งบทำน้ำบาดาลดื่มได้ ร.ร. 4 พันล.ไม่คุ้มค่า! สตง.ชี้สูญเปล่าแล้ว 59 ล.
สตง. ลุยสอบงบกรมทรัพยากรน้ำบาดลทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลดื่มได้ให้ ร.ร. ทั่วประเทศกว่า 3.1 พันแห่ง วงเงินกว่า 4 พันล้าน เบื้องต้นพบไม่คุ้มค่า ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ น้ำไม่ได้มาตรฐานตาม WHO สูญเปล่าแล้ว 59 ล้าน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2560 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ผลการตรวจสอบการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค
ผลการตรวจสอบของ สตง. ระบุว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวระหว่างปี 2551-2557 ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 4,003 ล้านบาท ดำเนินการให้กับโรงเรียนต่าง ๆ แล้วจำนวน 3,178 แห่ง เหลือโรงเรียนที่ต้องดำเนินการอีก 6,132 แห่ง ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีโรงเรียนบางแห่งที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวไม่ได้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง มีบางแห่งไม่ได้ใช้ประโยชน์จากระบบบาดาลหรือระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ รวมถึงไม่ได้ขยายผลสู่การผลิตน้ำดื่มเพื่อสร้างรายได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ นอกจากนี้มีบางแห่งขาดประสิทธิภาพในการบริหารระบบประปาบาดาล และระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำของโรงเรียน ทำให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสูญเสียโอกาสในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้กับโรงเรียนต่าง ๆ มากกว่า 46 แห่ง เป็นเงิน 59,602,000 บาท การใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการโครงการไม่คุ้มค่า และเกิดความสูญเปล่า ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้โรงเรียนมีน้ำคุณภาพใช้อย่างทั่วถึงในทุกกิจกรรมของโรงเรียน
ทั้งนี้จากการตรวจสอบของ สตง. ระหว่างปี 2551-2556 จำนวน 165 โรงรียน พบว่า มีอย่างน้อย 137 โรงเรียน ไม่เคยตรวจสอบคุณภาพของน้ำดื่มที่ผลิตได้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) หรือไม่ โดยผู้บริหารโรงเรียน และผู้ดูแลระบบส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ และไม่ทราบว่าน้ำดื่มตามมาตรฐาน WHO เป็นอย่างไรด้วย