หนุนต้านเซ็งแซ่!ป.ป.ช.รับฟังความเห็นบิ๊กหน่วยงานรัฐยื่นทรัพย์สิน-เลขาฯยันง่ายขึ้น
ป.ป.ช. เปิดรับฟังความเห็นปมนายก-กก.สภา-บอร์ดกองทุน-บอร์ดองค์การมหาชน ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ‘วัชรพล’ ยันเป็นกลไกสำคัญแก้ไขปัญหาทุจริต เลขาฯแจงยื่นแบบใหม่ง่ายขึ้น รัดกุมกว่าเดิม เสียงหนุนยันต้องทำเพื่อความโปร่งใส-ฝ่ายต้านหวั่นยื่นผิดติดคุก กระทบเรื่องส่วนตัว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เชิญเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่น ทั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการองค์การมหาชน รวมถึงกรรมการในกองทุนต่าง ๆ มารับทราบข้อมูล และรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาหลักเกณฑ์และความเหมาะสมในการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ถูกแก้ไขนิยามตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 21/2561 โดยมีนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้แจง
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ปี 2561 ระบุว่า กรรมการหน่วยงานอื่นของรัฐไม่มีบริบทให้ ป.ป.ช. กำหนดบางมหาวิทยาลัย หรือบางหน่วยงานได้ จึงต้องพยายามประกาศกำหนดมาให้หมด ไม่อย่างนั้นจะทำไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย จึงเป็นที่มาของปัญหาพอสมควรอย่างที่ทราบกัน โชคดีมีรัฐบาล โดย คสช. ใช้มาตรา 44 แก้ไข เอาส่วนกรรมการออกไป เมื่อออกไปแล้ว จึงมาเพิ่มเติมให้เหมือนกับกฎหมายเก่าเมื่อปี 2542 ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารระดับสูงใดบ้างต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยสามารถกำหนดได้ว่าให้ยื่นและเปิดเผยตามมาตรา 102 หรือยื่นและไม่เปิดเผยตามมาตรา 103
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า กลไกการยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการแก้ไขปัญหาการทุจริต มองว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีความสุจริตโปร่งใส อยากให้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และจริง ๆ ตามกฎหมายใหม่ปี 2561 ในอนาคตเจ้าหน้าที่ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงใน ป.ป.ช. ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเช่นเดียวกัน โดยรอให้รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น นอกจากนี้ ป.ป.ช. ทดลองให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่เพื่อลดความยุ่งยาก เป็นต้น
@เลขาฯ ป.ป.ช. แจงยื่นบัญชีแบบใหม่ง่ายขึ้น รัดกุมกว่าเดิม
นายวรวิทย์ กล่าวอธิบายเกี่ยวกับประเด็นการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และข้อแตกต่างระหว่างกฎหมาย ป.ป.ช. เก่า และกฎหมาย ป.ป.ช. ใหม่ว่า กฎหมายใหม่ที่เกิดขึ้นตอนนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย เพราะกรรมการในหน่วยงานรัฐอื่นบางแห่งไม่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินมาก่อน ทำให้รู้สึกไม่สะดวกใจที่จะดำรงตำแหน่งต่อ เลยลาออกไปบ้าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงขยายเวลาเพิ่มเติมไปอีก 60 วัน เพื่อให้หลายหน่วยงานแก้ไขปัญหากรณีเกิดการลาออกเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน คสช. มองเห็นปัญหา เลยออกคำสั่งฉบับที่ 21/2561 แก้ไขบทนิยามผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตัดคำว่ากรรมการออก เหลือผู้บริหารสูงสุดหน่วยงานรัฐอื่น และให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งเพิ่มเติมได้
“เมื่อกฎหมายเปลี่ยนไปแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะกำหนด ควรกำหนดหน่วยงานของรัฐใดให้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินบ้าง เลยต้องมารับฟังความคิดเห็น บางคนเห็นว่าผู้บริหารระดับสูงไม่ควรต้องยื่น มีเหตุผลอะไร หรือว่าควรกำหนดให้ยื่น โดยมีเหตุผลอะไร เป็นต้น และหากกำหนดแล้วต้องอยู่ในส่วนของมาตรา 102 หรือมาตรา 103” นายวรวิทย์ กล่าว
