- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- โครงสร้างบีอาร์เอ็นทำ "เจรจา" จบยาก แนะจับตา "การเรียกร้องที่ไม่ใช้อาวุธ"
โครงสร้างบีอาร์เอ็นทำ "เจรจา" จบยาก แนะจับตา "การเรียกร้องที่ไม่ใช้อาวุธ"
ในการเสวนาหัวข้อ "ถอดรหัสบีอาร์เอ็นกับอนาคตการพูดคุยสันติภาพ" ซึ่งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมจัดกับศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เมื่อวันอังคารที่ 11 มิ.ย.2556 นั้น วิทยากรที่ร่วมวงเสวนาเห็นคล้ายกันว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องใช้เวลาอีกยาวนานจากข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างของฝ่ายบีอาร์เอ็นเอง และความไม่จริงจังของรัฐบาลไทย
ขณะที่ตัวแทนฝ่ายความมั่นคงเรียกร้องให้สำรวจความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ เพื่อถ่วงดุลกับข้อเสนอของนักวิชาการบางกลุ่มหรือองค์กรบางองค์กรที่อ้างสิทธิพูดแทนประชาชน โดยเฉพาะเรื่องเขตปกครองพิเศษ โดยที่ไม่มีความชัดเจนว่าเป็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชนหรือไม่
ประเด็นหลักที่วงเสวนาถกกันมีอยู่ 2 ประเด็น คือ บทบาท พัฒนาการ และข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น กับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในการพูดคุยเจรจา
ขยายแนวคิดสุดโต่ง
นายสุนัย ผาสุก ผู้แทนฮิวแมนไรท์วอทช์ประเทศไทย นักสิทธิมนุษยชนชื่อดัง กล่าวว่า ได้ศึกษาปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้มาหลายปี และมองเห็นองค์กรบีอาร์เอ็นว่ามีตัวตนจริง มีอุดมการณ์ การก่อเหตุรุนแรงแต่ละครั้งก็ชัดเจนว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อแบ่งแยกดินแดน แต่รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยไม่เคยยอมรับ กระทั่งมีการลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.2556 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยยอมรับว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดน และบีอาร์เอ็นเป็นร่มใหญ่ของหลายกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อแยกดินแดนจากรัฐไทย
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลก็คือ "ธงใหม่" หรือ "ธงเสริม" ของขบวนการต่อสู้ในระยะหลังมีแนวคิดสุดโต่งมากขึ้น และไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐ แต่เป็นการต่อสู้ระหว่าง "ประชาชาติ" กับ "ประชาชาติ" เห็นได้จากแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นที่อ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนของชาวปาตานีหรือชนชาติมลายูปาตานี ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศความชอบธรรมในการทำร้ายชนเชื้อชาติอื่น รวมถึงการทำร้ายเป้าหมายพลเรือน
สถานการณ์ที่ชายแดนใต้เป็นการขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศ หรือ armed conflict อยู่แล้ว สามารถใช้กฎหมายระหว่างประเทศมาบังคับใช้ได้ และที่ผ่านมายังมีการทำร้ายเป้าหมายพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นครู เด็ก พระ โต๊ะอิหม่าม ผู้หญิง จึงเข้าข่าย "อาชญากรรมสงคราม" ด้วย มีผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงมาก ฉะนั้นบีอาร์เอ็นจะอ้างความชอบธรรมในการต่อสู้โดยที่อีกด้านหนึ่งก็ก่ออาชญากรรมไปด้วยไม่ได้
แตกตัวหลายกลุ่ม หลายแนวคิด
นายสุนัย กล่าวต่อว่า อีกคำถามหนึ่งที่ถามกันค่อนข้างมาก คือกำลังคุยกับตัวจริงหรือไม่ คำตอบก็คือบีอาร์เอ็นเป็นร่มใหญ่ของขบวนการต่อสู้กับรัฐไทยจริง ขณะที่ นายฮัสซัน ตอยิบ ผู้ที่ลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ถูกระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงาน ตัวของฮัสซันก็ไม่เคยบอกว่าเป็นแกนนำบีอาร์เอ็น ฉะนั้นนายฮัสซันก็คือคนส่งสารหรือคนเดินสารระหว่างโต๊ะพูดคุยเจรจากับสภาองค์กรนำ หรือที่เรียกว่า ดีพีพี
ส่วนโครงสร้างภายในของบีอาร์เอ็น เข้าใจว่าก้าวข้ามการเป็น single command หรือมีผู้นำสั่งการเพียงคนเดียวมานานแล้ว และถึงวันนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าไม่มีใครที่สั่งการได้ทุกกลุ่ม หรือมีใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวที่ได้รับการยอมรับจากทุกกลุ่มในขบวนการ แม้แต่ตัวแทนที่นั่งในสภาองค์กรนำก็น่าจะมีหลายกลุ่ม หลายขั้ว หลายแนวคิด และยังมีพวกสุดโต่งต้องการเอกราชอย่างเดียวอีก
ด้วยเหตุนี้จึงต้องบอกว่าความคาดหวังของสังคมไทยต่อการพูดคุยเจรจานั้น จะต้องเข้าใจสภาพภายในและโครงสร้างของบีอาร์เอ็นด้วย และต้องตระหนักว่าไม่มีทางที่สันติภาพจะเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ความสัมพันธ์ระหว่างสภาองค์กรนำ คนที่ไปร่วมโต๊ะเจรจา และบรรดา "จูแว" หรือนักรบที่อยู่ในพื้นที่ สามารถเชื่อมโยงสั่งการกันได้จริงหรือ อย่างน้อยระหว่างคนที่เป็นระดับแกนนำก็ไม่เคยสั่งการกองกำลังในพื้นที่ แต่เป็นแค่การชี้แนะ ส่วนในพื้นที่จะปฏิบัติตาม 100% หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
"ข้อเรียกร้องจากรัฐไทยที่ให้หยุดทำร้ายพลเรือน ซึ่งเรียกร้องตั้งแต่การพูดคุยครั้งแรกๆ คนที่นั่งคุยด้วยอาจจะรับฟัง แต่การสั่งการ สั่งแล้วกองกำลังในพื้นที่ฟังไหม ต้องเข้าใจว่าบรรดานักรบจูแวก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นต่ออยู่"
ถูกบังคับขึ้นโต๊ะเจรจา
นายสุนัย กล่าวอีกว่า อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาก็คือบทบาทของมาเลเซียในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เป็นที่ทราบกันดีว่าบีอาร์เอ็นที่ร่วมพูดคุยไม่ได้เข้าสู่กระบวนการอย่างเต็มใจ แต่ถูกกดดันบีบบังคับจากรัฐบาลมาเลเซีย ฉะนั้นมาเลเซียจึงไม่ใช่ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ในการพูดคุยสันติภาพ แต่เป็นคนลากคอบีอาร์เอ็นมาสู่กระบวนการพูดคุย
เมื่อเป็นเช่นนี้ บีอาร์เอ็นจึงเดิน 2 ทาง ทางหนึ่งก็พูดคุยกับไทยไปเรื่อยๆ เพราะไม่อาจขัดคำสั่งมาเลเซียได้ เนื่องจากยังใช้มาเลเซียเป็นสถานที่พักพิงอยู่ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เดินหน้าเรื่องประชาชาติมลายูผ่านทางสภาองค์กรนำ และจูแว
"คำแถลงของกลุ่มนายฮัสซันผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการตอกย้ำอุดมการณ์ดั้งเดิมว่ายังไม่เปลี่ยนแปลง คือปลดแอกจากการปกครองของรัฐไทย ซึ่งเขามองว่าเป็นการปกครองของผู้รุกราน ของเจ้าอาณานิคม มีการกดขี่ ข่มเหง รังแก ซึ่งถ้าจะทำให้ได้รับความเป็นธรรมต้องได้เอกราชเท่านั้น"
นายสุนัย สรุปว่า การพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นครั้งนี้ ถือว่าคุยถูกคน แต่จะประสบความสำเร็จยากมาก เพราะอุดมการณ์และแนวทางแตกต่างกันสุดขั้ว ประกอบกับโครงสร้างของบีอาร์เอ็นเองที่มีวิวัฒนาการไปมาก แตกตัวกันจนไม่รู้ว่ากลุ่มไหนมีอิทธิพลมากกว่ากลุ่มอื่น และยังมีการแพร่ขยายแนวคิดสุดโต่งมากขึ้นด้วย นี่คือโจทย์ข้อยากของการพูดคุยเจรจา แต่เมื่อเปิดเวทีขึ้นมาแล้ว ก็ต้องเดินต่อไป เพราะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
แนะคุยทุกระดับ-ส่งสัญญาณให้ชัด
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หนึ่งในคณะพูดคุยเจรจาฝ่ายรัฐบาลไทย กล่าวเสริมในประเด็นสถานะของคู่เจรจาและโครงสร้างของบีอาร์เอ็นว่า กลุ่มคนที่มาคุยด้วย (บีอาร์เอ็น) อ้างว่าเป็นตัวแทนของสภาองค์กรนำ แต่จะมีการประสานกับกองกำลังในพื้นที่ได้หรือไม่ยังไม่เห็น แต่ยอมรับว่าบีอาร์เอ็นมีกลไกการประสานงานที่มีเครือข่าย มีประสิทธิภาพ แม้จะไร้ศูนย์กลางชัดเจนก็ตาม
พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม หนึ่งในคณะพูดคุยเจรจาฝ่ายรัฐบาลไทย และเป็นผู้ที่ศึกษาโครงสร้างของบีอาร์เอ็นมาหลายปี กล่าวว่า คนในขบวนการบีอาร์เอ็นมีอุดมการณ์ต่อต้านรัฐ กลุ่มที่อยู่ระดับบนมีลักษณะเป็นนักคิด นักปฏิวัติ ส่วนอาร์เคเค (กลุ่มติดอาวุธที่จัดกำลังเป็นหน่วยรบขนาดเล็ก) ส่วนใหญ่ไม่รู้จักบีอาร์เอ็น แต่เชื่อว่าก่อเหตุรุนแรงแล้วได้บุญ จึงเป็นเงื่อนไขทางศาสนา ฉะนั้นหากจะคุยกับระดับบน ต้องคุยเรื่องปฏิวัติ แต่ถ้าคุยกับระดับล่าง (อาร์เคเค / แนวร่วม) ต้องคุยเรื่องศาสนา แต่ต้องให้คนมลายูมุสลิมไปคุย มิฉะนั้นจะไม่ได้รับความเชื่อถือ
