- Home
- Isranews
- EXCLUSIVE:เส้นทางเช็ค26ล.คดีฟอกเงินกู้กรุงไทย ก่อน อัยการ-DSI สั่งไม่ฟ้อง ‘โอ๊ค-แม่เลขาฯพจมาน’
EXCLUSIVE:เส้นทางเช็ค26ล.คดีฟอกเงินกู้กรุงไทย ก่อน อัยการ-DSI สั่งไม่ฟ้อง ‘โอ๊ค-แม่เลขาฯพจมาน’
“...นายพานทองแท้ เคยให้การว่า ซื้อและขายหลักทรัพย์ ผ่านพอร์ตของนางเกศินีฯ มาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายครั้งแรก เมื่อปี 2546 เนื่องจากได้ให้นายวันชัย และนางกาญจนาภา บุตรของนางเกศินี เป็นผู้ดำเนินการและดูแลในเรื่องการซื้อขายหุ้น...”
ในวันที่ 25 พ.ย.2562 นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีนัดอ่านคำตัดสินคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร หรือโอ๊ค จำเลย บุตรชาย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9, 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91 กรณีนายพานทองแท้รับโอนเงินเป็นเช็คจำนวน 10 ล้านบาทเข้าบัญชี ซึ่งมีการกล่าวหาว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่มาจากการทุจริตปล่อยกู้สินเชื่อระหว่างธนาคารกรุงไทยฯ กับบริษัทกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มี นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารกฤษดามหานคร กับ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ ซึ่งเป็นบุตรชายของ นายวิชัย และอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ตกเป็นจำเลยในคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้จำคุก นายวิชัย และ นายรัชฎา บุตรชาย คนละ 12 ปีร่วมกับพวก โดยในส่วนของ นายวิชัย และ นายรัชฎา บุตรชาย และกลุ่มอดีตกรรมการบริษัทเอกชนในเครือกฤษดา รวม 6 คนนั้น ก็ถูกอัยการยื่นฟ้องความผิดฟอกเงินการทุจริตปล่อยกู้ดังกล่าวต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเช่นกันด้วย
เบื้องต้น นายพานทองแท้ จำเลย ให้การปฏิเสธสู้คดีว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง โดยอ้างว่า เงินดังกล่าวได้ร่วมลงทุนกับ นายรัชฎา บุตรชายของ นายวิชัย อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร (อ่านประกอบ:ศาลนัดพิพากษาคดีฟอกเงิน 25 พ.ย.- ‘โอ๊ค’ยันคำเดิม!ได้เช็ค 10 ล.ลงขันทำธุรกิจ)
บทสรุปสุดท้ายคดีนี้ ผลจะออกมาเป็นอย่างไรคงต้องติดตามดูกันต่อไป
แต่ถ้าหากใครที่ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย คงพอจะทราบว่า ในชั้นการสอบสวนคดีนี้ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีการตรวจสอบเส้นทางเงินที่เกี่ยวข้องกับนายพานทองแท้ และผู้ใกล้ชิดอยู่ 2 ส่วนหลัก คือ ก้อนแรก เงินจำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นก้อนเงินในคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีนัดอ่านคำตัดสินในวันที่ 25 พ.ย.2562 นี้
ส่วนเงินอีกก้อน คือ เงินจำนวน 26 ล้านบาท ซึ่งเคยปรากฎข้อมูล ตามคำวินิจฉัยส่วนตัวของนายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา (ตำแหน่งขณะนั้น ปัจจุบันลาออกจากราชการแล้ว) เจ้าของสำนวนคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต ระบุข้อเท็จจริงถึงเช็คจำนวน 26 ล้านบาท ไว้ดังนี้
@ เช็คจำนวน 26 ล้านบาท
พนักงานบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท โดยหักจากบัญชีของนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร) สั่งจ่ายนายพานทองแท้ ชินวัตร แต่มีการยกเลิกรายการก่อน
วันรุ่งขึ้นพนักงานบริษัท กฤษดามหานคร ซื้อแคชเชียร์เช็ค 26 ล้านบาท สั่งจ่ายบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระค่าหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางเกศินี จิปิภพ
ต่อมานางเกศินี ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 1.8 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน
ในส่วนนี้นายพานทองแท้ ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่า นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรนายวิชัย) ฝากนายวันชัย หงษ์เหิน ซื้อหุ้นบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ผ่านบัญชีของนางเกศินี ซึ่งครบกำหนดชำระหุ้นเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2546 แต่ก่อนครบกำหนดคือเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2546 นายรัชฎา แจ้งว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่นำแคชเชียร์เช็คค่าหุ้น 26 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ เพื่อฝากโอนบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต แต่เกรงว่าอาจล่าช้าไม่ทันกำหนด จึงแนะนำให้นายรัชฎา ชำระเงินให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ธนชาตโดยตรง
อย่างไรก็ดีนายศิริชัย วินิจฉัยว่า เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ทางปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์นั้น ผู้จะซื้อขายหลักทรัพย์จะต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์และจะต้องแจ้งเลขที่บัญชีธนาคารให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์โอนเงินเข้าบัญชีเมื่อมีการสั่งขายหลักทรัพย์ หรือให้บริษัทหลักทรัพย์หักเงินจากบัญชีเมื่อมีการสั่งซื้อหลักทรัพย์
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ทั้งนายพานทองแท้และนายรัชฎา มีความสนิทสนมกัน ต่างก็มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง หากนายรัชฎา ได้ฝากนายวันชัยซื้อหุ้นตามที่อ้าง นายรัชฎาย่อมสามารถโอนเงินค่าหุ้นเข้าบัญชีธนาคารของนายวันชัยหรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทหลักทรัพย์ได้โดยตรงอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่นายรัชฎาต้องนำเงินไปซื้อแคชเชียร์เช็คฝากเข้าบัญชีธนาคารของนายพานทองแท้เพื่อฝากชำระค่าหุ้นให้นายวันชัยอีกทอดหนึ่ง
ข้ออ้างของนายพานทองแท้ฟังไม่ขึ้น
สอดคล้องกับข้อมูลจากดีเอสไอ ที่ระบุว่า ได้เชิญนางเกศินี และนายวันชัย มาให้ถ้อยคำในฐานะพยาน ในคดีฟอกเงินดังกล่าวแล้ว เนื่องจากพนักงานสอบสวนพบว่า มีเงินจากนายวิชัย โอนเข้าไปที่นางเกศินี ซึ่งจากการสอบปากคำของทั้งคู่ ยอมรับว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าวจริง (อ่านประกอบ : พลิกเส้นทางเช็ค2ฉบับพัน‘โอ๊ค-พวก’ คดีฟอกเงิน ก่อนดีเอสไอ‘เบรก’ยังไม่สั่งฟ้อง?)
อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุดแล้วคดีส่วนเงิน 26 ล้านบาทดังนี้ อัยการสั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ และนางเกศินี จิปิภพ เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอที่จะสั่งฟ้อง ขณะที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็เห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เนื่องจากยังขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน แต่ในส่วน นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยาของนายทักษิณ กับนายวันชัย หงษ์เหิน สามี อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องฐานสมคบ และร่วมกันฟอกเงิน เฉพาะการรับเช็ค 26 ล้านบาท และสั่งให้ติดตามนำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางต่อไป
ปัจจุบัน นางกาญจนาภา และ นายวันชัย อยู่ระหว่างถูกออกหมายจับ หลังหลบหนีคดีออกไปนอกประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2561 ที่ผ่านมา เบาะแสสุดท้ายอยู่ที่เกาะฮ่องกง
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลใหม่ เกี่ยวกับเส้นทางเงินในส่วนของคดี เงินจำนวน 26 ล้านบาท ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดพฤติการณ์ของผู้เกี่ยวข้องในคดีมากขึ้น
ปรากฎข้อเท็จจริงดังนี้
เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2546 ธนาคารกรุงไทย ได้อนุมัติสินเชื่อจำนวน 500 ล้านบาท โดยโอนเข้าบัญชีกระแสรายวันของบริษัท อาร์ เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด
จากนั้น วันที่ 12 ก.ย.2546 บริษัทฯ ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 2 ฉบับจำนวน 200 ล้านหนึ่งใบ และ 100 ล้านบาทอีก หนึ่งใบ รวม 300 ล้านบาท นำเข้าบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยธนาคารของ นายวิชัย กฤษดาธานนท์
ต่อมาวันที่ 30 ธ.ค.2546 ได้มีการสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีกระแสรายวันของนายวิชัย ซึ่งมีการตกลงกับธนาคารว่ากรณีสั่งจ่ายเช็คให้โอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ เขียนสั่งจ่าย "คุณพานทองแท้ ชินวัตร" ลงวันที่ 30 ธ.ค.2546 ซึ่งเขียนเช็คแบบไม่ขีดคร่อม และไม่ขีดฆ่า "หรือผู้ถือ" เพื่อซื้อแคชเชียร์เช็คเลขที่ 0002274 จำนวน 26 ล้านบาท สั่งจ่ายนายพานทองแท้ แบบไม่ขีดคร่อม แต่ขีดฆ่า "หรือตามคำสั่ง" (ดูเช็คประกอบ)
แต่ต่อมาได้ยกเลิกมีการเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าว ในวันที่ 31 ธ.ค.2546 (เป็นวันที่ ครม.สมัยรัฐบาลนายทักษิณ สั่งให้เป็นวันทำงาน และให้ไปหยุดวันที่ 2 ม.ค.2547 แทนโดยอ้างไม่อยากให้ข้าราชการเสียวันลาและอยากให้หยุดต่อเนื่อง และมีความเกี่ยวข้องกับคดีซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก) ก่อนที่จะมีการซื้อแคชเชียร์เช็คเลขที่ 0002275 จำนวน 26 ล้านบาท เพื่อเข้าบัญชี บล.ธนชาต ซึ่งมีการสั่งจ่าย "บริษัท หลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (มหาชน)" หรือ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาติ" (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยธนาคารสาขาบางพลัด ของนายวิชัย พบว่า ก่อนที่จะมีเงินจำนวน 300 ล้านบาท ดังกล่าวเข้าบัญชี ในบัญชีนี้มียอดเงินคงเหลือจำนวน 16,657,162.41 บาท
ดังนั้น จึงน่าเชื่อได้ว่าเงินจำนวน 26 ล้านบาทที่นำไปซื้อแคชเชียร์เช็คเพื่อสั่งจ่ายเข้าบัญชี บล.ธนชาต เป็นยอดเงินที่มาจากสินเชื่อเงินกู้ธนาคารกรุงไทยฯ
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายหุ้นในบัญชีของนางเกศินี ในช่วงระยะเวลาที่มีการนำเงินจำนวน 26 ล้านบาท สั่งจ่าย บล.ธนชาต ซึ่งจากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องได้รับการยืนยันว่า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2546 มีการสั่งซื้อหุ้นของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,400,000 หุ้น รวมเป็นราคา 36,392,089.18 บาท ซึ่งในวันดังกล่าวได้มีการสั่งขายหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในบัญชีนางเกศินี เมื่อหักกลบยอดเงินที่นางเกศินี ต้องชำระเงินให้กับบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต เป็นเงินจำนวน 28,695,732.16 บาท ซึ่งนางเกศินี ได้ชำระราคาหุ้นโดยนำฝากเช็คธนาคารไทยธนาคาร จำนวนเงิน 26,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์
สำหรับจำนวนเงินที่ขาดอยู่มีการชำระเป็นเงินสด จำนวน 1,695,732.11 บาท และจำนวน 1,000,000 บาท ซึ่งมีข้อสังเกตว่าจากการหักกลบแล้วมีการจ่ายเงินเพิ่มเพียง 2,695,732.11 บาท
ดังนั้น น่าเชื่อได้ว่าคนสั่งซื้อและเจ้าของบัญชีซื้อขายหุ้น คือ บุคคลคนเดียวกัน
โดยในวันที่ 29 ธ.ค.2546 มีการสั่งซื้อและขายหุ้น ช.การช่าง ในวันเดียวกันจำนวนเดียวจำนวน 700,000 หุ้น โดยซื้อในราคาหุ้นละ 29.21 บาท ขายในราคาหุ้นละ 28.57 บาท ทำให้ในวันดังกล่าวขาดทุนต้องชำระค่าหุ้นเพิ่มจำนวน 558,203.76 บาท
ก่อนที่ในวันที่ 30 ธ.ค.2546 จะมีการซื้อและขายหุ้น บริษัท ช.การช่างอีกครั้ง โดยซื้อเพิ่มจำนวน 600,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 27.40 บาท และขายออกไปจำนวน 1,250,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 27.63 บาท เมื่อหักกลบรายการซื้อขายเป็นยอดที่ บล.ธนชาต ต้องจ่ายเงินให้ลูกค้าเป็นเงิน 17,966,135.13 บาท ในการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว มีการสั่งจ่ายเป็นเช็ค 2 ฉบับ จำนวนเงิน 15,099,500.49 บาท และ 2,866,634.64 บาท ขณะที่ นางกาญจนาภา ให้การต่อดีเอสไอว่า ยอดเงินจำนวน 17,966,135.13 บาท ได้นำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ ในชื่อบัญชีนางเกศินี จิปิภพ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2547 และเมื่อตรวจสอบไปยังบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต พบว่ามีการเปิดบัญชีหลักทรัพย์ไว้ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.2543
