- Home
- Isranews
- เรื่องเด่น - สำนักข่าวอิศรา
- ไร้หลักเกณฑ์เลือก-ไม่ได้คำนึงความต้องการ! สตง.จี้ทบทวนโครงการน้ำบาดาล ร.ร.
ไร้หลักเกณฑ์เลือก-ไม่ได้คำนึงความต้องการ! สตง.จี้ทบทวนโครงการน้ำบาดาล ร.ร.
เผยเหตุผลสำคัญ สตง. สอบโครงการน้ำบาดาลโรงเรียนทั่วประเทศ 4 พันล้าน พบไร้หลักเกณฑ์การคัดเลือก-ออกแบบไม่ได้คำนึงความต้องการ ขาดการติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ จี้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลทบทวนดำเนินการ
จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สรุปผลการตรวจสอบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค จำนวน 3,178 แห่ง วงเงินกว่า 4,003 ล้านบาท พบปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นบางโรงเรียนไม่ได้ขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง บางโรงเรียนขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เบื้องต้นพบสูญเสียโอกาสในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินไปแล้วกว่า 59 ล้านบาทนั้น
(อ่านประกอบ : งบทำน้ำบาดาลดื่มได้ ร.ร. 4 พันล.ไม่คุ้มค่า! สตง.ชี้สูญเปล่าแล้ว 59 ล.)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวตามผลสรุปของ สตง. คือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลไม่ได้กำหนดแนวทางการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการตามลำดับความรุนแรงของสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การจัดทำโครงการไม่ได้กำหนดให้มีกิจกรรมสำรวจ และคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ ทำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต (สทบ.) ต่าง ๆ ขาดการสำรวจสภาพแหล่งน้ำ และสภาพปัญหาขาดแคลนน้ำของโรงเรียนอย่างจริงจัง รวมทั้งการออกแบบโครงการไม่ได้คำนึงถึงความต้องการ และความพร้อมของโรงเรียนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่ม ตลอดจนขาดการติดตามประเมินผลโครงการที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขาดการประสานงานร่วมกันในการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ และไม่มีการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเมื่อปี 2552 ให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
ทั้งนี้ สตง. มีข้อเสนอแนะไปยังอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เบื้องต้นว่า ให้ทบทวนจำนวนโรงเรียนเป้าหมายที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินการในอนาคต โดยร่วมกับ สพฐ. และหน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการดำเนินการสำรวจโรงเรียนในสังกัดยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อทราบถึงจำนวนและรายชื่อโรงเรียนที่ประสบปัญหา และใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการสำรวจ และคัดเลือเข้าร่วมโครงการตามความรุนแรงของสภาพปัญหาต่อไป
รวมถึงสั่งการให้ สทบ. ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของ สพฐ. หรือหน่วยงานต้นสังกัดร่วมกันพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ โดยนำรายชื่อโรงเรียนมาเรียงลำดับตามสภาพความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนน้ำ นโยบายการยุบรวมโรงเรียนของ สพฐ. รวมถึงความพร้อมและศักยภาพในการบริหารจัดการของโรงเรียนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดังกล่าว ตลอดจนให้ความสำคัญกับแบบสำรวจของโครงการซึ่งมีข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก กรมทรัพยากรน้ำบาดาล