พลิกพฤติการณ์‘เอ็นวีพีเอสเคจี’คดีฟอกเงินคลองด่าน ก่อนอ่านฎีกาปมฉ้อโกง2.3หมื่นล.
“…คำพิพากษาศาลอาญา วินิจฉัยพฤติการณ์แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ และกลุ่มเอกชน ร่วมกันบิดเบือน และปกปิดข้อเท็จจริงดำเนินการเสนอเข้าประกวดราคาในแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ร่วมกันและได้เลือกปฏิบัติแต่ละขั้นตอนในทางที่ขัดต่อระเบียบราชการ มติคณะรัฐมนตรี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำโดยทุจริต เอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือทุก ๆ ขั้นตอนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ ทำให้กิจการร่วมค้าฯ และกลุ่มเอกชนข้างต้นได้รับเงิน และประโยชน์จากทางราชการโดยมิชอบ…”
ถึงโค้งสุดท้ายมหากาพย์คดีการทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านแล้ว !
โดยวันที่ 30 พ.ค. 2561 ศาลแขวงดุสิต นัดอ่านคำพิพากษาฎีกา ในคดีที่กรมควบคุมมลพิษ เป็นโจกท์ยื่นฟ้อง กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) กับพวกรวม 19 ราย 1.กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) 2.บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง 3.นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างฯ 4.บริษัท ประยูรวิศว์การช่างฯ 5.นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัท ประยูรวิศว์การช่างฯ 6.บริษัท สี่แสงการโยธา (1979)ฯ 7.นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการ บริษัท สี่แสงการโยธาฯ 8.บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ฯ 9.นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ฯ 10.บริษัท เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ฯ 11.นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัท เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ฯ 12.บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ ฯ
13.นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัท คลองด่านมารีนฯ 14.นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัท คลองด่านมารีนฯ 15.นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กรรมการบริษัท คลองด่านมารีนฯ 16.บริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเมนท์ฯ 17.นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ 18.นายกว๊อกวา โอเยง สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ และ 19.นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย
ในความผิดฐานฉ้อโกงการจัดซื้อที่ดิน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ เนื้อที่รวม 1,900 ไร่ มูลค่า 1.9 พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แต่ที่ดินที่จัดซื้อมานั้นเป็นของกลุ่มบริษัทพวกจำเลยที่จัดหามาเป็นลำคลอง ถนนสาธารณะ และป่าชายเลน พร้อมฉ้อโกงสัญญาก่อสร้างมูลค่ากว่า 2.3 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาเมื่อปี 2551 ยกฟ้องจำเลยที่ 1 คือกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี และประทับรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2-19 โดยพิพากษาให้จำคุกกรรมการบริษัทที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนายวัฒนา คนละ 3 ปี ส่วนบริษัทที่เกี่ยวข้องต้องเสียค่าปรับรายละ 6,000 บาท จำเลยทั้งหมดอุทธรณ์
ต่อมาเมื่อปี 2556 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับยกฟ้องจำเลยทั้งหมด โดยเห็นว่า ช่วงเวลาที่บริษัท ปาล์ม บีชฯ (จำเลยที่ 16) ซื้อที่ดินเพื่อในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ไม่แน่ชัดว่าโครงการนี้ใช้ที่ดินบริเวณใดบ้าง โดยกรมควบคุมมลพิษ เพิ่งมีโครงการชัดเจนว่า จะใช้ที่ดิน ต.คลองด่าน ในเดือน ก.พ. 2539 ดังนั้นพยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า หากจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องหรือดำเนินการใด ๆ ให้คณะกรรมการคัดเลือกของกรมควบคุมมลพิษ เลือกที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีนฯ (จำเลยที่ 12)
กระทั่งในวันที่ 30 พ.ค. 2561 ศาลแขวงดุสิตนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนี้อีกครั้ง หลังจากเลื่อนมาตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2561 เนื่องจากมีจำเลยบางรายไม่มาศาล
อย่างไรก็ดีต้องเข้าใจก่อนว่า คดีเกี่ยวกับการทุจริตก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แบ่งย่อยออกเป็นหลายคดี มีการฟ้องในหลายศาลมาก ทั้งในศาลอาญา ที่มีการฟ้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ คือ นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อเป็นผู้มีสิทธิเข้าประกวดราคา และนางยุวรี อินนา อดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ โดยเมื่อปี 2558 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งหมด 20 ปี ไม่รอลงอาญา ปัจจุบันอยู่ระหว่างอุทธรณ์ต่อสู้คดี
