- Home
- Isranews
- เรื่องเด่น - สำนักข่าวอิศรา
- ไม่เจตนามีอำนาจเหนืออัยการ! ผู้ว่าฯตรัง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งช่วยงานศูนย์ดำรงธรรมทันที
ไม่เจตนามีอำนาจเหนืออัยการ! ผู้ว่าฯตรัง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งช่วยงานศูนย์ดำรงธรรมทันที
ผู้ว่าฯ ตรัง แจง 'อิศรา' ลงนามยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งอัยการเป็นที่ปรึกษาศูนย์ดำรงธรรมทันที หลังทราบข่าว อสส. ชี้ขาดไม่มีอำนาจ ยอมรับอาจมีความผิดพลาดดูกม.ไม่ครบถ้วน แต่ไม่มีเจนตนาเหนือใคร แค่ต้องการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ลดขั้นตอนแก้ไขปัญหาความเดือนร้อน ปชช.เร็วขึ้น
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่า สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ทำหนังสือแจ้งตอบกลับ อธิบดีอัยการภาค 9 เพื่อตอบข้อหารือกรณีมีคำสั่งจังหวัดตรัง ที่ 2706/2559 ลงวันที่ 28 ก.ย.2559 แต่งตั้งอัยการจังหวัดตรัง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตรัง และอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรัง เป็นที่ปรึกษา และให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรังไปปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง เป็นประจำทุกวันพุธ และคำสั่งจังหวัดตรัง 2786/2559 ลงวันที่ 4 ต.ค.2559 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรี ในสำนักงานอัยการจังหวัดตรัง สำนักงานอัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตรัง ซึ่งสำนักอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรัง เห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ไม่มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการ ออกคำสั่งให้ข้าราชการฝ่ายอัยการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว โดยสำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการ หรือสั่งการใดๆ ต่อข้าราชการฝ่ายอัยการนั้น
(อ่านประกอบ : อสส.ยันชัดผู้ว่าฯไม่มีอำนาจสั่งอัยการ! หลังแต่งตั้งให้ช่วยงานศูนย์ดำรงธรรม)
ล่าสุด นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้ ว่า ภายหลังจากทราบข่าวที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอในช่วงค่ำวันที่ 23 มี.ค.2560 ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามยกเลิกคำสั่งจังหวัดตรัง ทั้ง 2 ฉบับทันที และได้ทำหนังสือแจ้ง อัยการจังหวัดตรัง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตรัง และอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดตรัง ให้รับทราบ รวมถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยด้วย เพื่อยุติปัญหาเรื่องนี้
นายศิริพัฒ กล่าวต่อไปว่า ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกคำสั่งจังหวัดตรัง แต่งตั้งอัยการเป็นที่ปรึกษาศูนย์ดำรงธรรม ทางจังหวัดไม่ได้มีเจตนาที่จะมีอำนาจเหนืออัยการ ไปกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่อะไร เจตนาสำคัญ คือ การปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน โดยใช้ช่องทางศูนย์ดำรงธรรมที่ให้ระดมกำลังหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่เข้ามารวม ถ้าอัยการมาช่วยด้วย ก็จะยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้น ไม่ต้องทำงาน 2 ต่อ คือ มีการแจ้งข้อมูลที่ศูนย์ดำรงธรรม แล้วต้องส่งเรื่องไปให้ทางอัยการช่วยดูอีก เป็นการลดขั้นตอนการดำเนินงาน และการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาก็ถือเป็นการให้เกียรติทางอัยการ
"แต่เมื่อทางอัยการมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ขัดกับกฎหมายอะไร ผมก็ไม่ได้ดื้อแพ่งอะไร เมื่อทราบข่าวก็ลงนามยกเลิกคำสั่งเดิมทันที โดยไม่ต้องรอให้ใครแจ้งหนังสืออะไรมา เรื่องก็เป็นอันจบไม่มีอะไร ก็ทำงานกันต่อไปเหมือนเดิม เพราะเราทำงานกันแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่ากันอยู่แล้ว"
เมื่อถามว่า ในประกาศ คสช. เรื่องศูนย์ดำรงธรรม ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอํานาจสั่งการ บังคับบัญชา กํากับ ดูแล บรรดาข้าราชการและพนักงานของรัฐในเขตจังหวัด ยกเว้นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการข้าราชการในสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พนักงานในสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจําจังหวัดและข้าราชการในสํานักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจําจังหวัด (อ่านประกอบ : อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อจว.ตรังฝ่าฝืนประกาศ คสช.ตั้งอัยการช่วยงานศูนย์ดำรงธรรม?)
นายศิริพัฒ ยอมรับว่า การออกคำสั่งของจังหวัดอาจมีความผิดพลาดไป ซึ่งคำสั่งที่ออกไปมีทั้งผู้ว่าฯ คนเก่า และช่วงที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องเสนอมาอาจดูไม่ครบถ้วน ข้อความสำคัญบางประโยคไปฝั่งอยู่ในช่วงท้ายบรรทัด ดูไม่ดี แต่เมื่อมีการท้วงติงมา ผมก็สั่งแก้ไขโดยการยกเลิกคำสั่งทันที
"เรื่องนี้ผมอยากให้มองเจตนาว่าเรามีความตั้งใจในการทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนเป็นหลัก เราเจตนาดีอยากจะให้ขั้นตอนการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาประชาชนรวดเร็วขึ้น ให้ทุกหน่วยงานมาร่วมกันทำงานตามนโยบายรัฐบาล แต่เมื่อมีปัญหาความผิดพลาดเรื่องคำสั่งเกิดขึ้น เราก็แก้ไขปัญหาทันที และก็ถือเป็นเรื่องดี ที่จะสร้างบรรทัดฐานการทำงานให้จังหวัดอื่นๆ ได้รับทราบและปฏิบัติตามด้วย เราถึงได้แจ้งเรื่องให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรับทราบด้วย"
ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ยังระบุด้วยว่า "จากนี้ แม้ว่าการทำงานของศูนย์ดำรงธรรม อาจจะมีกระบวนการที่ช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร เราก็ทำงานกันไป เพิ่มกระบวนการส่วนอื่นให้เร็วขึ้น อัยการที่ทำเรื่องไปหารือก็เป็นเพื่อนของเพื่อนผม ยังทำงานด้วยกันได้ ไม่มีปัญหา อะไรที่เห็นว่าไม่ถูกต้องก็ตัดทิ้งไปเลย ทุกฝ่ายจะได้สบายใจ"
"อยากขอให้สื่อช่วยนำเสนอให้ชัดเจนนะ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพราะเราต้องการเป็นนาย ไปสั่งการใคร แต่เราทำตามนโยบายของรัฐบาล อะไรที่ทำพลาดไป ขอให้ดูที่เจตนาเป็นหลัก อาจเป็นความบกพร่อง ใช้คำผิดไป แต่ไม่เกิดผลเสียหายราชการหรือประชาชน" ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังระบุ