องค์การอนามัยโลก เรียกร้องทุกประเทศขึ้นภาษีบุหรี่
ผู้แทนองค์การอนามัยโลกฯ เปิดตัวเลขบุหรี่คร่าชีวิตคนทั่วโลปีละกว่า 6 ล้านคน มากกว่า 6 แสนคน ตายเพราะบุหรี่มือสอง คาดไม่ทำอะไรเลย อีก 20 ปีข้างหน้า ยอดพุ่งถึง 8 ล้านคน/ปี
วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดการแถลงข่าวเรื่อง “บุหรี่ : ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2557 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยปีละ 50,710 คน ซึ่งเป็นสาเหตุของภาระโรคอับดับที่สองของคนไทย
“นอกจากบุหรี่ทำให้คนเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร และมีค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยหนักแล้ว ยังพบว่าการสูบบุหรี่ทำให้รัฐเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยถึง 52,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5 % ของ GDP"
ด้านดร.โยนัส เทเก้น ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (Dr.Yonas Tegegn, The WHO Representative to Thailand) กล่าวว่า การบริโภคยาสูบของประชากรโลกทำให้ผู้คนเสียชีวิตประมาณ 6 ล้านคนต่อปี และมากกว่า 6 แสนคน เสียชีวิตเพราะได้รับควันบุหรี่มือสอง อย่างไรก็ตามหากหน่วยงานต่างๆ ไม่มีมาตรการหรือละเลยในเรื่องนี้ ในอีก 20 ปีข้างหน้า อาจจะมีคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่สูงถึง 8 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 จะเป็นประชากรที่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง
ด้าน รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง ผลการวิจัยที่ศึกษาถึงทิศทางระบบภาษีและราคายาสูบในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียจะวันออกเฉียงใต้ บทเรียนสำหรับประเทศไทยว่า การที่ประเทศไทยกำหนดราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแลตสูงสุด ทำให้บริษัทบุหรี่แจ้งราคาเท็จที่ต่ำกว่าความจริงในการประเมินภาษี หรือนำเข้าบุหรี่ที่มีต้นทุนต่ำเข้ามาจำหน่าย
จากการศึกษาระบบภาษียาสูบของประเทศในภูมิภาคอาเซียนพบว่า ประเทศอินโดนีเซียใช่วิธีกำหนดราคาขายต่ำสุด ทำให้บริษัทบุหรี่มีแนวโน้มที่จะขายบุหรี่ในราคาที่สูงขึ้นเพื่อเพิ่มกำไร ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่ประเทศไทยใช้นโยบายนโยบายสองเลือกหนึ่ง ซึ่งก็คือการคำนวณภาษีตามราคาต้นทุนที่บริษัทบุหรี่แจ้ง หรือคำนวณภาษีตามสภาพ คือ น้ำหนักมวนบุหรี่ หากวิธีการคำนวณไหนมีมูลค่ามากกว่า ก็ให้เก็บตามวิธีนั้น
“ประเทศไทยควรมีระบบในการปรับค่าอัตราภาษีตามสภาพเป็นระยะๆ ทุก 2 ปี และมีการตรวจสอบความถูกต้องของราคาต้นทุนที่บริษัทบุหรี่แจ้ง เพื่อประเมินภาษีอยู่เสมอ” รศ.ดร.อิศรา กล่าว
ขณะที่ ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฎ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการบริโภคยาเส้นในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหา เพราะทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการบริโภคยาสูบ เกือบครึ่งหนึ่งของความสูญเสียทั้งหมดจำนวน 6 หมื่นล้านบาท
ในขณะที่มาตรการการเก็บภาษียาเส้นที่การบริโภคเป็นบุหรี่มวนเองไม่เคยถูกนำมาใช้ จนกระทั่งปี่ พ.ศ.2555 ได้มีการปรับขึ้นจากอัตรา 1 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 10 บาทต่อกิโลกรัมต่อมาพบว่า การปรับค่าอัตราภาษีดังกล่าวนั้นผู้บริโภคลดจำนวนการสูบบุหรี่มวนลงกว่า 1 ล้านคนคือ จากผู้บริโภคบุหรี่มวนเอง 5.3 ล้านคนต่อปีในปี 2554 ลดเป็น 3.6 ล้านคนในปี 2556 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการร่วมกันออกมาตรการทั้งของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ในส่วนการดำเนินมาตรการด้านภาษีเพื่อสุขภาพ ดร.ศิริวรรณ กล่าว่า ควรปรับปรุงภาษีกับผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท รวมถึงยาเส้นโดยปรับขึ้นทั้งอัตราตามสภาพและอัตรตามปริมาณ เพื่อลดการเปลี่ยนประเภทไปบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ราคาถูกกว่า
“รัฐบาลควรนำยาสูบพันธุ์พื้นเมืองเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเร่งด่วน โดยให้ผู้ประกอบการยาเส้นเป็นผู้เสียภาษี ไม่ใช่เกษตรกรเป็นผู้รับภาระ” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้ฯ กล่าว
ทั้งนี้ ดร.โยนัส กล่าวทิ้งท้ายงานแถลงข่าวในครั้งนี้ว่า เนื่องจากวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งในปี 2557 WHO ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเปิดตัวแคมเปญ Raise taxes on tobacco หรือภาษาไทยว่า “บุหรี่ : ภาษียิ่งเพิ่มคนตายยิ่งลด” โดยนโยบายดังกล่าวจะเชิญชวนให้นานาประเทศทั่วโลกเรียกร้องให้รัฐบาลของตนเองขึ้นภาษียาสูบให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดการสูบบุหรี่และลดการสูญเสียจากการสูบบุหรี่