เบื้องหลัง! กกต.การันตี หน.คสช.มิใช่ จนท.รัฐ ชี้ถ้าขาดไปกลไกสะดุด-ชาติเสียหายร้ายแรง
เบื้องหลัง! กกต.มติเอกฉันท์ยัน ‘หัวหน้า คสช.’ มิใช่ จนท.รัฐ-ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯโดยชอบ ฝ่ายที่ปรึกษากฎหมาย กกต. วิเคราะห์แล้วเป็นองค์กรตาม รธน. มีอำนาจพิเศษ จำกัดวาระดำรงตำแหน่ง ถ้าไม่มีจะทำให้กลไกการเมืองสะดุด-สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศ
จากกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์เห็นว่า การประกาศชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ชอบด้วยกฎหมาย โดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 88 และ 89 รวมถึงเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 13 และ 14 และไม่ได้มีลักษณะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐนั้น (อ้างอิงข่าวจาก ไทยพีบีเอส)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เหตุผลของคณะกรรมการ กกต. ที่มีมติเอกฉันท์ดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. ที่นำเสนอประเด็นข้อกฎหมายนี้ให้แก่ กกต. ก่อนที่ กกต. จะมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้มีลักษณะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
โดยเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562 คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กกต. ได้ประชุมหารือกันในกรณีมีเหตุที่ กกต. จะเพิกถอนรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ตามหนังสือคัดค้านของนายวิญญัติ ชาตินตรี หรือไม่ อย่างไร โดยมีปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรณีคัดค้านว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เนื่องจากมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. หรือไม่
คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กกต. มีความเห็นโดยสรุปว่า เมื่อพิจารณาประเด็นในเรื่องสถานะและอำนาจหน้าที่ของ คสช. และหัวหน้า คสช. เห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดอำนาจหน้าที่ คสช. ไว้เป็นพิเศษหลายประการ เช่น ให้หัวหน้า คสช. เป็นผู้เสนอแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ คสช. คัดเลือกและประกาศรายชื่อผู้สมัครได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว. ภายใน 3 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ คสช. ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ได้แต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ และให้มีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยเฉพาะอำนาจตามมาตรา 44 ดังกล่าว
ดังนั้นโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 สถานะของ คสช. จึงมีลักษณะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากระบอบการปกครองโดยคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไปสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากไม่มี คสช. อยู่ การแต่งตั้ง ส.ว. หรือการเลือกตั้งอาจไม่เกิดขึ้นได้ หากไม่มี คสช. ระบอบการเมืองการปกครองตามรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจดำเนินไปได้อย่างแน่แท้
คณะกรรมการที่ปรึกษา กกต. ระบุอีกว่า การดำรงตำแหน่งของ คสช. มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อระยะเวลาเปลี่ยนผ่านคืนสู่ความสงบและพ้นตำแหน่งวันเดียวกับที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง จึงไม่มีกรณีเห็นได้ว่าขัดกับเจตนารมณ์ของมาตรา 98 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นโดยเหตุผลดังกล่าวเห็นว่า คสช. และหัวหน้า คสช. เป็นตำแหน่งที่มีลักษณะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องดำรงอยู่เพื่อเป็นหลักประกันให้ระบอบการเมืองหลังการเลือกตั้งดำเนินการต่อไปได้ หากให้มีการลาออกของ คสช. หรือหัวหน้า คสช. เพื่อไปสมัครรับเลือกตั้ง ย่อมเป็นกรณีที่ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจทำให้กลไกทางการเมืองสะดุดหยุดลง และกลายเป็นความเสียหายร้ายแรงของประเทศชาติในทำนองเดียวกันกับการกำหนดห้ามมิให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรักษาการหรือครบวาระหรือหลังการยุบสภา ลาออกเพื่อมาสมัครรับเลือกตั้งใหม่นั่นเอง
ดังนั้นคณะกรรมการที่ปรึกษา กกต. เห็นว่า คสช. และหัวหน้า คสช. มิได้อยู่ในนิยามความหมายของการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมถึงการนำนิยามเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และเจ้าพนักงานรัฐตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มานิยามนั้น กฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว ไม่ได้มุ่งหมายให้คำนิยามไปถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญอย่าง คสช. นอกจากนี้การเอานิยามของ พ.ร.บ. มาใช้บังคับกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ น่าจะขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ในมาตรา 98 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560
คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (15) และส่งความเห็นให้กับ กกต. เพื่อพิจารณา กระทั่ง กกต. มีมติเอกฉันท์ว่า หัวหน้า คสช. มิใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมานั่นเอง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินการันตี ‘หัวหน้า คสช.’ มิได้เป็น จนท.รัฐ
ผู้ตรวจการแผ่นดินคอนเฟิร์ม! หน.คสช. ไม่ใช่ จนท.รัฐ-เป็นรัฏฐาธิปัตย์ คุม ปท. ชั่วคราว
กาง กม.-ดูคำวินิจฉัย ศาล รธน.ปี’43 นิยามตำแหน่ง จนท.รัฐ-หัวหน้า คสช.เข้าข่ายไหม?