นายวรวิทย์ กล่าวว่า นอกจากนี้มีการปรับแก้ให้การยื่นและตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินรัดกุมมากขึ้น เช่น หากมีใครยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบ ให้อำนาจเลขาธิการ ป.ป.ช. ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังบุคคลดังกล่าวว่ามีเหตุผลอะไร นอกจากนี้การวินิจฉัยว่าบุคคลใดมีความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดบัญชีทรัพย์สินนั้น มีองค์ประกอบความผิดเพิ่มคือ มีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า มีเจตนาไม่แสดงหรือไม่ เช่น หากทรัพย์สินได้มาไม่ถูกต้อง แล้วเจตนาไม่ยื่นบัญชี ตรงนี้มีความผิด แต่ถ้าลืมจริง ๆ ก็ไม่มีความผิด นี่เป็นขั้นตอนที่ทำอย่างรัดกุมกว่าเดิม
สำหรับหลักเกณฑ์ในการกำหนดว่าตำแหน่งใดควรยื่นบัญชีทรัพย์สินบ้างนั้น นายวรวิทย์ กล่าวว่า ประเด็นแรกที่ต้องดูคือ หน่วยงานรัฐดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ หรือมีโอกาสหารายได้ หรือมีโอกาสใช้อำนาจหน้าที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน หรือแสวงหาทรัพย์สินให้ตัวเองหรือไม่ เช่น กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต หรือกรมศุลกากร เป็นต้น ประเด็นถัดมาคือดูต่อว่า ผู้บริหารต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอยู่แล้ว เหลือส่วนไหนที่เกี่ยวข้องบ้าง นั่นคือเจ้าหน้าที่ระดับภาค และระดับจังหวัด มีโอกาสคลุกคลีประชาชนมากกว่า จึงต้องยื่นด้วย เป็นต้น นอกจากนี้หน่วยงานยุติธรรม เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ หากตำแหน่งใดมีโอกาสคลุกคลีประชาชนได้ง่าย เช่น ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด อัยการจังหวัด หรือหัวหน้าผู้พิพากษาศาลจังหวัด ลักษณะอย่างนี้
@เสียงหนุนยันต้องทำเพื่อความโปร่งใส-ฝ่ายต้านหวั่นยื่นผิดติดคุก กระทบเรื่องส่วนตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอภิปรายแสดงความเห็นในส่วนของนายก และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่นั้น มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง โดยฝ่ายเห็นด้วย มองว่า ควรต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบเรื่องรายได้ของกรรมการสภาจากมหาวิทยาลัย ส่วนฝ่ายไมเห็นด้วย มองว่า เป็นเรื่องยุ่งยาก กังวลว่าหากยื่นผิดอาจมีคดีความถึงขั้นติดคุก หรือบางรายเห็นว่า อาจกระทบกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัวในเรื่องผู้หญิง เป็นต้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช. นัด 4 ม.ค.เชิญมหาวิทยาลัย-กองทุน ถกปมกำหนดตำแหน่งยื่นทรัพย์สิน
ปธ.ป.ป.ช.ยันชัด กก.มหาวิทยาลัยไม่ต้องยื่นทรัพย์สินแล้ว-4 ม.ค.ถกกำหนดตำแหน่งใหม่
อย่าเอาใจใคร! เลขาฯ ACT หนุน ป.ป.ช. ให้บอร์ดมหาวิทยาลัย-กองทุนยื่นทรัพย์สิน
รีเซ็ตใหม่! ม.44 แก้ กม.ป.ป.ช. กก.สภามหาวิทยาลัย-บอร์ดกองทุนไม่ต้องยื่นทรัพย์สิน
ผ่าปมร้อน! กก.สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นทรัพย์สิน ป.ป.ช. เหลือ 2 ทางเปิด-ไม่เปิดสาธารณะ?
อาจชง สนช.แก้ กม.ลูก! ปธ.ป.ป.ช.ชี้ทางออกให้ จนท.รัฐยื่นแต่ไม่เปิดเผยทรัพย์สิน
ป.ป.ช.ถกใหม่ กก.สภามหาวิทยาลัย-จนท.รัฐใดบ้างต้องยื่นทรัพย์สินหลังถูก ม.44 แก้
ไม่ถอย!ป.ป.ช.ยันผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องยื่นทรัพย์สิน-ถ้า รบ.จะสั่งเลิกก็แล้วแต่
ราชกิจจาฯแพร่แล้ว! ประกาศ ป.ป.ช.ขยายเวลา จนท.รัฐยื่นทรัพย์สินฉบับใหม่
กลัวไม่เสมอภาค! ป.ป.ช.เคาะเพิ่มตำแหน่ง 5 ประเภทขยายเวลายื่นทรัพย์สินอีก 60 วัน
ป.ป.ช.ไม่ยอมถอย! ยันนายก-กก.สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นทรัพย์สินแต่ขยายเวลา 60 วัน