ผ่าปมร้อน! กก.สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นทรัพย์สิน ป.ป.ช. เหลือ 2 ทางเปิด-ไม่เปิดสาธารณะ?
“…สำหรับทางออกของเรื่องนี้ สามารถมีบทสรุปได้ 2 ทาง ตามคำพูดของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. นั่นคือ หนึ่ง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ตามมาตรา 102 และต้องเปิดเผยตามมาตรา 106 แต่จะมีตำแหน่งไหนบ้าง คราวนี้ ป.ป.ช. จะต้องไปประชุมหารือกันอีกครั้ง สอง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ไม่เปิดเผย เป็นไปตามมาตรา 103 ซึ่งแนวทางนี้ ค่อนข้างเป็นไปได้มากที่สุด เพราะมีเสียงจากบอร์ดต่าง ๆ หลายแห่งที่พร้อมยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ว่าไม่อยากเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้…”
กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ยืดเยื้อมาหลายเดือน
กรณีเจ้าหน้าที่รัฐในส่วนของ ‘ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง’ ว่าตกลงแล้ว ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ ?
เพราะท่าทีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ช่วงแรก ยืนยันชัดเจนว่า นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมถึงบอร์ดในหน่วยงานของรัฐอื่นหลายตำแหน่ง เช่น บอร์ดกองทุนต่าง ๆ บอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) บอร์ดองค์การมหาชน เป็นต้น ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.
โดยตำแหน่งต่าง ๆ ข้างต้นอยู่ในข่ายมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ดังนั้นต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินแก่สาธารณะด้วยตามมาตรา 106 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.
ต่อมา ป.ป.ช. ออกประกาศกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ตำแหน่งดังกล่าวข้างต้นก็ยังติดโผอยู่
แม้ว่าจะเต็มไปด้วยเสียงคัดค้านจากบรรดานายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมถึงบอร์ดหน่วยงานของรัฐอื่น ที่ทยอย ‘ไขก๊อก’ เนื่องจาก ‘รับไม่ได้’ ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน อ้างว่า ตำแหน่งที่ดำรงอยู่ไม่มีส่วนได้เสีย และกลัวยื่นผิด จะถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล ต้องติดคุกติดตะราง ?
เบื้องต้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ แบ่งเป็น 2 ส่วน หลัก ๆ ได้แก่
หนึ่ง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ถูกกำหนดไว้ตามมาตรา 102 เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บอร์ดองค์กรอิสระ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และเปิดเผยต่อสาธารณะ (อ่านประกาศ ป.ป.ช. ดังกล่าว ฉบับแรก คลิกที่นี่ ฉบับที่ 2 คลิกที่นี่)
สอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ถูกกำหนดไว้ตามมาตรา 103 เช่น ผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่ง รองอธิบดีผู้พิพากษา อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ เป็นต้น ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ (อ่านประกาศ ป.ป.ช. ดังกล่าว คลิกที่นี่)
(อ่าน พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 คลิกที่นี่)
หลังจากนั้นท่ามกลางแรงต้านอย่างหนัก ทำให้ ป.ป.ช. ต้องส่ง นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. หนึ่งในผู้ดูแลเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน เข้าชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล กระทั่งมีบทสรุปออกมาก่อนว่า ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศของ ป.ป.ช. ไม่เว้นแม้แต่นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัย
แม้ว่าจะมองต่างมุมกัน กล่าวคือ ป.ป.ช. มองว่า บอร์ดสภามหาวิทยาลัย มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติงบประมาณ และจัดซื้อจัดจ้างวงเงินหลัก 100 ล้านบาทขึ้นไป รวมถึงเปิด-ปิดหลักสูตรต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย แต่ฝ่ายรัฐบาลมองว่า หากปล่อยให้บอร์ดสภามหาวิทยาลัยพาเหรดกันลาออกหมด จะเกิดวิกฤติทางการศึกษาขึ้นมาได้ ?
ถึงที่สุด ป.ป.ช. ยังคงยืนยันจุดยืน ‘ไม่ยอมถอย’ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน แต่ขยายเวลาให้บรรดาบอร์ดสภามหาวิทยาลัย บอร์ดสภาสถาบันพระปกเกล้า บอร์ดกองทุนต่าง ๆ ที่เข้าข่ายตามข้อ 5 (7) 7.8 เพิ่มเติมไปอีก 60 วัน ในการเตรียมตัวยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
อย่างไรก็ดีบอร์ดเหล่านี้ยังคงไม่ยอม ยืนยันคำเดียวว่า ‘ไม่ต้องการยื่นทรัพย์สิน’ กดดันไปที่ฝ่ายรัฐบาล ทำให้ต้องหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง กระทั่ง ‘เนติบริกร’ นายวิษณุ เครืองาม หล่นคำพูดกลางวงประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่า รัฐบาลจะหาทางแก้ไข ขอให้อย่าเพิ่งลาออก
กระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกโรงแก้ไข งัดมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไข พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยกำหนดนิยามใหม่ของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง รวมถึงยกเลิกตำแหน่งตามข้อ 5 (7) 7.8 ตามประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ให้ไม่ต้องยื่นทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. โดยรวมถึงบอร์ดสภามหาวิทยาลัย และบอร์ดเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานรัฐอื่นด้วย (อ่านประกอบ : รีเซ็ตใหม่! ม.44 แก้ กม.ป.ป.ช. กก.สภามหาวิทยาลัย-บอร์ดกองทุนไม่ต้องยื่นทรัพย์สิน)
(อ่านคำสั่ง คสช. ที่ 21/2561 ฉบับเต็ม คลิกที่นี่)
สำหรับทางออกของเรื่องนี้ สามารถมีบทสรุปได้ 2 ทาง ตามคำพูดของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. นั่นคือ
หนึ่ง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ตามมาตรา 102 และต้องเปิดเผยตามมาตรา 106 แต่จะมีตำแหน่งไหนบ้าง คราวนี้ ป.ป.ช. จะต้องไปประชุมหารือกันอีกครั้ง ถ้าหาก ป.ป.ช. ยังยืนยัน 'ย้ำ' จุดยืนเดิม ก็อาจถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาอีกครั้ง
สอง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ไม่เปิดเผย เป็นไปตามมาตรา 103 ซึ่งแนวทางนี้ ค่อนข้างเป็นไปได้มากที่สุด เพราะมีเสียงจากบอร์ดต่าง ๆ หลายแห่งที่พร้อมยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ว่าไม่อยากเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้
ส่วนการ ‘ไม่ยื่นเลย’ พล.ต.อ.วัชรพล ระบุว่า เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจาก ป.ป.ช. ต้องยืนยันเจตนารมณ์การตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน (อ่านประกอบ : อาจชง สนช.แก้ กม.ลูก! ปธ.ป.ป.ช.ชี้ทางออกให้ จนท.รัฐยื่นแต่ไม่เปิดเผยทรัพย์สิน)
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. 'คอนเฟิร์ม' สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ตามหลักการแล้วยังไงตำแหน่งเหล่านี้ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแน่นอน ส่วนจะยื่นและเปิดเผยตามมาตรา 102 หรือยื่นและไม่เปิดเผยตามมาตรา 103 ต้องอยู่ที่ดุลพินิจคณะกรรมการ ป.ป.ช. มากำหนดต่อไป
ท้ายที่สุด บทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ถกใหม่ กก.สภามหาวิทยาลัย-จนท.รัฐใดบ้างต้องยื่นทรัพย์สินหลังถูก ม.44 แก้
รีเซ็ตใหม่! ม.44 แก้ กม.ป.ป.ช. กก.สภามหาวิทยาลัย-บอร์ดกองทุนไม่ต้องยื่นทรัพย์สิน
อาจชง สนช.แก้ กม.ลูก! ปธ.ป.ป.ช.ชี้ทางออกให้ จนท.รัฐยื่นแต่ไม่เปิดเผยทรัพย์สิน
ไม่ถอย!ป.ป.ช.ยันผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องยื่นทรัพย์สิน-ถ้า รบ.จะสั่งเลิกก็แล้วแต่
ราชกิจจาฯแพร่แล้ว! ประกาศ ป.ป.ช.ขยายเวลา จนท.รัฐยื่นทรัพย์สินฉบับใหม่
กลัวไม่เสมอภาค! ป.ป.ช.เคาะเพิ่มตำแหน่ง 5 ประเภทขยายเวลายื่นทรัพย์สินอีก 60 วัน
ป.ป.ช.ไม่ยอมถอย! ยันนายก-กก.สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นทรัพย์สินแต่ขยายเวลา 60 วัน