ดีเบต 4 พรรคใหญ่ ถกประเด็น “กลไกภาษีบังคับออม” ผู้สูงอายุ
ดีเบต 4 พรรคใหญ่ ถกประเด็น “กลไกภาษีบังคับออม” ผู้สูงอายุ ปชป. หนุนขึ้น VAT 3% เข้าบัญชีผู้ซื้อ เก็บเป็นเงินออมยามชรา 'พปชร.-พท.' ค้าน หวั่นผิดทาง มีวิธีอื่นดูเเล 'อนาคตใหม่' เสนอปรับจัดสรร ให้ท้องถิ่นดำเนินการ
“การใช้กลไกทางภาษีบังคับออมเงินในผู้สูงอายุ” เป็นหนึ่งประเด็นการดีเบตในเวทีนำเสนอนโยบายพรรคการเมือง “รัฐบาลใหม่กับการรับมือสังคมสูงวัย ภาระที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ” ณ ห้องประชุมสานใจ 1 ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมี 4 พรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และอนาคตใหม่ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2562 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานประสานนโยบายรองรับสังคมสูงวัย(สป.สว)
@พรรคประชาธิปัตย์
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรค ปชป.สนับสนุนแนวคิดนี้ และเคยเสนอแนวความคิดนี้มาก่อนหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม หากจะขึ้นภาษี เพื่อจัดหารายได้เข้ารัฐ ผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ควรจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะปรับขึ้น เพราะจะเป็นภาษีที่สร้างต้นทุนให้กับเศรษฐกิจ สร้างภาระที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชนทั่วไป
“ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นลักษณะภาษีที่มีความถดถอย คนรวยและคนจนต้องเสียเท่ากัน ดังนั้นสิ่งที่พรรค ปชป. เล็งเห็นเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้จะมีลักษณะคล้ายกับที่ทาง สป.สว.เสนอ คือเงินจำนวนนี้จะไม่มีการเก็บเข้าคลังของรัฐบาล แต่เงินจะถูกนำไปเก็บเป็นบัญชีออมทรัพย์ของผู้ที่เสียภาษีนี้”
หัวหน้าพรรค ปชป. ยังระบุการดำเนินการโครงการดังกล่าวจะต้องมีเพดานกำหนดหรือข้อยกเว้น เพราะในกรณีของผู้ที่มีฐานะทางการเงินดี มีการใช้จ่ายมาก ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ก็อาจจะไม่ได้รับสิทธิ์ในเงินออมดังกล่าวทั้งหมด โดยเงินในบางส่วนนั้นอาจจะต้องแบ่งไปเป็นกองทุนสำหรับคนอื่น ๆ
ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกนั้น คือ การแก้ไขกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ซึ่งปัจจุบันพยายามไม่ให้มีการทำ Earmarked tax (ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ) ซึ่งพรรค ปชป. ไม่เห็นด้วยและมีมุมมองว่าการทำ Earmarked tax เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำต่อไปในอนาคต เพราะประชาชนต้องการรู้มากขึ้นว่าถ้าหากจะต้องมีภาระใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเงินจะไปอยู่ที่ส่วนไหนบ้าง
“อย่างไรก็ตาม ปัญหาการทำโครงการนี้ยังติดอยู่ในเรื่องที่เราจะสามารถปรับขึ้น VAT ในจังหวะที่เหมาะสมได้อย่างไร” อภิสิทธิ์ ตั้งคำถาม ก่อนขยายความว่า เพราะในสภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจเป็นลักษณะนี้ยังไม่น่าจะใช่จังหวะที่จะไปเริ่มต้น
ประการที่สอง คือ กลไกในการทำงานเรื่องนี้ที่ทางพรรคได้ศึกษามา จะต้องอาศัยการพิจารณาว่าการชำระเงินและหลักฐานการชำระเงินต่าง ๆ จะถูกบันทึกเข้าสู่ระบบอย่างราบรื่นได้อย่างไร ซึ่งจะง่ายที่สุดคือเมื่อเราเปลี่ยนเป็นสังคมไร้เงินสด เพราะถ้าหากจะต้องให้ประชาชนเก็บใบเสร็จการชำระเงินเพื่อมาเป็นหลักฐานขอเงินคืนเข้าสู่บัญชีเงินออมตนเองจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก
ท้ายสุดหัวหน้าพรรค ปชป. ยืนยันในจุดประสงค์ของโครงการนี้ว่าไม่ใช่โครงการที่เพิ่มภาษีแล้วนำเงินส่วนที่แยกออกมานั้นไปช่วยเหลือผู้สูงอายุ แต่เป็นการแบ่งในส่วนของการที่บุคคลหนึ่งต้องจ่ายภาษีร้อยละ10 และแบ่งออกมาร้อยละ3เก็บเข้าบัญชีของผู้นั้นเอง โดยไม่ได้นำเงินเข้ารัฐหรือเรียกว่าเป็นการบังคับออม เพราะในปัจจุบันยังมีหลายคนที่ไม่สามารถบริหารรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่าย การออมโดยสมัครใจสำหรับประเทศไทยจึงยังไม่เพียงพอ และยังไม่ใช่เรื่องที่ทุกชุมชนจะสามารถจัดการได้เอง
@พรรคพลังประชารัฐ
