- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- ประณามคาร์บอมบ์บิ๊กซี เข้าข่าย"อาชญากรรมมนุษยชาติ"
ประณามคาร์บอมบ์บิ๊กซี เข้าข่าย"อาชญากรรมมนุษยชาติ"
ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ออกแถลงการณ์หัวข้อ "ผู้ก่อความไม่สงบวางระเบิดห้างสรรพสินค้าในภาคใต้ พุ่งเป้าโจมตีพลเรือนซึ่งอาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ"
แถลงการณ์ระบุว่า การวางระเบิดห้างสรรพสินค้าใหญ่สุดในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ซึ่งคาดว่าเป็นผลงานของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดน มีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดความสูญเสียมากสุดต่อพลเรือน การระเบิดขึ้นสองครั้งที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีในตัวเมืองปัตตานี เป็นการใช้ยุทธวิธี "หน่วงเวลาเพื่อกดระเบิดซ้ำ" ซึ่งทางกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนได้ใช้เป็นเวลานานในภูมิภาคที่มีความไม่สงบนี้ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 61 คนรวมทั้งเด็ก
การก่อความไม่สงบโดยพุ่งเป้าโจมตีอย่างจงใจต่อพลเรือนในประเทศไทย อาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 เวลาประมาณ 14.10 น. ได้เกิดเหตุระเบิดขนาดเล็กใกล้กับศูนย์อาหารภายในห้างสรรพสินค้า ส่งผลให้ประชาชนแตกตื่นตกใจวิ่งหนีกันออกมาที่บริเวณลานจอดรถ ไม่นานหลังจากนั้นก็มีการกดระเบิดขนาดใหญ่กว่าที่ซ่อนไว้ในรถกระบะที่จอดไว้อยู่ห่างราว 40-50 เมตรจากตัวอาคารของห้างสรรพสินค้า
"การระเบิดสองครั้งในห้างสรรพสินค้าที่มีประชาชนจำนวนมาก แสดงให้เห็นความทารุณและไม่คำนึงถึงชีวิตพลเรือน" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว และว่า "การโจมตีที่ห้างบิ๊กซีเป็นสัญญาณบ่งบอกความรุนแรงสูงสุดของฝ่ายแบ่งแยกดินแดน เป็นการโจมตีที่พุ่งเป้าไปที่พลเรือน ซึ่งอาจถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รัฐบาลควรนำตัวผู้กระทำผิดทุกคนมาลงโทษ"
นับแต่มีการโจมตีด้วยอาวุธเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังเดือนมกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบจากกลุ่ม Barisan Revolusi Nasional (BRN) ได้กระทำการที่ละเมิดกฎหมายสงครามหลายครั้ง ในบรรดาผู้เสียชีวิตกว่า 6,800 คนในช่วงที่เกิดการขัดกันด้วยอาวุธอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ประมาณ 90% ของคนเหล่านี้เป็นพลเรือนทั้งที่เป็นชาวไทยพุทธและชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู
เมื่อวันที่ 10 เมษายน BRN ออกแถลงการณ์คัดค้านการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอิทธิพลอะไรแล้วเป็นเครือข่ายหลวมๆ ของกลุ่มมารา ปาตานี (Majlis Syura Patani) โดยเป็นการเจรจาที่มีมาเลเซียเป็นตัวกลาง
"กฎหมายสงคราม" หรือที่เรียกว่า "กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ" ห้ามการโจมตีต่อพลเรือน หรือการโจมตีที่ไม่แยกแยะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับพลเรือน ข้ออ้างของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ว่า การโจมตีต่อพลเรือนชอบด้วยกฎหมาย เพราะพลเรือนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐพุทธไทย หรือเป็นเพราะกฎหมายอิสลามที่พวกเขาตีความ อนุญาตให้กระทำการโจมตีดังกล่าวได้ ข้ออ้างเช่นนี้ไม่ชอบธรรมตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายสงครามยังห้ามการโจมตีเพื่อแก้แค้นและการสังหารแบบรวบรัดต่อพลเรือนและกองกำลังที่ถูกจับกุมตัวได้ ห้ามการทำลายซากศพ และห้ามการโจมตีที่พุ่งเป้าต่ออาคารสถานที่ของพลเรือน รวมทั้งโรงเรียน
