- Home
- Isranews
- เกาะติดเลือกตั้ง 2562
- ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินการันตี ‘หัวหน้า คสช.’ มิได้เป็น จนท.รัฐ
ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินการันตี ‘หัวหน้า คสช.’ มิได้เป็น จนท.รัฐ
“…ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มิได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ หากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ อันเป็นการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป โดยรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 265 ยังคงให้การรับรองอำนาจนี้อยู่ แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. มิได้ลักษณะตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 5/2543 ข้างต้น ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงมิได้มีสถานะเป็น ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’…”
เคลียร์ครบทุกสถานะ!
สำหรับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากถูกรุมวิพากษ์วิจารณ์อยู่นานว่า ตกลงตำแหน่งหัวหน้า คสช. คือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงมีลักษณะต้องห้ามไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) ดังนั้นการที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ?
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2562 ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 ราย ครบองค์ประชุม ได้พิจารณาจากข้อร้องเรียนของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ‘คอนเฟิร์ม’ ชัดเจนว่า หัวหน้า คสช. มิได้เป็นเจ้าหน้าอื่นของรัฐ ดังนั้นจึงสามารถถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ‘สมัยหน้า’ ได้ (อ่านประกอบ : ผู้ตรวจการแผ่นดินคอนเฟิร์ม! หน.คสช. ไม่ใช่ จนท.รัฐ-เป็นรัฏฐาธิปัตย์ คุม ปท. ชั่วคราว)
เหตุผลทั้งหมดคืออะไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนี้
หนึ่ง กรณีร้องเรียนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อันมีลักษณะต้องห้ามมิให้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยพิจารณาวินิจฉัยคำว่า ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ ซึ่งเคยบัญญัติไว้ในมาตรา 109 (11) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ปรากฎตามคำวินิจฉัยที่ 5/2543 โดยวินิจฉัยว่า คำว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้
1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย
2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ
3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ
4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน ตามกฎหมาย
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ย่อมมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 211 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ความหมายของคำว่า ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ ซึ่งเป็นถ้อยคำเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 98 (15) ของรัฐธรรมนูญว่า จะต้องมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ต้องมีลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประกอบดังกล่าวข้างต้นด้วย
เมื่อพิจารณาถึงสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. แล้ว แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติงานประจำ โดยมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมายก็ตาม แต่ตำแหน่งดังกล่าว ได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. บริหารราชการแผ่นดินตามประกาศแต่งตั้งหัวหน้า คสช. ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 มิใช่เป็นการได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย หากแต่เป็นการได้รับแต่งตั้งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศโดย คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ
ประกอบกับตำแหน่งหัวหน้า คสช. มิได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ หากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นความจำเป็นในช่วงที่จะต้องเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศไปสู่สถานการณ์ปกติ อันเป็นการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป โดยรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 265 ยังคงให้การรับรองอำนาจนี้อยู่ โดยบัญญัติให้ คสช. ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งตามรัฐธรรมนูญจะเข้ารับหน้าที่
แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. มิได้มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และมิได้ลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประการ ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 5/2543 ข้างต้น ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงมิได้มีสถานะเป็น ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’
สอง กรณีร้องเรียนว่า กกต. ประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่ พปชร. เสนอ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 และ 89 หรือไม่นั้น
เห็นว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. มิได้มีสถานะเป็น ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ ดังที่ได้พิจารณาแล้วข้างต้น การที่ กกต. ประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่พรรค พปชร. เสนอ จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 13 และ 14 และมิได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 และ 89 กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติเรื่องร้องเรียน
อ่านประกอบ : กาง กม.-ดูคำวินิจฉัย ศาล รธน.ปี’43 นิยามตำแหน่ง จนท.รัฐ-หัวหน้า คสช.เข้าข่ายไหม?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก Voice TV