ประวัติเล่าเอง วันคล้ายวันเกิดครบ 72 ปี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ตอนที่ 1
คอลัมน์ประจำวันของคุณชายคึกฤทธิ์ ที่สุดยอดที่สุดก็คือ บทความที่เขียนขัดขวางการที่นายทหารคนสำคัญ เสนอแนวความคิดต่อสภาผู้แทนราษฎร ให้จัดตั้งองค์กร คล้ายๆ สภาเปรซิเดียมของประเทศคอมมิวนิสต์ คุณชายคึกฤทธิ์คัดค้านด้วยเหตุผลที่หนักแน่น และจบด้วยคำว่า “กูไม่กลัวมึง” ทำให้สมาชิกสภาฯ ออกเสียงคัดค้านในวันนั้นแบบไม่กลัวมึงจริงๆ
หมายเหตุ:เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จัดงานฉลองวันคล้ายวันเกิด ครบ 72 ปี ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอนันตราสยาม โดยภายในงานมีช่วงประวัติเล่าเอง โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ตอนที่ 1 และ ประวัติเล่าเอง ตอนที่ 2
สำนักข่าวอิศรา นำตอนที่ 1 มานำเสนอ
ผมอยู่มา 72 ปีแล้ว ผ่านเหตุการณ์มามาก ชีวิตผมผกผัน และเปลี่ยนแปลงกว่าสถานการณ์บ้านเมืองก็หลายครั้ง มีทั้งสมหวังและผิดหวัง เมื่อนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตมีหลายเรื่องที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟังในวันฉลองครบรอบ 72 ปี
ผมเกิดวันที่ 15 กรกฎาคม 2490 ที่วชิรพยาบาล แม่เล่าให้ฟังว่า ตอนผมเกิดแม่เจ็บเกือบตาย เพราะผมคลอดออกมาไม่เหมือนเขา หัวผมไม่ลง หมอต้องดึงขาออกมาก่อน มีผลให้ขาหักข้างหนึ่ง แขนหักข้างหนึ่ง ต้องเข้าเฝือกตั้งแต่แรกเกิด ชื่อปรีดิยาธร กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประทานให้ตามที่ท่านพ่อทูลขอ
เมื่อผมเกิดพี่ชาย ชื่อพี่จ้อย (หม่อมราชวงศ์สำอางควรรณ ล่ำซำ)เรียนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์ แม่บอกว่า ตอนเย็นๆ เมื่อพี่ยางค์ (หม่อมราชวงศ์ทิพยางค์ กาญจนดุล) และพี่จ้อยกลับจากเรียนหนังสือแล้วก็จะมาช่วยเลี้ยงผม
ผมเมาครั้งแรกเมื่ออายุ 6 ขวบเศษ ในงานเลี้ยงแต่งงานที่บ้านในวังเทวเวสม์ แม่เล่าให้ฟังว่า ผมดื่มไปมากพอควร ดื่มแล้วก็เดินตุปัดตุเป๋
ผมเข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เมื่อตอนอายุ 5 ขวบ จำได้ว่า ในเดือนแรกไม่ได้นั่งโต๊ะเรียนเลย นั่งกอดหน้าต่าง รอแม่มาส่งข้าวกลางวัน และมารับตอนเย็น มาสเตอร์ที่เป็นครูประจำชั้นจึงไม่ให้สอบ ในการสอบครั้งแรก ผมก็เลยรอดไม่มีประวัติสอบตก
ผมเริ่มสอบครั้งที่ 2 สามารถผ่านด้วยคะแนน 50 เปอร์เซนต์เศษๆ เกือบสอบตกครับ
ปีต่อมา 6 ขวบ ขึ้นชั้นประถม 2 ครูชื่อมาสเตอร์ทองหล่อ ตีก้นเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวในชีวิต ตอนเย็นแม่มารับเล่าให้แม่ฟัง แม่ก็ไปถามครูถึงสาเหตุ ครูบอกว่า ผมไม่ส่งการบ้าน ทั้งนี้เพราะผมไม่รู้ว่า ที่ครูเขียนกระดานตอนเย็นนั้น คือการบ้าน ตั้งแต่นั้นมา แม่ก็ไปจดการบ้านให้ผมตอนเย็น ผมก็ทำส่งครูครบถ้วนและไม่โดนตีอีกเลย
ผมเริ่มเรียนดีเมื่อขึ้นชั้นมัธยม 1 อายุ 9 ขวบ การสอบเทอมแรกผมได้ที่ 4 คะแนนเกือบ 80 เปอร์เซนต์ ปรากฎว่า เพื่อนที่สอบได้ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้คะแนนเกิน 80 เปอร์เซนต์ ครูจึงให้พาสชั้นขึ้นไปเรียนมัธยม 2 ทันที หลังจากสามคนนั้นพาสชั้นขึ้นไปเรียนแล้ว ผมจึงสอบได้ที่ 1 ของห้อง
เมื่อวันที่อายุครบ 6 ขวบ ได้รับของขวัญชิ้นใหญ่ที่สุด คือ รถจักรยานสองล้อ ขนาดกลาง ....
ผมดีใจมากและขี่เป็นประจำทุกวัน หลังจากกลับจากโรงเรียน จากวังเทวเวสม์ได้ขี่เล่นไปกระทรวงสาธารณสุข จนกระทั่งวันหนึ่งอายุได้ 10 ขวบ เย็นวันหนึ่งคนในกระทรวงมาบอกที่บ้านว่า ผมขี่รถไปชนต้นก้ามปู และนอนสลบอยู่ แม่ไปอุ้มผมกลับมาพาไปหาหมอ ผมสลบอยู่ข้ามวัน หมอให้พักอยู่กว่า 4 วัน
ระหว่างที่นอนพักรักษาตัวอยู่นั้น แม่เอาหนังสือ สี่แผ่นดินมาวางไว้ข้างหมอน ผมจึงได้อ่านหนังสือสี่แผ่นดินตลอดทั้งเรื่องในครานั้น และทำให้ผมติดใจตามอ่านบทประพันธ์ของคุณชายคึกฤทธิ์ อีกหลายเล่มเมื่ออ่านบทความของคุณชายคึกฤทธิ์แล้ว ท่านพ่อให้ผมอ่านตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ผมมีหน้าที่อ่านคอลัมน์ของคุณชายคึกฤทธิ์ในหนังสือสยามรัฐถวายท่านพ่อทุกวันตอนค่ำ ทำให้ผมมีความรู้มากมาย
คอลัมน์ที่ทำให้ผมติดใจมากที่สุด คือ ตอบปัญหาประจำวัน นอกจากได้ความรู้มากมายแล้ว ยังได้ซึมซับวิธีเขียนภาษาไทยชั้นครู กระชับ และได้เนื้อความชัดเจน และยังเร้าอารมณ์อีกด้วย
คอลัมน์ประจำวันของคุณชายคึกฤทธิ์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อไปตามยุคสมัยนี้ผมติดตามอ่านตลอด จนกระทั่งคุณชายเลิกเขียน
บทความที่สุดยอดที่สุดก็คือ บทความที่เขียนขัดขวางการที่นายทหารคนสำคัญ เสนอแนวความคิดต่อสภาผู้แทนราษฎร ให้จัดตั้งองค์กร คล้ายๆ สภาเปรซิเดียมของประเทศคอมมิวนิสต์ คุณชายคึกฤทธิ์คัดค้านด้วยเหตุผลที่หนักแน่น และจบด้วยคำว่า “กูไม่กลัวมึง” ทำให้สมาชิกสภาฯ ออกเสียงคัดค้านในวันนั้นแบบไม่กลัวมึงจริงๆ
ตั้งแต่อายุ 10 ปี ไปจนถึงอายุ 17 ปี ผมก็เรียนอยู่ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลนั่นแหละ ผลการเรียนดีทีเดียว จนเป็นตัวเก็งว่าจะสอบติดบอร์ด 1 ใน 50 ของประเทศไทยในการสอบชั้นมศ.5 ผมตั้งใจเรียนเต็มที่เพื่อจะสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน
แต่แล้วความฝันก็พังทลาย
เมื่อถึงเดือนธันวาคม ก่อนสอบใหญ่ 3 เดือน เพื่อนที่เป็นหัวหน้าห้องมาบอกว่า พวกเขาจะหยุดเรียนเพื่อประท้วงอธิการที่สั่งให้นักเรียนตัดผมให้สั้นลง เขาต้องการให้ผมหยุดเรียนเพื่อประท้วงด้วย ผมเป็นคนประเภทเพื่อนว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน ไม่ได้คิดให้รอบคอบ
การหยุดเรียนประท้วง ทำให้พวกเราต้องอ่านหนังสือกันเอง สำหรับบทเรียนที่ค้างอยู่ การสอบครั้งนั้น สอบตกกัน 22 คน จากจำนวน 34 คน ผมสอบได้แต่คะแนนไม่ดีพอที่จะไปแข่งกันโรงเรียนอื่นได้เลย เป็นบทเรียนที่จดจำไว้ตลอดชีวิต และทำให้ผมรู้จักเป็นตัวของตัวเอง ในเรื่องสำคัญของชีวิตตลอดมา
2507 ผมเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ สอบเข้าได้ที่ 2 จึงได้รับพระราชทานทุนภูมิพล โดยรับจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในสมัยนั้นปีที่ 1 เรียนรวมกันทั้งหมดที่คณะศิลปศาสตร์ ก่อนจะแยกย้ายไปเรียนคณะต่างๆ ปีที่ 2 ถึงปีที่ 4
ผมเรียนคณะศิลปศาสตร์ได้คะแนนดีเป็นที่ 1 ของคณะ เดิมตั้งใจว่าจะเรียนปีที่ 2 ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
บังเอิญได้ทราบว่า ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะมาเป็นคณบดีของคณะเศรษฐศาสตร์ เท่านั้นเอง ผมก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่คณะเศรษฐศาสตร์ในปีที่ 2 – 4 ทัน เป็นการตัดสินใจที่ถูกที่สุดในชีวิต เพราะนอกจากได้เรียนวิชาที่เป็นรากฐานสำหรับการทำงานต่อมาในภายหลังแล้วยังได้มีโอกาส ได้ใกล้ชิดคนที่เป็นตัวอย่างของความซื่อสัตย์ และความกล้าที่จะยืนหยัดในความถูกต้อง ซึ่งช่วยหล่อหลอมจิตใจของผมได้มากทีเดียว
ชีวิตที่ธรรมศาสตร์ของผมมีความสุข และสนุกสนานมาก ตลอด 4 ปีที่เรียนอยู่ ถึงชั่วโมงเรียนก็เข้าเรียนโดยไม่ขาด ว่างจากชั่วโมงเรียนก็จะไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนฝูง เล่นสนุกเกอร์บ้าง เล่นโบลิ้งบ้าง แล้วแต่โอกาส และเมื่อไม่มีอะไรทำก็จะไปนั่งคุยกับกลุ่มกะไดลานโพธิ์ ที่บันไดของคณะศิลปศาสตร์ พอถึงเวลาเย็นก็เล่นบอลพลาสติกที่ลานจอดรถบริเวณลานโพธิ์ เป็นประจำเช่นนี้ตลอด 4 ปี
นอกจากนี้ผมก็ร่วมกิจกรรมของชมรมต่างๆ อีกมากมาย และเป็นนักกีฬาของคณะ เป็นนักแบดมินตัน ประตูฟุตบอล และเป็น ฟูลแบ็คของทีมรักบี้ของคณะ ไม่ได้เก่งกาจมากมายอะไร พอไปวัดไปวาได้เท่านั้น
แม้ผมจะทำกิจกรรม เล่นกีฬา และสนุกกับเพื่อนทุกรูปแบบ แต่ผมก็เข้าเรียนไม่ได้ขาด และสามารถทำคะแนนได้ดีตลอด 4 ปี ในปี ที่ 1 2 3 ได้รับเหรียญรางวัลเรียนดีทุกปี และเมื่อรวมคะแนนทั้ง 4 ปี ได้คะแนนเฉลี่ยสูง นับเป็นเกียรตินิยมดีมาก ซึ่งได้รับเหรียญทอง ในของผมได้รับเหรียญทองถึง 3 คน มีวัฒนา อิศรางกูล ณ อยุธยา รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และตัวผม
นอกจากวิชาความรู้แล้ว สิ่งที่ผมได้รับจากธรรมศาสตร์ ซึ่งสำคัฐยิ่งกว่าความรู้ คือ ความรู้สึกที่ต้องการเห็นสังคมที่เป็นธรรม เป็นความรู้สึกที่ค่อยๆ สะสมขึ้น ระหว่างเรียนที่ธรรมศาสตร์ เป็นคุณธรรมที่แทรกซึมอยู่ในการสอนของอาจารย์ แทรกซึมอยู่ในปาฐกถาของนักคิดคนสำคัญ แทรกซึมอยู่ในการระหว่างโต้วาทีของนักศึกษา และแทรกซึมอยู่ในการสนทนากับอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาของชมรมต่างๆ
พูดได้ว่า ธรรมศาสตร์ คือเบ้าหลอมให้นักศึกษาได้รักความเป็นธรรม และต้องการเห็นสังคมที่เป็นธรรม
จบธรรมศาสตร์แล้วผมโชคดีได้เรียนต่อ MBA บัญชีที่ Wharton School มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย โดยพี่บัญชา ล่ำซำให้ทันส่วนตัวสนับสนุนผม ถ้าไม่มีพี่บัญชา ผมก็คงไม่ได้ไปเรียนต่อ...เป็นบุญคุณที่ไม่สามารถทดแทนได้หมด