ขณะที่นายพานทองแท้ ให้การต่อดีเอสไอ ว่า รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นบริษัท ช.การช่าง ดังกล่าวด้วย
โดยนายพานทองแท้ ให้การว่า นายรัชฎา ได้ฝากให้นายวันชัย ซื้อหุ้นของบริษัท ช.การช่างฯ เป็นจำนวน 1,000,000 หุ้น เป็นเงิน 26,000,000 บาท และนายวันชัย ตกลงดำเนินการให้กับนายรัชฎา ส่วนนายพานทองแท้ ได้ฝากซื้อจำนวน 400,000 หุ้น
ต่อมาในวันที่ 26 ธ.ค.2546 นายวันชัย ได้ซื้อหุ้น บมจ.ช.การช่าง ให้นายรัชฎา จำนวน 1,000,000 หุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 25.93 บาท รวมเป็นเงิน 26 ล้านบาท และให้นายพานทองแท้ จำนวน 400,000 หุ้น รวมเป็นเงินประมาณ 10,400,000 บาท จากนั้นนายพานทองแท้ ทราบจากนางกาญจนาภาว่า ได้ทำการขายหุ้น บมจ.ช.การช่าง ของนายรัชฎา จำนวน 1,000,000 หุ้น ในวันที่ 30 ธ.ค.2546 ในราคาหุ้นละ 27.63 บาท เป็นเงินจำนวน 27,560,925 บาท มีกำไรประมาณ 1,500,000 บาท ซึ่งนายรัชฎา ได้รับเงินค่าขายหุ้น จำนวนดังกล่าวไปครบถ้วนแล้ว นางกาญจนาภา จะทราบรายละเอียดในเรื่องนี้
ดังนั้น การซื้อขายหุ้น บมจ. ช.การช่าง ของนายรัชฎา จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการเล่นหุ้นแบบบัญชีมาร์จิ้น (เป็นการได้เครดิตจากบริษัทหลักทรัพย์ฯโดยไม่ต้องจ่ายเงินสดในวันนั้นที่ทำการซื้อทันที) และทำให้ซื้อ ช.การช่าง 1,000,000 หุ้น ด้วยจำนวนเงิน 26 ล้านบาท ในวันที่ 26 ธ.ค. 2546 และขายหุ้น ช.การช่าง จำนวนเดียวกัน คือ 1,000,000 หุ้น ในมูลค่า 27,560,925 บาท ทำให้เกิดผลกำไร 1,560,925 บาท เป็นมาร์จิ้นที่ได้รับหลังจากหัก 26,000,000 บาทแรกให้กับบริษัทหลักทรัพย์ฯไปแล้ว นายรัชฎา จึงอาจไม่ได้เป็นผู้รับเงินจากแคชเชียร์เช็ค 26 ล้านบาทแต่อย่างใด และแคชเชียร์เช็คดังกล่าว ได้ถูกนำฝากเข้าพอร์ตของนางเกศินีฯ ในวันถัดมาคือ 31 ธ.ค. 2546 ซึ่งไม่มีภาระหนี้จากการซื้อหุ้น ช.การช่าง 1,000,000 หุ้นนี้แล้ว แต่อย่างใด (ดูตารางประกอบ)
ขณะที่ นายพานทองแท้ เคยให้การว่า “ซื้อและขายหลักทรัพย์ ผ่านพอร์ตของนางเกศินีฯ มาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายครั้งแรก เมื่อปี 2546 เนื่องจากได้ให้นายวันชัย และนางกาญจนาภา บุตรของนางเกศินี เป็นผู้ดำเนินการและดูแลในเรื่องการซื้อขายหุ้น”
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ นายพานทองแท้ และผู้เกี่ยวข้องในเส้นทางเงินส่วนของคดี เงินจำนวน 26 ล้านบาท ที่ยังไม่มีการเปิดเผยมาก่อน
ก่อนที่ อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง นายพานทองแท้ และนางเกศินี จิปิภพ เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอที่จะสั่งฟ้อง ขณะที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็เห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน เนื่องจากยังขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน คงเหลือแค่การสั่งฟ้อง นางกาญจนาภา และนายวันชัย หงษ์เหิน สามี ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหลบหนีไปต่างประเทศอยู่ในขณะนี้
อ่านประกอบ :
ดีเอสไอ ส่งสำนวนฟ้อง 'พานทองแท้' กับพวกฟอกเงินกรุงไทย
คณะทำงานดีเอสไอสอบเพิ่ม‘โอ๊ค-พวก’ คดีฟอกเงินหลังถูกร้อง-ทั้งที่สรุปสั่งฟ้องแล้ว
ก่อน ปปง.กล่าวโทษคดีฟอกเงินกรุงไทย ขุมธุรกิจพันล.‘พานทองแท้’ ปี’59ฟัน198 ล.ขาดทุนยับ
คำวินิจฉัยผู้พิพากษาฯชำแหละเส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยง'พานทองแท้-มานพ'
เฉลยชื่อผู้รับเช็คจาก'เสี่ยวิชัย’คดีกรุงไทย-‘พานทองแท้-มานพ’อยู่ในข่าย?
ย้อนเส้นทางคดีฟอกเงินกรุงไทย!ชื่อ‘พานทองแท้-พวก’โผล่รับเช็ค-ไม่เอ่ยถึงมูลนิธิรัฐบุรุษฯ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/