรมของตูนโยงไปกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บ้างก็ว่าสถานการณ์โดยรวมน่าจะดีขึ้นมากแล้ว เพราะตลอดการวิ่ง 5 วันไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย ประกอบกับช่วงก่อนหน้านี้ ภาพรวมสถานการณ์ก็เงียบสงบ ไม่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ที่สร้างความตื่นตกใจในระดับประเทศ ขณะที่บางความเห็นบอกทำนองว่าน่าจะให้ตูนวิ่งวนอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเรื่อยๆ เพราะวิ่งแล้วสงบดี ไม่มีเสียงระเบิดตามมา
รอยยิ้มและบรรยากาศสันติสุขในช่วงนี้เกิดจากอะไรแน่ และจะเป็นสภาพการณ์ถาวรหรือแค่ชั่วคราว เป็นเรื่องที่น่าค้นหาคำตอบไม่น้อยเช่นกัน...
แหล่งข่าวระดับสูงซึ่งเคยผ่านงานความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อธิบายกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า กิจกรรมของนักร้องหนุ่ม ทำให้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่พุ่งความสนใจและให้ความสำคัญ ฉะนั้นหากกลุ่มขบวนการเลือกก่อเหตุรุนแรงในช่วงนี้ ย่อมจะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของตนเองและพื้นที่ของตนเองด้วย พวกเขาจึงเลือกที่จะนิ่งเงียบ และอาจเป็นไปได้ว่าในกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นวัยรุ่นและเยาวชน ก็มีความชื่นชอบและชื่นชมตูน
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะสงบถาวร เพราะความพยายามในการก่อเหตุยังมีอยู่ เพียงแต่รอจังหวะเวลา ยิ่งอั้นเหตุรุนแรงไว้นานๆ เมื่อฝ่ายผู้ก่อเหตุสบโอกาส ก็จะยิ่งสร้างสถานการณ์รุนแรงขนาดใหญ่ หรือก่อหลายๆ จุดพร้อมกัน
ขณะที่ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ที่ศึกษาโครงสร้างองค์กรของบีอาร์เอ็นอย่างลึกซึ้ง บอกว่า บรรยากาศดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่นักร้องชื่อดังวิ่งผ่านพื้นที่สีแดง เป็นคนละเรื่องกับการต่อสู้ของกลุ่มขบวนการ เพราะต้องไม่ลืมว่าทุกครั้งที่บีอาร์เอ็นเลือกก่อเหตุโดยการโจมตีเจ้าหน้าที่หรือเป้าหมายบุคคล พวกเขามีเจตนาเพียง 2 ประการเท่านั้้น คือ 1.แย่งยึดอาวุธปืน กับ 2.ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยว มีปฏิสัมพันธ์ หรือทำกิจกรรมกับคนมลายู
"บีอาร์เอ็นจะเลือกก่อเหตุเฉพาะที่เขาได้ประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น ถ้าไม่ได้ประโยชน์เขาก็ไม่ทำ อย่างกรณีของคุณตูน เห็นได้ชัดว่าคนมลายูจำนวนมากชื่นชอบเขา ถ้าไปก่อเหตุรุนแรงกับคุณตูน ก็จะเสียมวลชน และถูกด่าอย่างหนักแน่นอน" พล.อ.สำเร็จ ระบุ
ส่วนความเห็นของวัยรุ่นในพื้นที่ที่เข้าถึงกลุ่มอาร์เคเค และขบวนการก่อเหตุรุนแรง บอกว่า สาเหตุที่ช่วงนี้เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดน้อย เพราะในพื้นที่ฝนตก ช่วงนี้ของทุกปีเป็นช่วงที่แนวร่วมไม่ค่อยก่อเหตุอะไร ส่วนการที่ตูนมาวิ่ง ก็มีทหารมาช่วย รปภ.มากขึ้น ทำให้สถานการณ์รวมๆ ดูเงียบสงบ และมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นน้อยกว่าช่วงอื่น
แม้กิจกรรมวิ่งการกุศลของนักร้องเพลงร็อคชื่อดังจะไม่ได้ช่วยให้ไฟใต้มอดลงอย่างที่หลายคนคาดหวัง เพราะจุดประสงค์ของกิจกรรมก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับไฟใต้อยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนผ่านความรู้สึกของคนในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัดก็คือ พวกเขาอยากให้สถานการณ์ความรุนแรงยุติลง เนื่องจากรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และกิจกรรมรื่นเริงเป็นสิ่งที่พวกเขาถวิลหา สังเกตได้จากผู้คนมากหน้าหลายตาที่ไปรอรับตูนริมเส้นทางที่นักร้องดังวิ่งผ่าน ขณะที่คนพื้นที่อีกจำนวนมากก็ควักกระเป๋าบริจาค และตามเช็คยอดเงินบริจาคทุกวัน ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจในพื้้นที่ก็ไม่ได้ดีอะไรมากมาย
ยิ่งไปกว่านั้น การได้เปิดภาพใหม่ๆ โดยเฉพาะความสวยงามของดินแดนปลายด้ามขวานให้คนนอกพื้นที่ได้เห็นบ้าง ดูจะเป็นความภาคภูมิใจของคนชายแดนใต้ไม่น้อยทีเดียว และที่จะลืมไม่ได้ก็คือ หากกิจกรรมในพื้นที่เป็นการ "ทำดีอย่างจริงใจ" ก็จะเป็นเกราะป้องกันภัยจากคนที่คิดร้าย ไม่กล้าทำอะไรที่ท้าทายความรู้สึกของคนส่วนใหญ่
ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ภาครัฐควรนำไปขบคิด จากความสำเร็จ ณ สองข้างทางวิ่งของ ตูน บอดี้สแลม!
-------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจาก Mhonglio Studio และเพจก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