ชีวิตการเรียนที่ Wharton นับเป็นการเรียนที่หนักที่สุด ผมไม่เคยอ่านตำราภาษาอังกฤษยากๆ มาก่อนในการเรียนที่ผ่านมา จึงทุ่มเทอ่านหนังสือตามที่อาจารย์มอบหมาย ตั้งแต่เช้าจรดสองยามทุกวัน ยกเว้นวันเสาร์ตอนเย็นก็ไปพักผ่อนหย่อนใจกับเพื่อนคนไทย รวมทั้งเล่นโบลิ้งด้วย
ผมตั้งหน้าตั้งตาเรียน จนจบภายใน 2 ปีตามกำหนด
เริ่มชีวิตทำงานที่แรก กสิกรไทย
เรียนจบแล้วพี่บัญชารับผมเข้าทำงานที่ธนาคารกสิกรไทยทันที หลังจากฝึกงานที่ธนาคารในนิวยอร์ก 2 แห่งเป็นเวลา 1 ปีแล้ว ผมก็กลับมาทำงานที่ธนาคารกสิกรไทยสำนักงานใหญ่ เริ่มทำงานกลางปี 2514 งานชิ้นแรกคือเป็นลูกมือของคุณณรงค์ ศรีสอ้าน ในด้านการค้าขายเงินตราต่างประเทศของธนาคารทุกเช้า
และได้รับมอบหมายให้เริ่มส่วนงานใหม่ วิเทศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมงานติดต่อกับธนาคารคู่ค้าต่างประเทศทั้งหมด การเป็นลูกมือของคุณณรงค์ ทำให้ผมได้เรียนรู้การค้าขายเงินตราต่างประเทศอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันพี่บัญชาก็ให้การสนับสนุนแก่ผมเป็นอย่างดี เปิดโอกาสให้ผมได้แสดงความสามารถในทุกๆ เรื่องอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การค้าขายเงินตราต่างประเทศ การธนาคารระหว่างประเทศ การให้สินเชื่อ การแก้ไขหนี้ และแม้กระทั่งเรื่องการบริหารภายในองค์กร เช่น เรื่องการพนักงาน ระบบคอมพิวเตอร์ และเรื่องการจัดองค์กร ระบบงาน ผมได้มีโอกาสบริหารงานเหล่านี้มาทุกเรื่อง
นอกจากนี้พี่บัญชายังสอนหลักการบริหารงานไว้หลายเรื่อง ที่จำได้ไม่ลืม คือสอนว่า ผู้นำองค์กรจะต้องดูแลงานสำคัญ 2 เรื่องโดยตรง นั่นก็คือ งานการพนักงาน และงานการประชาสัมพันธ์องค์กร เป็นคำสอนที่มีคุณค่าที่ผมจำได้แม่น และนำไปใช้ในการบริหารงานทุกแห่งที่ผมมีโอกาสได้เป็นผู้นำองค์กร
ผมทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย จนถึงปลายปี 2533 ก็ได้รับการทาบทามจากคุณไกรศักดิ์ ชุณหวัณ ให้เข้ารับหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ผมก็รับหน้าที่กลางเดือนธันวาคม เป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการประชุมของคณะรัฐมนตรี ได้เปิดโลกทัศน์กว้างกว่าเดิม
“เสียดายเกิดการปฏิวัติรัฐประหารปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2534 การทำงานในหน้าที่โฆษกรัฐบาลจึงสิ้นสุดลง ในระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษ แต่ก่อนจะถูกปฏิวัติ ผมก็ได้รับทราบข้อมูลลับที่เป็นเหตุนำสู่การปฏิบัติในครั้งนั้น จะไม่ขอเล่าในที่นี้”
ผมได้บันทึกไว้ในหนังสือ “ในหนึ่งแผ่นดิน” แล้ว
หลังจากตกงานอยู่ 4 – 5 เดือน ผมก็ได้รับการชักชวนจากคุณอานันท์ ปันยารชุณ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ การทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้ผมได้รับความรู้มากมาย และทำให้เห็นช่องทางที่จะทำงานช่วยชาติได้เมื่อทำหน้าที่อื่นๆ ต่อมาในภายหลัง