อาชญากรรมต่อมนุษยชาติครอบคลุมถึงความผิดอาญาบางประเภท ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางหรือเป็นระบบ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ "การโจมตีต่อประชากรที่เป็นพลเรือน" กล่าวคือต้องเป็นการโจมตีที่เกิดขึ้นจากการวางแผนหรือการมีนโยบายให้กระทำเช่นนั้นในระดับหนึ่ง การกระทำเช่นนั้นรวมถึงการสังหารและ "การกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมที่มีพฤติการณ์แบบเดียวกัน โดยมุ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างใหญ่หลวง หรือการบาดเจ็บสาหัสต่อร่างกาย หรือต่อสุขภาพทางใจหรือทางกาย"
กฎหมายระหว่างประเทศคุ้มครองประชากรที่เป็นพลเรือน "ทุกกลุ่ม" จากการโจมตีเช่นนี้ โดยไม่คำนึงว่าประชากรที่ตกเป็นเหยื่อนั้นจะมีส่วนเชื่อมโยงกับคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการขัดกันด้วยอาวุธหรือไม่ก็ตาม ความรับผิดต่อการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะผู้ซึ่งกระทำการดังกล่าวเท่านั้น หากยังครอบคลุมถึงผู้สั่งการ ช่วยเหลือ หรือมีส่วนร่วมในทางใดทางหนึ่งต่อการกระทำผิดนั้น ตามหลักความรับผิดชอบของการบังคับบัญชา ผู้นำรัฐบาลหรือผู้นำกลุ่มติดอาวุธก็อาจต้องรับผิดทางอาญาต่อการกระทำที่เกิดขึ้นโดยผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา กรณีที่ผู้นำเหล่านั้นรู้ หรือควรรู้ว่าจะมีการก่อความผิดดังกล่าวขึ้น แต่กลับไม่ดำเนินมาตรการที่ชอบด้วยเหตุผลเพื่อหยุดยั้งการกระทำดังกล่าว
แม้ว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องประสบกับความเสียหายครั้งใหญ่จากการโจมตีกวาดล้างของกองกำลังฝ่ายรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่คนกลุ่มนี้ยังคงกระจายอยู่ในหมู่บ้านชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูหลายร้อยแห่ง กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมักอ้างถึงยุทธวิธีที่มิชอบและรุนแรงของกองกำลังของรัฐบาลเพื่อจูงใจให้มีบุคคลเข้าร่วมกลุ่มของตนเพิ่มขึ้น และเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่รุนแรงของตน
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังคงกังวลอย่างยิ่งกับการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และกฎหมายสงคราม ทั้งของฝ่ายกองกำลังของรัฐบาลไทยและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ การสังหาร การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการทรมาน ไม่อาจถือว่าเป็นการตอบโต้ที่ชอบธรรมต่อการโจมตีของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ต่อพลเรือนชาวพุทธไทยและต่อกองกำลังของรัฐบาล สถานการณ์นี้เลวร้ายยิ่งขึ้น เนื่องจากวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่หยั่งรากลึก หลังการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในจังหวัดชายแดนใต้ จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รายใดที่ปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบได้เลย
"รัฐบาลไทยต้องตอบโต้กับการโจมตีที่โหดร้ายนี้ด้วยการยึดมั่นตามหลักนิติธรรม ด้วยการยุติการปฏิบัติมิชอบในบรรดากองกำลังของรัฐบาลเอง และแก้ปัญหาความอึดอัดคับข้องใจที่มีมาอย่างยาวนาน ในบรรดาชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายู" แบรด อดัมส์ กล่าว และว่า "หากรัฐบาลยังคงปกป้องไม่ให้กองกำลังของตนต้องรับผิดทางอาญาต่อไป ก็จะยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับความรุนแรงของกลุ่มที่สุดโต่ง"
----------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
คาร์บอมบ์ห้างบิ๊กซีปัตตานี! เจ็บนับสิบ
พบเบาะแสรถคาร์บอมบ์บิ๊กซีปัตตานี ยอดเจ็บพุ่งครึ่งร้อย!
ย้อนเหตุบึ้ม "บิ๊กซี ปัตตานี" เคยเกิดแล้ว 2 ครั้ง
ยูนิเซฟประณามผู้ก่อเหตุบึ้มบิ๊กซี ปัตตานี
มหัศจรรย์ชายแดนใต้...สารพัดเหตุรุนแรง แต่แข่งกันเปิดห้าง!
ลูกที่ 52! คาร์บอมบ์บิ๊กซี เปิดยุทธวิธีคนร้ายชิงรถก่อนบึ้ม
แก๊งคาร์บอมบ์บิ๊กซีโยงทีมบึ้ม 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน
เยาวชน-ชาวบ้านรุมต้านความรุนแรง ห้างฯปัตตานียังคึก