องค์การอนามัยโลก ชี้ เพิ่มภาษีบุหรี่ ช่วยลดอัตรานักสูบลงได้
องค์การอนามัยโลก ชี้เพิ่มภาษีบุหรี่ ช่วยลดอัตรานักสูบลง ด้านสาธารณสุขออสเตรเลีย เผย 20ปี นักสูบลด 50% ระบุความเข้มงวดในการควบคุมหนึ่งในมาตรการได้ผล
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวอัลจาซีร่าได้เผยรายงานของสถาบันสาธารณสุขออสเตรเลีย (AIHW) ซึ่งระบุว่าการเพิ่มราคาบุหรี่มีส่วนช่วยให้อัตราการสูบหรี่ในประเทศลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในช่วงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อัตราการสูบบุหรี่ในประเทศลดลงมากถึง 50% ซึ่งจากการสำรวจยังพบว่าปัจจุบันมีชาวออสเตรเลียเพียง 13% เท่านั้นที่ยังสูบบุหรี่ทุกวัน และอัตรานักสูบหน้าใหม่ก็เพิ่มขึ้นในจำนวนไม่มาก
รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงในออสเตรเลียนั่นคือการเพิ่มภาษีบุหรี่ มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ และความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่
ขณะที่เว็ปไซต์อัลจาซีร่า รายงานด้วยว่า อีกด้านหนึ่งของมาตรการเพิ่มภาษีบุหรี่คือการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ผิดกฎหมายมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งในรายงานของ องค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุว่าปัญหาดังกล่าวไม่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง แต่จะเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งยังมีมาตรการควบคุมที่ต่ำ ขณะเดียวกันพบว่าจำนวนนักสูบทั่วโลกกว่า 80% อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง
ด้านรายงานของ WHO ระบุว่า ภัยจากบุหรี่ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพในกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่รุนแรง โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ราว 7 ล้านคนต่อปี ซึ่งหลายประเทศเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวและได้เพิ่มมาตรการเพื่อลดความสูญเสียดังกล่าว และการเพิ่มภาษีบุหรี่ก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่ได้ผล แต่ถึงอย่างนั้นก็มีนักสูบเพียง 10% เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในประเทศซึ่งเพิ่มมาตรการทางภาษีนี้
ด้านประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศรายได้ปานกลางที่มีมาตรการทางกฎหมายและภาษีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ก้าวหน้าแห่งหนึ่ง โดยเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ก็เพิ่งประกาศบังคับใช้ โดยกำหนดอัตราขั้นต่ำ ห้ามขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20ปี
อ่านประกอบ
ประกาศแล้ว! กม.ควบคุมยาสูบ ห้ามแบ่งขายบุหรี่เป็นมวน ฝ่าฝืนมีโทษ
นักวิชาการเผยคนไทยเสี่ยงโรคร้ายจากควันบุหรี่มือสอง 12ล้านคน
ผู้แทน WHO ชี้บุหรี่คร่าชีวิตคนทั่วโลก 2 หมื่นคน/วัน เทียบเท่ามีเครื่องบินตกทุกนาที