"การเจรจาต้องทำกับทุกกลุ่ม และแก้ปัญหาทุกส่วนไปพร้อมๆ กัน" พล.อ.สำเร็จ ระบุ
ขณะที่ นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการสันติวิธี อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. กล่าวว่า เคยพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐหลายกลุ่ม เห็นว่ารัฐไทยยังทำเล่นๆ ไม่จริงจัง ถ้ารัฐบาลเดินหน้าเรื่องการพูดคุยเจรจาอย่างเข้มแข็ง จะเป็นการส่งสัญญาณถึงกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มในพื้นที่ได้ทันที ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือบีอาร์เอ็น จะเห็นได้ว่ามีโรดแมพการเจรจาชัดเจน มีก๊อก 1 ก๊อก 2 ก๊อก 3 เมื่อเสนอข้อเรียกร้องผ่านโต๊ะเจรจาแล้วไม่ได้รับการสนองตอบ ก็เสนอข้อเรียกร้องผ่านยูทิวบ์ หลังจากนี้ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรต่อไปอีก
นายอัฮหมัดสมบูรณ์ ยังเห็นว่า การที่บางหน่วยงานในพื้นที่ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนรายวัน เพื่อไปขอคำตอบจากประชาชนว่าเอาหรือไม่เอากับข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นนั้น ถามว่าจะทำไปทำไม เพราะไม่เป็นผลดีกับกระบวนการสันติภาพ อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐไทยควรทำแต่ไม่ทำคือเรื่องประวัติศาสตร์ ทั้งๆ ที่เรื่องประวัติศาสตร์นี้ ไม่ว่าจะพูดที่ไหน เมื่อไรก็สามารถปลุกได้ทันที แต่รัฐไทยกลับปกปิดบิดเบือนประวัติศาสตร์ และไม่ยอมหยิบยกขึ้นมาพูดเลย
ระวัง "เรียกร้องโดยไม่ใช้อาวุธ"
พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง นักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกฝ่ายสนใจแค่กลุ่มติดอาวุธ แต่สิ่งที่ไม่เคยสนใจกันเลยคือการเรียกร้องที่ไม่ใช้อาวุธ ซึ่งการเรียกร้องในสังคมที่มีพลังเพียงพอก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน ทั้งปฏิวัติ (เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง) และปฏิรูป (เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารต่างๆ) ขณะที่การติดอาวุธเป็นแค่การสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเรียกร้องในลำดับต่อมาเท่านั้น
"ตั้งแต่ปี 2547 รัฐบาลไม่เคยมีความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกับภาคใต้ ได้แต่ส่งทหารลงไปยันสถานการณ์เอาไว้เท่านั้น เรามองปัญหาการติดอาวุธเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้ไปดูการใส่ชุดความคิดบางอย่างแก่เยาวชนในพื้นที่เลย และเยาวชนที่มีชุดความคิดดังกล่าวนี้ก็เคลื่อนไหวทั้งในและนอกประเทศ"
พ.อ.ดร.ธีรนันท์ กล่าวอีกว่า การเจรจาเป็นการเปิดประตูที่ดี เพราะทุกความขัดแย้งจบลงด้วยการเจรจา แต่ครั้งนี้เชื่อว่าไม่มีบทสรุปแบบ "วิน-วิน" แต่ผลจะออกมาอย่างไรขึ้นกับบทบาทของรัฐไทยซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรอพิสูจน์
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือข้อเสนอสำเร็จรูปอื่นๆ นั้น พ.อ.ดร.ธีรนันท์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของคนเสียงดังพูด เช่น นักวิชาการบางคน หรือนักการเมืองท้องถิ่นบางกลุ่ม แต่เชื่อว่าชาวบ้านสนใจเรื่องนี้น้อยมาก เพราะประชาชนสนใจเรื่องคุณภาพชีวิตมากกว่า
"ข้อเสนอพวกนี้ไปไกลเนื่องจากคนบางคนมีชุดความคิดรออยู่แล้ว อาจจะเพราะมองเห็นประโยชน์จากสิ่งที่จะเกิดขึ้น จึงวาดภาพเบ็ดเสร็จแทนคนที่เหลือ ทั้งๆ ที่ควรทำวิจัยในแบบที่ได้รับการยอมรับเสียก่อนว่าประชาชนในพื้นที่จริงๆ แล้วต้องการอะไรแน่ ถ้าไม่ทำก็จะเป็นช่องทางให้คนเสียงดังพูดต่อไป"
------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพบรรยากาศการเสวนา โดยศูนย์ภาพเนชั่น