ด้าน กอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ มีความคิดเห็นต่างออกไปจากหัวหน้าพรรค ปชป. เนื่องจากการทำวิจัยศึกษาเรื่องผู้สูงอายุมาเป็นเวลา 15 ปี โดยหลักแล้วผู้สูงวัยมีโครงสร้าง 4 เสาที่จะคอยช่วยเหลือตัวผู้สูงวัยเอง โดยเริ่มจากเสาแรกการทำงานด้วยตัวเองจนกว่าจะหมดแรง เมื่อหมดแรงทำงานจะเป็นเสาที่สองนั้นคือครอบครัวจะดูแลต่อ เสาที่สามหากใครมีการออมเงินก็จะมีดอกเบี้ยและเสาสุดท้ายคือการช่วยเหลือจากภาครัฐบาล
การใช้หลักการดังกล่าวนั้นหมายถึงต้องการเพิ่มภาวะการพึ่งพารัฐของผู้สูงอายุ หากกล่าวว่าต้องการจะเปลี่ยนผู้สูงอายุให้เป็นพลังมีกำลังพอที่จะดูแลตัวเองได้แล้ว การจัดเก็บภาษีเพิ่มโดยจัดแบ่งร้อยละ3เป็นเงินออมให้ไว้ใช้ในช่วงสูงอายุถือว่าปฏิบัติผิดทาง ซึ่งควรที่จะเริ่มให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้ เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีการหารรายได้ใหม่ ๆ ในชุมชน เช่น การออมต้นไม้(ธนาคารต้นไม้) หรือจะเป็นธนาคารชุมชน
“ปัญหา ณ ขณะนี้คือผู้สูงอายุในต่างจังหวัดยังไม่มีช่องทางให้เก็บเงินออม”
โฆษกพรรคพลังประชารัฐ เสนอว่า รัฐควรจะเข้าไปส่งเสริมสวัสดิการชุมชนให้ชุมชนสามารถดูแลตนเอง เข้มแข็ง สามารถรองรับผู้สูงอายุเหล่านั้นได้ เพราะหากสามารถจัดการชุมชนทั่วประเทศให้เข้มแข็งได้ จะสามารถดูแลด้วยกันเองได้และทางภาครัฐจะดูแลเท่าที่จำเป็น
“พี่น้องในชุมชนสามารถทำได้ คนจนเขาก็สามารถออมได้หลังจากการออมเขาก็สามารถจัดสวัสดิการชุมชนได้เราจึงควรส่งเสริมให้เขาสามารถพึงพาตัวเองได้” กอบศักดิ์กล่าว
@พรรคเพื่อไทย
เช่นเดียวกับ ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย มองว่าการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุถูกมองว่าเป็นภาระของสังคมจากคนที่จะต้องจ่ายภาษีมากขึ้น ทั้งนี้หากมองในรูปแบบการดำเนินการประชาชนอาจจะมองว่าเงินที่ถูกแบ่งออกมาทำไมถึงถูกนำไปใช้แค่เพียงด้านการดูแลผู้สูงอายุเพียงด้านเดียวไม่ได้แบ่งไปจัดการในด้านอื่นๆด้วย
กองทุนเกี่ยวกับผู้สูงอายุนั้นเคยมีครั้งหนึ่งที่ได้นำภาษีด้านสรรพสามิตเพิ่มเงินเข้าไปในกองทุนในช่วงที่กองทุนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอ ซึ่งทางพรรคเห็นว่าข้อเสนอนี้ดีกว่าการเพิ่มภาษี อีกทั้งการเพิ่มภาษีไม่น่าจะใช่รายได้ในระยะยาวซึ่งควรจะทำให้คนมีงานมีเงินนำและมองหาเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกในเรื่องงานมากขึ้นดีกว่า
“กลไกการออมมีหลายวิธี ไม่จำเป็นที่จะต้องมาเพิ่มภาษี ไม่ว่าจะเป็นกองทุนการออม หรือฉลากออมสินพิเศษ หวยออมทรัพย์หรือดึงจากภาษีสรรพสามิตหรือส่วนอื่นและถ้าเป็นการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีเพียงกลุ่มคนบางกลุ่มซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มผู้มีฐานะที่จะได้ประโยชน์” ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ระบุ
@พรรคอนาคตใหม่
นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่มีมุมมองว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่ประชาชนทุกคนจะต้องจ่าย หากแต่เมื่อจ่ายแล้วภาษีดังกล่าวกลับมาสะสมอยู่ที่ศูนย์กลางของประเทศแล้วค่อยกระจายไปในส่วนต่าง ๆ จึงทำให้คนส่วนมากไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากภาษีนี้โดยตรง ทางพรรคอนาคตใหม่จึงเสนอความคิดว่าภาษีต่าง ๆ ต้องมีการจัดสรรใหม่ คือต้องมีการจัดสรรไว้ให้ในส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ภาคส่วนนี้มีงบประมาณในการจัดการแก้ปัญหาต่างๆได้
พรรคอนาคตใหม่ยังไม่ได้วางแผนการปรับเพิ่มภาษีดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในนามบุคคล แต่จะมองถึงการนำภาษีไปใช้ในทางสาธารณะ อีกทั้งขั้นตอนของโครงการนี้ค่อนข้างมีความซับซ้อนคือต้องรวบรวมหลักฐานการใช้จ่ายเพื่อไปแสดงการเสียภาษี แต่โครงการดังกล่าวอาจจะเป็นไปได้จริงในอนาคต
“ถ้าหากเงินออมนั้นเป็นเงินของทุกคนรัฐจะต้องมีการจัดสรรเงินบำนาญให้เท่ากัน ไม่แบ่งแยกคนรวยคนจน”นพ.เอกภพกล่าว
อย่างไรก็ดีต่างประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยที่ “รวยก่อนแก่” ย่อมจะมีปัญหาน้อยกว่าประเทศของเราที่ “แก่ก่อนรวย” .
อ่านประกอบ:4 พรรค ดีเบตสังคมผู้สูงวัย 'ปชป.' หนุนขึ้น vat 3% เก็บเงินออม-พปชร.ขยายอายุเกษียณ 63 ปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/