“ในหนึ่งแผ่นดิน” INSIGHT ที่ ‘หม่อมอุ๋ย’อยากเล่า
"...ผมเกิดเมื่อกลางปี พ.ศ.2490 หนึ่งปีหลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ได้เห็นกับตาว่าเพียงแผ่นดินเดียวเศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญอย่างคาดไม่ถึง ผมเชื่อว่าประเทศในโลก ที่เจริญได้อย่างรวดเร็วเช่นประเทศไทยในช่วง 70 ปี ที่ผ่านมามีน้อยมาก จึงอยากบันทึกพัฒนาการนี้ไว้เป็นหลักฐานที่น่าภูมิใจของคนไทย…"
ม.ร.ว ปรีดิยาธร เทวกุล บอกไว้ในหนังสือ “ในหนึ่งแผ่นดิน” ว่า
...ผมเกิดเมื่อกลางปี พ.ศ.2490 หนึ่งปีหลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ได้เห็นกับตาว่าเพียงแผ่นดินเดียวเศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญอย่างคาดไม่ถึง
ผมเชื่อว่าประเทศในโลก ที่เจริญได้อย่างรวดเร็วเช่นประเทศไทยในช่วง 70 ปี ที่ผ่านมามีน้อยมาก จึงอยากบันทึกพัฒนาการนี้ไว้เป็นหลักฐานที่น่าภูมิใจของคนไทย…
เมื่อพลิกไปที่หน้าสารบัญของหนังสือหนา 212 หน้า จึงมีเรื่องราวในอดีตทั้งของหม่อมอุ๋ยและสังคมในสมัยนั้นไล่เรียงกันไปในแต่ละบทจำนวน 49 บท แต่ละบทสั้นๆ ไม่ยาวนัก ซึ่งผู้เล่าถ่ายทอดชีวิตตั้งแต่ในวัยเด็กจนเติบใหญ่ตามวันเวลาควบคู่ไปกับการฉายภาพของสังคมรอบๆ ตัวในบริบทต่างๆ
อ่านช่วงต้นๆ จึงได้ซึมซับบรรยากาศเมืองหลวงในยุคก่อน ที่หลายอย่างไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น รถราง รถสามล้อถีบ ช่อง 4 บางขุนพรหม งานฉลองรัฐธรรมนูญ หรือในบทที่ว่าด้วยเรื่องหาบเร่ ก็ทำให้ได้รู้จักกับเกมการเล่นทอยเหรียญ “ล้อต๊อก” ของวัยรุ่นชายในสมัยนั้น ซึ่งน่าสนุกมาก
ในพัฒนาการของความเจริญที่หม่อมอุ๋ยเล่า มีทั้งในมุมของสังคมและตัวบุคคล-คนไทยที่โดดเด่น มีชื่อเสียงในระดับตำนานที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เช่น เรื่องของ นางงามจักรวาล ...อาภัสรา หงสกุล ที่มีเกร็ดแถมท้ายว่า
...มีผู้คนในวงการเมืองให้ข้อมูลว่าที่ คุณอาภัสรา ชนะประกวดในปี 2507 นั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีส่วนช่วยเพราะสหรัฐอเมริกาต้องการเอาใจประเทศไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญในช่วงเวลาที่สหรัฐกำลังทำสงครามกับเวียดนาม ผมฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นคำพูดของคนขี้อิจฉา ผมเชื่อว่า ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะช่วยหรือไม่ก็ตาม คุณอาภัสราก็คงได้เป็นนางงามจักรวาลในปีนั้น เพราะสวยเด่นจนไม่มีใครเทียบได้จริงๆ...
