- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- เปิดตัวคณะพูดคุยดับไฟใต้ชุดใหม่ เปิดทางแก้กฎหมายเพื่อบรรลุข้อตกลงสันติสุข
เปิดตัวคณะพูดคุยดับไฟใต้ชุดใหม่ เปิดทางแก้กฎหมายเพื่อบรรลุข้อตกลงสันติสุข
หัวหน้าคณะพุดคุยดับไฟใต้ชุดใหม่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ไม่สนสถานการณ์รุนแรงที่ชายแดนใต้ซึ่งเพิ่งมีระเบิดคาร์บอมบ์ โดยได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐตามกำหนดการเดิม เมื่อวันพุธที่ 9 ม.ค.62 ไม่เปลี่ยนแปลง
การแถลงข่าวและรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชนไทย สื่อต่างประเทศ และภาคประชาสังคม จัดขึ้นที่หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หลังจาก พล.อ.อุดมชัย ปักหมุดดีเดย์เริ่มกระบวนการพูดคุยฯรอบใหม่เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวาระ 15 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนพอดี
บรรยากาศการแถลงข่าวเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนทุกศาสนาเข้าร่วมรับฟังจนเต็มห้องประชุม ทั้งพระภิกษุ ชาวบ้านไทยพุทธ ผู้นำศาสนาอิสลาม และพี่น้องมุสลิม โดยคณะพูดคุยฯ นำโดย พล.อ.อุดมชัย ได้ขึ้นเวทีเพื่อเปิดตัวผู้แทนในคณะพูดคุยฯเป็นครั้งแรก ซึ่งมีการแต่งตั้งใหม่ทั้งหมด และมี พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นเลขานุการคณะพูดคุย
ผู้ที่ขึ้นเวทีเพื่อชี้แจงทิศทางของกระบวนการพูดคุยฯ ประกอบด้วย นายธวัชชัย ฤทธากรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่ง พล.ท.บรรพต พูลเพียร ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามสถานการณ์ กอ.รมน. นายฉัตรชัย บางชวด ผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นางสาววันรพี ขาวสะอาด นักวิชาการยุติธรรม ชำนาญการพิเศษกระทรวงยุติธรรม และ พล.ต.เกรียงไกร
พล.อ.อุดมชัย กล่าวตอนหนึ่งซึ่งถือเป็นหลักการของกระบวนการพูดคุยฯรอบนี้ว่า "เราไม่ได้บังคับใครเข้ามาคุย เราจะเชิญตามกระบวนการเพื่อมาคุยและให้ตกผลึกที่สุด คำตอบจะออกมาเป็นอย่างไร ก็จะมานำมาพูดคุยกับทุกกลุ่มทุกฝ่ายทั้งหมด"
ส่วนรูปแบบวิธีการพูดคุยฯนั้น พล.อ.อุดมชัย บอกว่า "มีทั้งไม่เป็นทางการและเป็นทางการ เราจะมีการแยกคุยเป็นกลุ่มทั้งในประเทศ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในต่างประเทศ โดยจะเชิญทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อยุติความรุนแรง"
การนำพากระบวนการพูดคุยฯสู่เป้าหมาย นับว่าน่าสนใจ
"แม้สุดท้ายที่เราคุยกันแล้วได้ข้อตกลงว่าจะต้องมีการแก้กฎหมาย เราก็จะแก้กฎหมาย ตอนนี้การพูดคุยก็ได้เป็นวาระแห่งชาติแล้ว ก็อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วม" พล.อ.อุดมชัย กล่าว
ส่วนเสียงจากภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมรับฟัง เริ่มจาก นางบุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มเยาวชนนอกระบบบ้านบุญเต็ม กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ หลังจากเพิ่งเกิดเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ไปเมื่อวาน ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องบอกว่าปัญหาความปลอดภัยและเรื่องพื้นที่ปลอดภัยเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่สุด พร้อมๆ กับการเร่งขยายการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การพูดคุยประสบความสำเร็จ
"เรื่องที่มีความสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยในชีวิตของพี่น้องไทยพุทธและมุสลิม โดยเฉพาะไทยพุทธที่อยู่ในพื้นที่รอบนอกคือเป้าหมายอ่อนแอ" บุษยมาส กล่าว และว่า
"ปัญหาปากท้องคือปัญหาสำคัญที่สดที่ทำให้คนส่วนหนึ่งไม่ได้สนใจประเด็นสันติภาพเท่าที่ควร สนใจแค่ว่าราคายางกิโลละเท่าไหร่ จะกินอะไร พรุ่งนี้จะมีงานทำไหม ครอบครัวจะตกงานเมื่อไหร่ อันนี้ประเด็นที่ยิ่งใหญ่ ประเด็นปากท้องเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในพื้นที่ กระบวนการสันติภาพจะขับเคลือนไปได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากคนทุกภาคส่วน แม้กระทั่งแม่ค้าขายปลา แต่ทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยสนใจประเด็นสันติภาพน้อยมาก เพราะคิดแค่ว่าพรุ่งนี้จะขายของได้ไหม เศรษฐกิจจะแย่ไหม สถานการณ์เป็นอย่างไร เขาคาดหวังน้อยมากในการพูดคุย"
ในความเห็นของบุษยมาส คณะพูดคุยฯต้องเร่งสร้างศรัทธา
"ขอให้คณะพูดคุยฯเรียกความศรัทธากลับมา โดยเฉพาะในเรื่องของการเคลื่อนไหวว่ากำลังทำอะไรกัน กำลังจะคุยกับปาร์ตี้ B (ผู้เห็นต่างจากรัฐ) แบบไหน กำลังจะส่งสัญญาณกับพวกเราซึ่งเป็นพลเมืองในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่เราคาดหวัง และต้องการคำตอบอย่างชัดเจน"
ขณะที่ รักชาติ สุวรรณ ตัวแทนเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกับพลเรือนในพื้นที่ในระหว่างที่มีการพูดคุยฯ คือโจทย์ใหญ่ว่าจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร และการพูดคุยนั้น ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญรับฟังคนในพื้นที่ด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่จะคุยกับแกนนำขบวนการหรือผู้ก่อการ
"การดึงกลุ่มบีอาร์เอ็นเข้ามาร่วม น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี เข้าใจว่าน่าจะมีการประสานงานกันอยู่ แต่ถ้าดูจากคลิปล่าสุดที่ออกมาในนามบีอาร์เอ็น (ช่วงครบรอบ 15 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน) มีท่าทีปฏิเสธ ไม่ร่วมกับสยาม นี่จึงเป็นการบ้านอีกข้อหนึ่ง เป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่คณะพูดคุยฯต้องแก้ไข" รักชาติ กล่าว
ผู้นำศาสนาอิสลามรายหนึ่ง ไม่ขอออกนาม บอกว่า การพูดคุยไม่จำเป็นต้องคุยกับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ หรือคนขบวนเท่านั้น แต่จะต้องคุยกับทุกคนทุกภาคส่วนในพื้นที่ พร้อมๆ กับการพัฒนา ต้องช่วยกันทำให้พื้นที่ดีขึ้น ทั้งเศรษฐกิจและสังคม ชาวบ้านต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าปัจจุบัน
"ต้องคุยทุกกลุ่ม ต้องแก้ปัญหาทุกอย่าง ทั้งยาเสพติด อิทธิพล คอร์รัปชั่น ทุกวันนี้รัฐให้งบมา 6 บาท ถึงประชาชนแค่ 2 บาท ที่เหลือช่วยกันกิน ต้องคุยกับคนเหล่านี้ด้วย"
สิ่งสำคัญที่ทุกคนเรียกร้องตรงกันก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุย เกื้อหนุนต่อกระบวนการสันติภาพ จึงควรลดระดับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพให้น้อยลง เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการพูดคุยเจรจาอย่างแท้จริง