ผมยังจำได้ว่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์สมัยนั้นช่วยเหลือผมมาก และยังเป็นมิตรที่ดีต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผมได้มีโอกาสใกล้ชิดนายกฯ อานันท์ บุคคลที่มีทั้งความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมครบถ้วน สมกับเป็นผู้บริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจริงๆ ไปที่ไหน ทำอะไรก็มีแต่สร้างความภูมิใจให้แก่คนไทยทั้งปวง
เมษายน 2535 รัฐบาลต่อมา มีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็ได้รับการเชิญชวนให้เข้ารับทำงานในตำแหน่งเดิม คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
แต่เหตุการณ์ทางการเมืองก็เป็นไปอย่างรุนแรง เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนนายกรัฐมนตรีตัดสินใจลาออก ระยะเวลาสั้นมาก ผมไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ได้มีโอกาสรับรู้ถึงความรัก และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ของชายชาติทหาร ชื่อ สุจินดา คราประยูร ซึ่งตัดสินใจลาออกทันที ที่ทราบว่า หากอยู่ในตำแหน่งต่อไป เหตุการณ์อาจบานปลายจนกระทบสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นที่หนักพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้
ท่านพูดว่า
“อะไรจะเกิดขึ้นกับผมไม่เป็นไร แต่ผมจะไม่ยอมให้กระทบพระเจ้าอยู่หัวเด็ดขาด”
เหตุการณ์ทางการเมืองขณะนั้นสับสนวุ่นวายมาก แต่ก็เหมือนฟ้ามาโปรด เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งคุณอานันท์ ปันยารชุน กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เหตุการณ์ก็คลี่คลายลงทันที ประชาชนยอมรับ และผมก็โชคดีได้มีโอกาสได้ร่วมงานในหน้าที่เดิมต่อไป ในรัฐบาลอานันท์ 2 จนถึงเดือนตุลาคม 2535
หลังจากรัฐบาลอานันท์ ผมก็ว่างงานอยู่ 1 ปี จนรัฐบาลใหม่ตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณธารินทร์ นิมนานเหมินท์ ได้ทาบทามให้ผมเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ผมจึงมีโอกาสรับใช้ประเทศชาติอีกครั้ง
นอกจากให้บริการสินเชื่อ สนับสนุนผู้ส่งออกที่เข้าไม่ถึงบริการธนาคารพาณิชย์แล้ว ยังได้นำเสนอบริการใหม่ ที่เรียกว่า การประกันการส่งออก ซึ่งยังไม่มีธนาคารใดในประเทศไทยทำมาก่อนอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีบริการสินเชื่อให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ซื้อสินค้าจากไทย หรือใช้บริการจากนักธุรกิจไทย