ความนิยมของคนไทยที่มีต่อดาราและกีฬาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ใน มิตรพบเพชรา สนามมวยราชดำเนิน แบดมินตันไทยสมัยรุ่งเรือง
สอดแทรกด้วยชีวิตวัยเรียนตั้งแต่ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล การเรียนที่ธรรมศาสตร์ กิจกรรมนอกหลักสูตรในธรรมศาสตร์
มาจนถึงวัยทำงาน ด้วยความที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นนักเศรษฐศาสตร์ และมีหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับคนทำงานธรรมดาจนถึงรัฐมนตรี บันทึกความเจริญของเมืองไทยเล่มนี้จึงเน้นหนักในมุมเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานล่างจนถึงระดับบนสุดคือนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงวันเวลาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เล่าผ่านบทที่ว่าด้วย น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง จอมพลสฤษดิ์ ปฏิวัติ เมืองไทยสมัยจอมพลสฤษดิ์ ให้รายละเอียดของวิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจไทยใน คลื่นพัฒนาลูกแรก ความล้มเหลวของธุรกิจการเงินยุคแรก คลื่นพัฒนาลูกที่สอง คลื่นพัฒนาอุตสาหกรรมลูกที่ 3
ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ดูเหมือนหนัก แต่อ่านไม่ยากเลย นับเป็นวิธีการถ่ายทอดความรู้และมุมมองจากประสบการณ์ที่ใครๆ ก็อ่านเพลินได้ เพราะมีเหตุการณ์และตัวบุคคลที่คุ้นเคยกันดีเป็นองค์ประกอบให้ไม่น่าเบื่อ สำคัญที่สุด คือ หม่อมอุ๋ย บอกไว้ในคำนำว่า
...เรื่องที่ผมมีโอกาสได้รับรู้เพราะความใกล้ชิดหรือเพราะมีส่วนเข้าไปจัดทำ ก็จะแทรกข้อมูลบางส่วนที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดให้ผู้อ่านได้รับรู้ไว้ด้วย...
ที่ว่าสำคัญก็เพราะโอกาสที่ผู้เขียนระบุถึงนั้นไม่ธรรมดาเลย ทั้งโอกาสในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทั่งรองนายกรัฐมนตรี แต่ละจังหวะเวลานำมาซึ่งสถานการณ์และปัญหาให้ต้องจัดการและแก้ไข
เมื่อครั้งอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หม่อมอุ๋ยจะเล่าถึงรายละเอียดในช่วงที่ต้องใช้ฝีมือ-สติปัญญากู้วิกฤตศรัทธาของแบงก์ชาติในสมัยนั้นด้วยเรื่อง วิกฤตศรัทธาต่อธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรช่วยชาติ 300,000 ล้านบาท
ใน กรณีธนาคารกรุงไทย ตอนที่ 1 และ 2 ก็มีประสบการณ์ของการได้แจ้งชัดประจักษ์ในตัวตนคนระดับบิ๊กเบิ้มของแบงก์ ในขณะที่บทที่ว่าด้วยเรื่อง IMF ต้องขับเคี่ยวกับเล่ห์กลของต่างชาติ ที่จ้องจะเอาเปรียบกอบโกยผลประโยชน์จากไทยในยามวิกฤติ และสามารถปกป้องการสูญเสียเงินตราของไทยได้อย่างมหาศาล
มาถึง จำนำข้าว ตอนที่ 1 และ 2 เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นเป็นความสามารถของผู้เขียนทีเดียวที่เล่าเรื่องมหากาพย์จำนำข้าวในจำนวนเพียง 10 หน้ากระดาษหนังสือได้อย่างครบถ้วนกระบวนความแบบกระชับ ตั้งแต่หลักการของนโยบาย อันมีทั้งข้อดีข้อเสีย และเมื่อนโยบายนั้นถูกนำมาใช้โดยคนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด รายละเอียดเป็นอย่างไร มีใครบางคนเป็นผู้ที่ทำให้ชาติต้องประสบกับความเสียหาย ที่ไม่นับจำเลยหลักๆ ที่เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว
“ในหนึ่งแผ่นดิน”มี insight หลายเรื่องที่คนไทยร่วมสมัยในยุคนี้สมควรรู้เป็นอย่างยิ่ง
อ่านประกอบ :
สั่งซื้อด่วน!! ‘ในหนึ่งแผ่นดิน’ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
'ปรีดิยาธร เทวกุล' เล่าเบื้องหลังทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย จ้องโค่นตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