เผยผลสอบลับคดีทุจริตคืนภาษี5พันล.! หน้าห้อง 'ซี9' โทรฯ สั่งการอำนวยความสะดวกคืนเช็คบ.
เผยผลสอบข้อเท็จจริงคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำรัฐเสียหาย 5 พันล้าน ชุดกระทรวงการคลัง ขรก.สรรพากร ให้ปากคำสอดคล้องกัน หน้าห้อง ซี9 โทรศัพท์สั่งการพื้นที่อำนวยความสะดวกผู้รับมอบอำนาจบ.กระทำความผิดรับเช็ค ให้เหตุผลเป็นกลุ่มเพื่อนตนเอง ระบุชัดพฤติการณ์กระทำผิด จนท.เอี่ยวรวมขบวนการ จดทะเบียนตั้งบริษัทใต้อาคารสนง.สรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร ลงชื่อใบตอบรับจม.เอง
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลผลวิจัยการศึกษากลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Organized Corruption) จำแนกตามภาคเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย จัดทำโดยทีมวิจัยที่มีนางสาววัชรา ไชยสาร เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ
โดยในงานวิจัยเรื่องนี้ ได้มีการหยิบยกตัวอย่าง คดีทุจริตภาษี ตั้งแต่ยุคอดีต จนถึงยุคปัจจุบัน เพื่อมาใช้อธิบายองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันโดยกลุ่มอิทธิพลร่วมกันกระทำการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรอย่างเป็นระบบในลักษณะองค์กรอาชญากรรม ซึ่งมีข้อมูลส่วนหนึ่งเชื่อมโยงไปถึง คดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ของกรมสรรพากร วงเงินหลายพันล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา ขยายผลการสอบสวนนำไปสู่การสอบสวนดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนข้าราชการกรมสรรพากร และกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้องนับสิบราย ลักษณะการกระทำความผิดปรากฎในรูปแบบบุคคลกลุ่มหนึ่งจดทะเบียนตั้งบริษัทขึ้นมา ใช้ห้องเช่าเป็นสำนักงาน อ้างว่าทำธุรกิจส่งออกไปต่างประเทศ ใช้ชื่อชาวบ้านถือหุ้นและเป็นกรรมการ (ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ จ.พิจิตร) อ้างว่ามีต้นทุนจากการซื้อขายสินค้า แต่ไม่ได้ส่งออกจริง แล้วมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร นับรวมความเสียหายเป็นวงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท (อ่านประกอบ : องค์ความรู้ใหม่ 'ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์' จุดเริ่มต้นทุจริตคืนภาษีVAT- ภาษีศุลกากร ในไทย, 5,000 ล้าน! ย้อนบทเรียนความเสียหาย คดีทุจริตคืนภาษี นำเข้า ส่งออกแร่โลหะ กรมสรรพากร, เจาะทุจริตคืนภาษี 4.3 พันล. ถึงเปิดโปงกลุ่มใหม่ 2 พันล. หน้าที่ปกติ ‘สื่อ-อิศรา’)
สำนักข่าวอิศรา รายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในงานวิจัยเรื่องนี้ พบว่า ทีมวิจัยได้มีการระบุผลการสอบสวนพฤติการณ์กระทำความผิดของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว โดยระบุว่า คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลังได้ชี้มูลเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 ในความผิดในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยได้ทำการตรวจสอบสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 พบว่า เจ้าหน้าที่สรรพากรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการจดทะเบียนจำนวน 7 บริษัท ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดจนหมดข้อสงสัยครบทุกประเด็น นอกจากนี้ ยังมีกรณี ใบกำกับภาษีซื้อที่มาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมีมูลค่าสูง ตามระเบียบต้องมีการสอบยันก่อนคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ในทางปฏิบัติผลปรากฏว่ามีการอนุมัติเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการ โดยไม่รอผลสอบยัน ทั้ง ๆ ที่บริษัทเพิ่งเริ่มประกอบกิจการเดือนแรก
ขณะที่จากการสอบปากคำเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 สำนักสรรพากรพื้นที่สาขาบางรัก 1-3 ให้ปากคำต่อคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ สอดคล้องต้องกันว่า มีหน้าห้องของข้าราชการของกรมสรรพากรระดับ 9 โทรศัพท์มาสั่งการให้เจ้าหน้าที่สรรพากรในพื้นที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทที่กระทำผิดให้มารับเช็คคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยให้เหตุผลว่าเป็นกลุ่มเพื่อนของตนเอง
ในงานวิจัยยังระบุด้วยว่า ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงคดีทุจริตการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว มีกรณีที่น่าสนใจ คือ บริษัท SUVMT (ชื่อย่อ) จดทะเบียนเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการส่งออกโลหะอัดก้อน สถานประกอบการเป็นห้องกระจกโล่ง ๆ ไม่มีคนงาน ไม่มีอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ไม่มีวัตถุดิบหรือสินค้าคงเหลือ ตั้งอยู่ใต้อาคารสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2 อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร
แต่เจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2 ดังกล่าว กลับออกหนังสือยืนยันว่า“ผลการตรวจสอบยันถูกต้อง” โดยไม่มีการตรวจสอบยันจริง พร้อมกับส่งหนังสือยืนยันไปให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 ใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินคืนภาษีให้กับผู้ประกอบการอีกรายที่ยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2 ส่งจดหมายแนบแบบ ภ.พ. 20 ถึงบริษัทดังกล่าว ที่ตั้งอยู่ใต้อาคารที่ทำการสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2 แต่ปรากฏว่า ไม่มีผู้รับจดหมาย จึงถูกตีกลับไปยังที่ทำการไปรษณีย์สมุทรสาคร
โดยมีบุคคลไปรับจดหมายที่ไปรษณีย์ซึ่งจากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจดูชื่อในใบตอบรับจดหมาย พบว่าเป็นข้าราชการกรมสรรพากร สังกัด สำนักงานสรรพากรภาค 2 เอง
ขณะที่ผลการวิจัยเรื่องนี้ ยังยืนยันว่า ลักษณะความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงและความร่วมมือของกลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากร มักเริ่มจากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ แล้วพัฒนาความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบจนถึงกับมีลักษณะเป็นองค์กรที่มุ่งกระทำการทุจริตทางภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากร โดยมีการวางแผนงาน วางแผนคน แบ่งงานกันทำแบบเครือข่ายที่มีความเชื่อมโยงและความร่วมมือกัน ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ (ข้าราชการและนักการเมือง) ร่วมกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือ กลุ่มบุคคลอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์กันในเชิงธุรกิจ หรือมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างกันกระทำการทุจริตทางภาษีอากร หรือทำการทุจริตภาษีในเชิงนโยบาย (เช่น การกำหนดนโยบาย/กฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ เป็นต้น) และกระทำการทุจริตในการไม่ชำระค่าภาษีหรือหลีกเลี่ยงค่าภาษีในเขตปลอดอากร
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
องค์ความรู้ใหม่ 'ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์' จุดเริ่มต้นทุจริตคืนภาษีVAT- ภาษีศุลกากร ในไทย
5,000 ล้าน! ย้อนบทเรียนความเสียหาย คดีทุจริตคืนภาษี นำเข้า ส่งออกแร่โลหะ กรมสรรพากร
เชิดคนขับรถนั่งกก.-ใช้ห้องเช่าตั้งสนง.! เบื้องลึก กลุ่มทุจริตคืนภาษีชิ้นส่วนคอมฯ 2 พันล.