- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- เปิดฉากสัมมนาอิสลามนานาชาติ ระดมปราชญ์ศาสนาถกปมสันติสุข-พหุวัฒนธรรม
เปิดฉากสัมมนาอิสลามนานาชาติ ระดมปราชญ์ศาสนาถกปมสันติสุข-พหุวัฒนธรรม
ระหว่างวันจันทร์ที่ 24 ถึงวันพุธที่ 26 ก.ค.60 จะมีกิจกรรมสำคัญที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คืองานสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติครั้งที่ 4 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
การสัมมนาเที่ยวนี้ใช้ชื่อหัวข้อว่า "การศึกษาอิสลาม: พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข" (Islamic Education as a Driving Force for a Peaceful Coexistence and Development) ซึ่งนับเป็นหัวข้อที่สอดคล้องกับทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งในระดับโลก และในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
งานจะจัดขึ้นที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา (วอศ.) ม.อ.ปัตตานี โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา และมีนักวิชาการ ผู้บริหารประเทศ ตลอดจนปราชญ์มุสลิมจาก 40 ประเทศทั่วโลกมาร่วมระดมสมองและแสดงความคิดเห็น
การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 8 ปี โดย รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี ม.อ. กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป็นพลวัตที่ต่อยอดมาจากการจัดสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2553 มีนักวิชาการด้านอิสลามศึกษาจาก 16 ประเทศเข้าร่วม และได้พร้อมใจกันกําหนด "ปฏิญญาปัตตานี" หรือ Fatoni Declaration มีสาระสําคัญคือ ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาคีในการพัฒนาการศึกษาอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับให้มีคุณภาพ สามารถเป็นฐานในการประกอบอาชีพและพัฒนาสังคมให้มีความสันติสุข
ขณะที่การสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อปี 2556 มีข้อเสนอให้ยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยอิสลามศึกษาให้ก้าวหน้าสู่นานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนมุสลิม และสร้างสังคมสันติสุข สมานฉันท์ที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติครั้งที่ 3 เมื่อปี 2558 ได้กําหนดให้วิทยาลัยอิสลามศึกษาเป็นสถาบันที่พร้อมในการให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน ทั้งระดับนักเรียน นักศึกษา บัณฑิต รวมทั้งคณาจารย์ต่างๆ เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถเข้าใจถึงวิถีของอิสลามสายกลาง สามารถไตร่ตรองสิ่งต่างๆ เพื่อยับยั้งสิ่งที่ไม่ดี จนสามารถสร้างความสงบร่มเย็นแก่ชุมชนได้
จากผลของการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี จึงได้นำแนวคิด หลักการ และวิธีการต่างๆ ต่อยอดจัดโครงการการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติครั้งที่ 4 ในหัวข้อ "การศึกษาอิสลาม: พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข" เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัย และการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ บุคลากร ตลอดจนนักศึกษา เพื่อเป็นเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ระหว่างนักวิชาการด้านอิสลามศึกษาและผู้นําทางศาสนาอิสลาม เพื่อสร้างเครือข่ายทางด้านอิสลามศึกษาในระดับอาเซียนและระดับโลก และเพื่อให้สังคมได้ตระหนักในคุณค่าของอิสลาม ชี้นําให้ประชาชาติมีความสามัคคีปรองดองและสมานฉันท์ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม
ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาผู้อํานวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ขยายความว่า การจัดสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติครั้งที่ 3 เมื่อปี 2558 นักวิชาการมุสลิมโลก รวม 500 คน จาก 25 ประเทศ ได้เปิดประเด็น "ค่านิยมอิสลามในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง" โดยผลจากการสัมมนาในครั้งนั้นทําให้เกิดการอภิปรายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมอิสลาม และกลั่นกรองเอาประสบการณ์การนําค่านิยมเหล่านี้ไปใช้ในชุมชนมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมที่แตกต่างกันทั่วโลก สร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสันติภาพและความสงบสุขในชุมชนที่หลากหลาย พร้อมทั้งหลักกฎหมายอิสลามด้านดุลยภาพ ความเป็นเลิศ และความพอดี (สายกลาง) ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มน้อยในสังคม ซึ่งนําไปสู่การความร่วมมือกันอย่างดีและจริงจังระหว่างรัฐบาล สถาบันการศึกษา ปัญญาชน องค์กรการกุศล นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ และนักคิดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโลก และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในปัจจุบัน
ผลจากการสัมมนาทั้ง 3 ครั้ง นอกเหนือจากการมี "ปฏิญญาปัตตานี" และออกแถลงการณ์ของการสัมมนาแล้ว ยังได้จัดตั้งโรงเรียนสาธิตอิสลามศึกษา ม.อ. มุ่งจัดการเรียนการสอนที่เน้นความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์บูรณาการอิสลาม ให้ความสําคัญในการพัฒนาคุณธรรมนักเรียนเพื่อการเป็นมุสลิมที่ดี ยึดปฏิบัติตาม ดุลยภาพอิสลาม มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนาภาษาอาหรับเพื่ออิสลามศึกษา ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนามาตรฐานภาษาอาหรับของนักเรียนอิสลามศึกษาในประเทศไทย
นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานอิสลามศึกษา (ISCC) ซึ่งเป็นคณะทํางานเพื่อกําหนดทิศทางของการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ, โครงการเครือข่ายอิสลามศึกษานานาชาติ (International Islamic Studies Network – IISN) เพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรระหว่างมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยในประเทศตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน บรูไน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านอิสลาม (ATSDC) การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการจัดการข้อมูลอิสลาม (iCentre) เพื่อเป็นศูนย์ในการจัดระบบ ผ่านกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการอิสลามศึกษา และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงบริการได้
ที่สำคัญยังมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยประยุกต์หลักการสายกลาง (วะสะฎิยะฮ) ในสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อศึกษาวิจัยหลักการสายกลางสสำหรับประยุกต์ใช้ในสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อนําไปสู่แนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความเคารพ ให้เกียรติ และยอมรับในความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ทั้งยังมีโครงการวิสาหกิจเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (SEED) เป็นกิจการเพื่อสังคมในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบองค์รวมที่มีความมั่นคงและยั่งยืน โดยยึดหลักการทํางานร่วมระหว่างสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษากับชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ และรับผิดชอบ ในฐานะเป็นหุ้นส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง
สำหรับการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 4 ที่กำลังจะเปิดฉากขึ้น ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อํานวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี บอกว่า มีประเทศที่ตอบรับการเข้าร่วมสัมมนามาแล้ว 37 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย บาห์เรน บรูไน อียิปต์ อังกฤษ กินี อินเดีย อินโดนีเซีย อิรัก ญี่ปุ่น จอร์แดน คูเวต ลาว ไลบีเรีย ลิเบีย จีน มาซิโดเนีย มาเลเซีย มัลดีฟส์ มร็อกโก ไนจีเรีย โอมาน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ กาตาร์ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย ศรีลังกา ซูดาน ติมอร์-เลสเต ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยูกันดา ยูเครน สหรัฐอเมริกา เยเมน และไทย
ระหว่างการสัมมนาจะมีการนําเสนอผลงานวิจัย บทความวิชาการจากนักวิชาการด้านอิสลามทั่วโลกกว่า 40 บทความที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
"เราพยายามแปลงงานวิชาการมาปฏิบัติให้ได้ เราพยายามมองพื้นที่ สร้างให้ชาวบ้านยืนด้วยตัวเองได้ เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม การเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายของประชาชน ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องของความไม่เข้าใจ เกิดมาจากข้อมูลที่ได้รับผิดเพี้ยนจากความจริง เช่น การแสดงออกถึงความรุนแรงเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงความเข้มแข็งของศาสนา หรือการฆาตกรรมผู้ไม่ใช่มุสลิมแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ จริงๆ มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่ขาดการคัดกรอง และนี่คือเหตุผลที่เราตั้งศูนย์ข้อมูลอิสลาม ขณะนี้เราพยายามคัดเลือกข้อมูลเข้าสู่โลกออนไลน์" ดร.ยูโซะ ระบุ
ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี บอกด้วยว่า การแก้ปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจนั้น หากแก้ระยะสั้นจะไม่เห็นผล ต้องทำระยะยาว สร้างฐานคิดที่ดีในการสร้างความเข้าใจระหว่างคนในพื้นที่ เราหวังว่าเราจะมีระเบียบแบบแผนของการตีความและการประยุกต์หลักอิสลามเพื่อการตอบโจทย์ปัญหาที่เป็นจริงในบริบทของสังคมที่เป็นจริง
พ.อ.อุทัย รุ่งสังข์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แสดงความเห็นระหว่างการแถลงข่าวว่า "ผมอ่านพระไตรปิฎกไม่จบ แต่ผมยอมไปอ่านอัลกุรอานภาคภาษาไทย จบทั้ง 30 เล่ม เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็อาศัยโต๊ะครูในพื้นที่ช่วยอธิบาย พบว่าไม่มีตอนไหนสอนให้คนทำผิด ทำไม่ดี แต่คนที่ทำไม่ดี มาระเบิด กลับอ้างว่าเขาต่อสู้เพื่อแผ่นดินเกิด เพื่อปัตตานีดารุสลาม เชื่อว่าการสัมนาครั่งนี้ต้องพูดคุยกันประเด็นนี้"
ดูเหมือนมิติความมั่นคงที่ชายแดนใต้ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่มีความหวาดระแวงระหว่างคนพุทธกับมุสลิม อาจเป็นอีกหนึ่งโจทย์ข้อสำคัญที่ถกกันในวงสัมมนารอบนี้
-----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การแถลงข่าวของผู้บริหาร ม.อ.ปัตตานี และวิทยาลัยอิสลามศึกษา เพื่อเชิญชวนประชาชนและผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 4
เรื่อง : เลขา เกลี้ยงเกลา / อับดุลเลาะ หวังหนิ
ภาพ : อับดุลเลาะ หวังหนิ