- Home
- Isranews
- เรื่องเด่น - สำนักข่าวอิศรา
- ส่อขัดระเบียบพัสดุฯ! สตง.สอบ 'ม.บูรพา' ทุ่มซื้อบ้านจัดสรร 134ล. - จี้ห้ามเอกชนใช้ชื่อมหา'ลัย
ส่อขัดระเบียบพัสดุฯ! สตง.สอบ 'ม.บูรพา' ทุ่มซื้อบ้านจัดสรร 134ล. - จี้ห้ามเอกชนใช้ชื่อมหา'ลัย
เผย 'สตง.' ลุยสอบปม 'ม.บูรพา' ทุ่มซื้อบ้านจัดสรร 'หมู่บ้านมหาวิทยาลัยบูรพา' 43 หลัง วงเงิน 134 ล้านแล้ว สั่งแจงหยิบรายละเอียดขั้นตอนดำเนินงาน เบื้องต้นพบส่อฝ่าฝืนระเบียบพัสดุฯ จี้ทบทวนกรณีเอกชนนำชื่อมหาวิทยาลัยไปใช้ ส่วนประเด็นการมีส่วนได้เสีย ขีดเส้นส่งรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงภายใน 60 วัน!
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากคนในมหาวิทยาลัยบูรพา ว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2560 บริษัท รัตนอินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของหมู่บ้านจัดสรรรายหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ได้มอบอำนาจให้ทนายความส่วนตัว ทำหนังสือแจ้งเตือนถึง มหาวิทยาลัยบูรพา ให้มาดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ บ้านพร้อมที่ดิน 2 หลัง และชำระเงินค่างวดที่ยังค้างจ่ายอยู่ จำนวน 1,064,185 บาท ภายในวันที่ 27 มี.ค.2560 นี้ หลังจากที่มหาวิทยาลัยได้ตรวจรับงานเสร็จสิ้นไปนานแล้ว แต่ยังไม่มาโอน และจ่ายเงินงวดสุดท้าย โดยทนายความฝ่ายเอกชนระบุชัดเจนว่า หากถึงเวลานัดหมายแล้วทางมหาวิทยาลัยยังไม่ยอมดำเนินการอะไร ทางเอกชนจะดำเนินการตามกฎหมาย คือ ฟ้องบังคับให้มารับโอนบ้าน หรือไม่ก็รับเงินบอกเลิกสัญญาต่อไป เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า มีหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยบูรพา จำนวนกว่า 8 แห่ง ที่ร่วมจัดซื้อด้วย นับรวมจำนวนบ้านทั้งหมด 43 หลัง วงเงินรวมสูงถึง 134,272,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีการจ่ายเงินให้กับบริษัทเอกชนเจ้าของโครงการหมดแล้ว ยกเว้นบ้าน 2 แห่ง ที่มีปัญหาของกองบริหารวิทยาเขตสระแก้ว (อ่านประกอบ : ม.บูรพา ซื้อบ้านจัดสรรเอกชน! โดนโนติสแจ้งชำระค่างวดหลักล้าน, ไขเบื้องหลัง ม.บูรพาฯ โดนโนติสบ้านจัดสรร! 8 หน่วยงานทุ่มซื้อ43หลัง134 ล.)
ขณะที่ รศ.สมนึก ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า มหาวิทยาลัยได้ทราบหนังสือแจ้งเตือนให้ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และจ่ายเงินงวดสุดท้ายค่าที่ดินพร้อมบ้านในพื้นที่ 2 แปลง ดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นกำลังอยู่ในขั้นการดำเนินการสอบข้อเท็จจริง ในเรื่องของระเบียบวินัยตามคำแนะนำของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งจะมีการสรุปผลและรายงานให้ทราบได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการตามขบวนการขั้นตอนเสร็จเรียบร้อยเท่านั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มี.ค.2560 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังนางสุชาดา เภาศรี ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดชลบุรี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ได้รับการยืนยันว่า สตง. ชลบุรี อยู่ระหว่างการตรวจสอบโครงการนี้ โดยเบื้องต้นได้ทำหนังสือให้มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้แจงข้อเท็จจริงหลายประเด็น อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า เหตุผลที่เลือกซื้อบ้านจัดสรรกับเอกชนรายนี้ เพราะมีระยะทางไม่ไกลกับมหาวิทยาลัย และมีราคาถูก ส่วนรายละเอียดทั้งหมดคงต้องรอให้ทางมหาวิทยาลัยชี้แจงอีกครั้ง
ขณะที่ แหล่งข่าวจาก สตง.ชลบุรี ที่รับผิดชอบการตรวจสอบโครงการจัดซื้อบ้านจัดสรรของมหาวิทยาลัยบูรพาดังกล่าว เปิดเผยว่า สตง.ชลบุรี ได้ลงตรวจสอบพื้นที่ในโครงการบ้านจัดสรรดังกล่าว ซึ่งใช้ชื่อว่าหมู่บ้านมหาวิทยาลัยบูรพา เบื้องต้นมีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมถึงชื่อเดียวกับทางมหาวิทยาลัย ขณะที่บ้านในโครงการฯ มีเนื้อที่ 48 แปลง ซึ่งทางมหาวิวิทยาลัยบูรพาได้ซื้อไปทั้งหมด 43 แปลง คิดเป็นอัตราร้อยละ 89.5 ของพื้นที่ ส่วนลักษณะบ้านเป็นบ้านเดี่ยวสองชั้นเกือบทั้งหมดโครงการ
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่เบิกจ่าย พบว่าการจัดซื้อบ้านในโครงการฯ ได้มีการจัดซื้อบ้านทั้งหมด 43 แปลง พบว่ายังไม่มีการใช้ประโยชน์ อีกทั้งการจัดซื้อจัดจ้างก็ไม่ได้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุของมหาวิทยาลัยบูรพา ส่วนหน่วยงานที่เข้าไปจัดซื้อบ้าน ก็มีหลายหน่วยงาน อาทิ คณะโลจิสติกส์ วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ , วิทยาลัยนานาชาติ, วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ เป็นต้น
"ที่ผ่านมาแต่ละคณะหรือหน่วยงาน ได้มีการส่งหนังสือชี้แจงสตง.ถึงเหตุผลในการจัดซื้อที่หลากหลายกันไป อาทิ คณะโลจิสติกส์แจ้งว่าเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ เพื่อเป็นสวัสดิการของบุคลากร วิทยาลัยนานาชาติเพื่อเป็นสวัสดิการของบุคลากร วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่พักและการเดินทางแก่เจ้าหน้าที่ในการประชุมสัมมนา เป็นต้น ส่วนหลักเกณฑ์รายละเอียดการคัดเลือกผู้เข้ามาพักนั้นทาง สตง.อยู่ระหว่างรอคำตอบจากทางมหาวิทยาลัยที่กำลังชี้แจงเข้ามาเพิ่มเติม"
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า ล่าสุด ทาง สตง. ชลบุรี ได้ส่งหนังสือไปยัง ม.บูรพา เพื่อทำการทบทวนเรื่องการให้เอกชนนำชื่อมหาวิทยาลัยไปใช้ ส่วนทางมหาวิทยาลัยจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทเอกชนด้วยหรือไม่อย่างไรนั้น ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและอยู่ระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบชี้แจงมายัง สตง. ชลบุรี ภายในกำหนด 60 วัน