- Home
- Isranews
- ACT ออกจม.เปิดผนึกจี้ รมว.กษ.เเก้ กม.วัตถุอันตราย เพิ่มสัดส่วนภาคปชช.-ให้สธ.เป็นหลักตัดสินใจ
ACT ออกจม.เปิดผนึกจี้ รมว.กษ.เเก้ กม.วัตถุอันตราย เพิ่มสัดส่วนภาคปชช.-ให้สธ.เป็นหลักตัดสินใจ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ทำจม.เปิดผนึกยื่นข้อเสนอเเนวทางถึง 'กฤษฎา บุญราช' รมว.กษ. จี้เเก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพิ่มสัดส่วนภาคปชช.-หน่วยงานด้านสุขภาพ ให้สธ.เป็นหลักพิจารณา เปิดเผยชื่อเอกชนมีผลประโยชน์ทางการค้า ให้อำนาจดีเอสไอ สอบเชิงลึกความสัมพันธ์ในคกก.วัตถุอันตราย ผู้เกี่ยวข้อง อนุญาตต่อทะเบียนสารพิษ เอื้อประโยชน์ต่อกัน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2561 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เรื่อง การใช้สารพิษในการเกษตรที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อประชาชน
โดยในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า เนื่องจากมีความวิตกกังวลในหมู่ประชาชนอย่างมากในขณะนี้ว่า รัฐจะปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างไร เมื่อพบว่าทุกวันนี้อาหารและพืชผลการเกษตรมีสารพิษตกค้างจำนวนมาก อันเป็นผลจากการใช้พาราควอตและสารพิษเพื่อการเกษตรอื่น แต่ก็ยังปล่อยให้มีการจำหน่ายและใช้ทั่วไปในปริมาณมหาศาล แม้นักวิชาการด้านการแพทย์ นักวิจัย กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯ จะออกมาให้ข้อมูลคัดค้านอย่างต่อเนื่อง
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอสนับสนุนท่าทีของนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.), ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นักวิจัยอาวุโส รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมและนักวิจัยอีกจำนวนมาก ที่ต้องการเห็นคนไทยมีสุขภาพดี แผ่นดินไทยปราศจากสารพิษ ด้วยการหยุดใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรที่เป็นอันตรายร้ายแรงทั้งหมดในทันที และขอเสนอแนวทางต่อรัฐบาล 3 ข้อ ดังนี้
1. ในการพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 ขอให้ยึดเอาสุขภาพที่ดีของประชาชน สำคัญกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้า และให้นำผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคณะต่างๆ ทั้งด้านสังคม ด้านสาธารณสุข ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะทำงานสารที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข มาใช้ประกอบการตัดสินใจ
2. ควรเปิดเผยรายชื่อเอกชนที่มีผลประโยชน์ทางการค้าไม่ว่าจะเป็นไทยหรือต่างชาติ เพื่อความโปร่งใส และสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ เช่น ดีเอสไอ ได้สอบสวนเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลในคณะกรรมการวัตถุอันตราย อนุกรรมการ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ต่อทะเบียนกับนักธุรกิจสารพิษเพื่อการเกษตร ว่ามีพฤติกรรมที่ฉ้อฉล หรือมีการเอื้อประโยชน์กันหรือไม่
3. ควรแก้ไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ โดยเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการ ให้มีตัวแทนภาคประชาชนและหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งควรให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาตัดสินใจ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า เพื่อปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชน รัฐบาลควรให้ยุติการใช้งานสารพิษร้ายแรงเหล่านี้ จนกว่าผู้จำหน่ายจะสามารถหาข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า ไม่เป็นพิษกับประชาชน