- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เชิดคนขับรถนั่งกก.-ใช้ห้องเช่าตั้งสนง.! เบื้องลึก กลุ่มทุจริตคืนภาษีชิ้นส่วนคอมฯ 2 พันล.
เชิดคนขับรถนั่งกก.-ใช้ห้องเช่าตั้งสนง.! เบื้องลึก กลุ่มทุจริตคืนภาษีชิ้นส่วนคอมฯ 2 พันล.
"...ข้อมูลเริ่มต้นจากมีกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ประกอบธุรกิจส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รวมเครือข่ายกว่า 40 บริษัท โดยมีทุนจดทะเบียนแห่งละประมาณ 1 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นและกรรมการบางรายประกอบอาชีพเป็นเพียงพนักงานขับรถ สำนักงานมีลักษณะเป็นห้องเช่า โดยมีประมาณ 20 บริษัท ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรและได้รับอนุมัติเป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ปรากฎว่ากลุ่มบริษัทดังกล่าวไม่ได้ส่งออกจริงและมีพฤติการณ์เข้าข่ายทุจริต..."
คดีทุจริตคืนภาษีกลุ่มผู้ประกอบการรับซื้อจำหน่าย นำเข้าและส่งออกแร่โลหะทุกชนิด สร้างความเสียหายให้กับประเทศรวมวงเงินกว่า 5,000 ล้านบาท
โดยในขั้นตอนกระบวนทุจริตถูกระบุว่า กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐกับ พวกมีการแบ่งงานกันทำเป็นขบวนการ ร่วมกันจัดหารายชื่อบุคคลธรรมดาเพื่อไปขอจัดตั้งจดทะเบียนบริษัทส่งออก แต่ไม่มีการประกอบกิจการจริง และดำเนินการออกใบกำกับภาษีเท็จ ทั้งที่ไม่มีการส่งออกออกสินค้าจริง แล้วนำหลักฐานใบกำกับภาษีปลอมไปยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกับเจ้าหน้าที่สรรพากร ขณะที่การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการตรวจสอบตามระเบียบหลักเกณฑ์ วิธีการที่กรมสรรพากรกำหนด เป็นเหตุให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิชอบจำนวนดังกล่าว คือ ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว (อ่านประกอบ : องค์ความรู้ใหม่ 'ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์' จุดเริ่มต้นทุจริตคืนภาษีVAT- ภาษีศุลกากร ในไทย, 5,000 ล้าน! ย้อนบทเรียนความเสียหาย คดีทุจริตคืนภาษี นำเข้า ส่งออกแร่โลหะ กรมสรรพากร)
คราวนี้มาดูข้อมูลคดีทุจริตกรณีกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์กันบ้าง?
ทั้งนี้ ผลวิจัยการศึกษากลุ่มอิทธิพล ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Organized Corruption) จำแนกตามภาคเศรษฐกิจ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย จัดทำโดยทีมวิจัยที่มีนางสาววัชรา ไชยสาร เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า การทุจริตกรณีกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2557 ข้อมูลลักษณะการกระทำผิดที่เกิดขึ้นใกล้เคียงและมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคดีทุจริตคืนภาษี กลุ่มผู้ประกอบการรับซื้อจำหน่าย นำเข้าและส่งออกแร่โลหะทุกชนิดอยู่บางประการด้วย
ข้อมูลเริ่มต้นจากมีกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ประกอบธุรกิจส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รวมเครือข่ายกว่า 40 บริษัท โดยมีทุนจดทะเบียนแห่งละประมาณ 1 ล้านบาท
ผู้ถือหุ้นและกรรมการบางรายประกอบอาชีพเป็นเพียงพนักงานขับรถ สำนักงานมีลักษณะเป็นห้องเช่า
โดยมีประมาณ 20 บริษัท ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรและได้รับอนุมัติเป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท
แต่ปรากฎว่ากลุ่มบริษัทดังกล่าวไม่ได้ส่งออกจริงและมีพฤติการณ์เข้าข่ายทุจริต กรมสรรพากรจึงส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีเอาผิดกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง
พฤติกรรมการกระทำผิด คือ กลุ่มบุคคลได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอ้างว่า ส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไปสปป. ลาว ผ่านจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดหนองคาย และจังหวัดอุบลราชธานี อ้างว่ามีต้นทุนจากการซื้อขายภายในประเทศ แต่ไม่ได้ส่งออกจริง และแม้ส่งออกจริงก็มีจำนวนไม่มาก แต่ได้ทำบัญชี ยื่นขอคืนเงินภาษีมูลค่ำเพิ่ม
พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ แบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ เชิดบุคคลถือหุ้นและเป็นกรรมการ มีตัวการอยู่เบื้องหลัง โอนเงินกันไปมาระหว่าง บริษัทและบุคคลในกลุ่ม จากนั้น ก็ถอนเงินสดออกจากบัญชีธนาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสาร และตรวจสอบเส้นทางการเงินของบุคคลผู้เกี่ยวข้อง
สำหรับข้อมูลเชิงลึกนั้น จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 1 จำนวน 5 บริษัท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) และอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 2 ในเบื้องต้นอีก 8 บริษัท และยังมีบริษัทอื่นและบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในพื้นที่อื่นอีกจำนวนหนึ่ง การกระทำความผิดดังกล่าวมีความเชื่อมโยงของกลุ่มบุคคล
ซึ่งบางคนเป็นกรรมการเพียง 1 บริษัท แต่บางคนเป็นกรรมการหลายบริษัท โดยมีผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้ดำเนินการรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นบุคคลคนเดียวกัน ทำให้มีบริษัทเครือข่ายในกลุ่มนี้ ประมาณ 40 บริษัท
และไปยื่นขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เดือนแรกนับแต่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล และได้รับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มคืนประมาณ 20 บริษัท
เมื่อยื่นจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลไม่นานก็จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานและเปลี่ยนแปลงกรรมการ
โดยพบว่าที่ตั้งสำนักงานของบริษัทบางแแห่งเป็นที่ ตั้งสำนักงานเดียวกันถึง 3 บริษัท เช่น บริษัท R จำกัด จดทะเบียน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2554 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีนางสาว NK เป็นผู้ขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นกรรมการ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ
จากการตรวจสอบงบการเงินแจ้งว่า รอบปีพ.ศ. 2554 มีรายได้ 47,632,000 บาท ขาดทุนสุทธิ 126,424 บาท ไม่พบข้อมูลนำส่งงบการเงินปี พ.ศ.2555 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แต่ได้ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ในปีพ.ศ. 2554 จำนวน 3 ล้านบาทเศษ และปีพ.ศ. 2555 ได้ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 30 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในรายงานวิจัย ระบุว่า กลุ่มบุคคลที่มีส่วนรวมในการทุจริตคดีนี้ นำโดย นาย WS ซึ่งพฤติการณ์นี้เข้าข่ายทุจริตโดยแบ่งหน้าที่ทำเป็นขบวนการเชิดบุคคลถือหุ้นและเป็นกรรมการมีตัวการอยู่เบื้องหลัง โอนเงินกันไปมาระหว่างบริษัทและบุคคลในกลุ่ม ในขณะที่กรมสรรพากรมีการเร่งรัดให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มเร็วผิดปกติโดยไม่มีการสอบยันผู้ขายสินค้า แต่มีการแก้ไขระเบียบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เอื้อประโยชน์ต่อการคืนภาษีได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งๆที่ผู้ประกอบการกลุ่มที่ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีความน่าเชื่อถือตามเกณฑ์ที่จะพิจารณาคืนภาษี
นอกจากนั้น ยังพบว่ากลุ่มบริษัทผู้ขายสินค้ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ขอคืนภาษี ซึ่งน่าเชื่อว่ามีการออกใบกำกับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
------------
กรณีกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จึงนับเป็นการทุจริตขอคืนภาษีอีกหนึ่งรูปแบบ ที่ต้องถูกบันทึกไว้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของกรมสรรพากรเช่นกัน
ณ ปัจจุบัน กรมสรรพากร ติดตามเงินภาษีเหล่านี้กลับคืนมาได้มากน้อยแค่ไหน ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลที่ชัดเจนในขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/