บริการชนิดหลัง ผมให้กู้กับประเทศพม่า 150 ล้านเหรียญ เพื่อให้ใช้ว่าจ้างบริษัทก่อสร้างของคนไทย ในการสร้างสนามบินที่เมืองมัณฑะเลย์ เพราะสิงคโปร์เสนอเงินกู้ให้แก่พม่า เพื่อให้ว่างจ้างบริษัทก่อสร้างของสิงคโปร์ที่เข้าประมูลแข่งขันกับไทยเช่นกัน ถ้าเราไม่เสนอเงินกู้ บริษัทก่อสร้างไทยก็จะไม่ได้งาน ผมเสนอเงินกู้อย่างรัดกุมพอควร โดยขอให้พม่านำเงินดอลล่าร์ จาก Over flight fee และ Landing fee ที่เก็บจากสายการบินต่างๆ มาใช้หนี้เงินกู้ เพื่อสร้างสนามบินนี้ และทุกๆ ปี ธนาคารก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปคอยติดตามจากการตั้งงบประมาณใช้หนี้ของพม่าในเรื่องนี้
ปรากฎว่า พม่าชำระหนี้ตรงเวลาครบถ้วน ตามกำหนดที่ตกลงไว้ทุกประการ
ผมทำงานที่ เอ็กซิมแบงก์เกือบ 8 ปี กิจการของธนาคารขยายตัวได้ดีทีเดียว แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผมต้องเปลี่ยนงาน ไปรับหน้าที่ใหม่ในการรับใช้ชาติ เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วผมยังไม่ทันได้เตรียมบุคคลที่จะรับงานต่อจากผมเลย จึงมีผลให้งานของเอ็กซิมแบงก์ในสมัยต่อมา ไม่ได้ขยายตัวต่อไปมากตามทิศทางที่ตั้งใจไว้
“เป็นเรื่องที่ผมยังเสียใจอยู่ทุกวันนี้”
เปลี่ยนตัวผู้ว่าแบงก์ชาติ
เหตุการณ์ที่ทำให้ผมต้องเปลี่ยนงาน คือเหตุการณ์ความขัดแย้งทางความคิด ระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่า ประเทศไทยควรลดดอกเบี้ยลงไปอีก ขณะที่นายกรัฐมนตรีเห็นตามนักเศรษฐศาสตร์หลายคนว่า ถึงเวลาจะต้องตรึงดอกเบี้ยแล้ว มีการแสดงความเห็นขัดแย้งผ่านสื่อมวลชน
การมีความเห็นที่ขัดแย้งกันไม่ใช่สาเหตุของการเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ สาเหตุเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ส่งเทเล็กซ์ ออกไปทั่วโลก เชิญชวนให้นักวิชาการในต่างประเทศให้ความเห็นสนับสนุนความเห็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเท่ากับเป็นการชักศึกเข้าบ้าน นายกรัฐมนตรีเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการเชิญชวนให้คนต่างชาติมาโจมตีนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในเมื่อเป็นเรื่องความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งเป็นการกระทำอันไม่สมควร จึงตัดสินใจเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผมก็ได้รับการทาบทามในครั้งนั้น
เมื่อเข้าไปรับตำแหน่งที่ ธปท.ได้ไม่นาน ก็ได้รับทราบความจริงว่า เทเล็กซ์ที่ส่งออกไปเชิญชวนนักวิชาการต่างชาติให้ความเห็นเรื่องดอกเบี้ยนั้น ผู้ว่าการฯ จัตุมงคล โสณกุล ไม่ได้สั่งให้ส่งเทเล็กซ์ออกไป แต่มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของธนาคารที่หวังดี หรือหวังร้ายก็ไม่แน่ใจ สั่งให้ส่งเทเล็กซ์ออกไป โดยผู้ว่าการฯ จัตุมงคล ไม่รู้เรื่อง
“ผมจึงรู้ว่า ต้องระวังตัวต่อไป”.....
โปรดติดตาม ประวัติเล่าเอง ตอนที่ 2 เร็วๆ นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“ในหนึ่งแผ่นดิน” INSIGHT ที่ ‘หม่อมอุ๋ย’อยากเล่า