คดีในศาลปกครองสูงสุด ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายในโครงการดังกล่าว เป็นเงินกว่า 9 พันล้านบาท ต่อมา กรมควบคุมมลพิษ ร้องให้มีการรื้อฟื้นคดีใหม่ ซึ่งศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาว่ากรมควบคุมมลพิษ ไม่ต้องชดใช้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากทำให้ราชการเสียหาย และเกิดการทุจริต
นอกจากนี้ยังมีคดีในศาลแพ่ง ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นผู้ร้อง มีบริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ถูกร้องที่ 1-4 ในข้อหากระทำผิดฐานฟอกเงิน (อ่านประกอบ : อายัดอีก 100 ล.! 2 เอกชนพันทุจริตคลองด่าน! ปปง.สาวลึกคนฟอกเงิน, ปปง.ยื่นดีเอสไอสอบฟอกเงิน'กิจการร่วมค้าฯ-จนท.รัฐ'พันทุจริตคลองด่าน)
โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2560 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า บริษัทในกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี เป็นผู้สนับสนุน และมีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐในการทุจริต จึงเข้าข่ายการฟอกเงิน และให้ยึดทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินด้วย
ทั้งนี้ในคำพิพากษาของศาลแพ่ง ได้อ้างถึงคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อปี 2551 ในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ฟ้องนายวัฒนา อัศวเหม รวมถึงคำพิพากษาของศาลอาญาเมื่อปี 2558 ที่ อสส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตผู้บริหารระดับสูงของกรมควบคุมมลพิษ มาเป็นแนวทางการตัดสินคดี โดยชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี กับผู้กระทำความผิดด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลแพ่ง ดังนี้
@ยกคำพิพากษาศาลอาญาชี้ ‘บิ๊ก คพ.’ สมคบคิดกิจการร่วมค้าฯ
ศาลแพ่ง ยกคำพิพากษาศาลอาญา เมื่อปี 2558 ระบุว่า กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี และกลุ่มเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับกรมควบคุมมลพิษ ได้ร่วมกันบิดเบือนข้อเท็จจริงในการดำเนินการเสนอเข้าประกวดราคาในแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต โดยอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อดีตรองอธิบดีฯ และอดีตนักวิชาการสิ่งแวดล้อมระดับ 7 ร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (นายวัฒนา) โดยเลือกดำเนินการแต่ละขั้นตอนในทางที่ขัดต่อระเบียบทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี และไม่ชอบด้วยกฏหมาย สนองรับดำเนินการให้ อันเป็นการทุจริตและเอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือจนทุก ๆ ขั้นตอนบรรลุผลสำเร็จ
แสดงให้เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเกิดจากการทุจริตของอธิบดีและเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบขณะนั้น สมคบกับกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ในทุกขั้นตอนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนดังกล่าวเข้ามาเป็นคู่สัญญา เป็นการวางแผนและดำเนินการตามแผน เพื่อเอื้อประโยชน์ตั้งแต่ให้ที่ดินของบริษัท คลองด่านมารีนฯ ได้รับคัดเลือกเข้ามาใช้ในโครงการ โดยร่วมกันปกปิดและบิดเบือนราคาที่ดินให้สูงขึ้น ทั้งที่ดินดังกล่าวจำนวน 5 แปลงได้ออกโฉนดมาโดยมิชอบ กระทั่งกรมที่ดินต้องดำเนินการถอนโฉนดที่ดินทั้ง 5 แปลง
ขณะเดียวกันบริษัท ปาล์ม บีชฯ บริษัท คลองด่านมารีนฯ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทจัดหาที่ดินบริษัท เกตเวย์ฯ ซึ่งเป็นใน 1 ใน 5 ของกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งในเชิงบริหาร และเชิงทุน จนเป็นเหตุให้กิจการร่วมค้าฯ เข้ามาเป็นคู่สัญญาในโครงการนี้ กับกรมควบคุมมลพิษ โดยการดำเนินการดังกล่าวแทบทุกขั้นตอนขัดต่อกฎหมายระเบียบราชการ และมติคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น โดยมีผู้ได้รับประโยชน์คือบริษัท คลองด่านมารีนฯ และกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี
@อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาฯนักการเมืองระบุ นายรอย คือตัวเชื่อมสำคัญ
ศาลแพ่ง ได้ยกคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อปี 2551 ระบุว่า นายรอย อิศราพร ชุตาภา ถือหุ้นในบริษัท เหมืองแร่ลานทอง จำกัด และบริษัท ปาล์ม บีชฯ และเป็นกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทจัดหาที่ดินหลายบริษัท ทั้งผู้ถือหุ้นกลุ่มบริษัทดำเนินการก่อสร้างถือหุ้นบริษัทจัดหาที่ดินด้วย การถือหุ้นไขว้กันของบุคคลและบริษัท 2 กลุ่มดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า กลุ่มบริษัทจัดหาที่ดินกับกลุ่มบริษัทดำเนินการก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียดำเนินการเป็นการหากำไรร่วมกัน โดยบุคคลและบริษัทผู้ถือหุ้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด
@ชี้ผู้ได้ผลประโยชน์มีความสัมพันธ์กับกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี
ศาลแพ่ง ระบุอีกว่า เมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยในคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลอาญาข้างต้นแล้ว พบว่า นอกจากศาลจะพิจารณาถึงความผิดของจำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว ยังวินิจฉัยว่า ผู้ที่รับผลประโยชน์ในการออกโฉนดโดยมิชอบมีความสัมพันธ์กับบริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) นายวัฒนา รวมถึงอดีตผู้บริหารกรมควบคุมมลพิษ ล้วนแต่เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มบุคคลภายนอกทั้งสิ้น
กล่าวคือ กลุ่มบริษัทจัดหาที่ดิน และรับประโยชน์ในที่ดินที่ออกโฉนดโดยมิชอบ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบดำเนินโครงการที่ทำให้บริษัท คลองด่านมารีนฯ เป็นผู้มีคุณสมบัติในการเสนอที่ดินแต่เพียงผู้เดียว ส่วนกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ก็ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญา ทำให้สามารถเข้าร่วมประกวดราคา และเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับกรมควบคุมมลพิษในโครงการดังกล่าวได้
@ไม่โอนที่ดินผ่านกิจการร่วมค้าฯช่วยให้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม-ภาษี
เมื่อนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาทางนำสืบ พบว่า นายรอย เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัท คลองด่านมารีนฯ เป็นกรรมการชุดแรก และเป็นผู้ถือหุ้นตอนจัดตั้งบริษัท ปาล์ม บีชฯ กลุ่มการเมืองดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับกลุ่มข้าราชการ คือนายวัฒนา ได้ถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัท เหมืองแร่ลานทองฯ โดยบริษัทนี้ใช้สถานที่ตั้งในการจดทะเบียนเป็นบ้านพักของนายวัฒนา และยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจผูกพันบริษัท นอร์ทเทอร์นรีซอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นของบริษัท ปาล์ม บีชฯ
จากคำพิพากษาศาลอาญา ระบุตอนหนึ่งว่า โดยหลักการแล้วกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ต้องเป็นผู้ซื้อที่ดินจากบริษัท คลองด่านมารีนฯ แล้วจึงโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่กรมควบคุมมลพิษ แต่ในการต่อรองราคากลับยินยอมให้มีการโอนที่ดินจากบริษัท คลองด่านมารีนฯ แก่กรมควบคุมมลพิษโดยตรง เพื่อช่วยเหลือให้กิจการร่วมค้าฯ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอากร และภาษี
จากพฤติการณ์ดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่า การจัดซื้อที่ดินดำเนินการโดยบริษัท เหมืองแร่ลานทองฯ บริษัท ปาล์ม บีชฯ บริษัท คลองด่านมารีนฯ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการร่วมค้าฯ เพื่อให้ได้ที่ดินตรงตามเงื่อนไข TOR นำมาซึ่งการทำสัญญากับกรมควบคุมมลพิษ
@ปรากฏหลักฐานการโอนเงินไปยังบริษัทที่มีนายรอยเป็น กก.
ทั้งนี้ศาลแพ่งได้ยกถึงสำนวนการไต่สวนของ ปปง. ปรากฏหลักฐานการโอนเงินจากบริษัท คลองด่านมารีนฯ ไปยังบริษัทต่าง ๆ ที่มีนายรอยเป็นกรรมการมีอำนาจกระทำการแทน โดยนายรอยไม่มีหลักฐานแห่งมูลหนี้มาแสดงแก่ ปปง. แสดงให้เห็นว่า ระหว่างกลุ่มจัดหาที่ดินกับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ เป็นกลุ่มก่อสร้างโดยมีนายรอยเป็นตัวเชื่อมสำคัญของทั้งสองกลุ่มบริษัท โดยนายวัฒนาเคยดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และมีส่วนได้เสียกับกลุ่มบริษัทจัดหาที่ดินตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงแสดงให้เห็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ความผิดของนายวัฒนา ส่งผลเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทก่อสร้างเช่นกัน
@มัดกิจการร่วมค้าฯบิดเบือนข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ในคำพิพากษาศาลอาญา วินิจฉัยพฤติการณ์แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ และกลุ่มเอกชน ร่วมกันบิดเบือน และปกปิดข้อเท็จจริงดำเนินการเสนอเข้าประกวดราคาในแต่ละขั้นตอนโดยทุจริต และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ร่วมกันและได้เลือกปฏิบัติแต่ละขั้นตอนในทางที่ขัดต่อระเบียบราชการ มติคณะรัฐมนตรี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำโดยทุจริต เอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือทุก ๆ ขั้นตอนเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ ทำให้กิจการร่วมค้าฯ และกลุ่มเอกชนข้างต้นได้รับเงิน และประโยชน์จากทางราชการโดยมิชอบ
----
นี่คือข้อเท็จจริงโดยสรุปจากคำพิพากษาของศาลแพ่งเมื่อปี 2560 โดยอ้างอิงคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคีดอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคำพิพากษาศาลอาญาเมื่อปี 2558 มาวินิจฉัยโดยละเอียด
ล่าสุด ศาลแขวงดุสิต ได้เลื่อนพิพากษาคดีนี้ไปในวันที่ 13 ก.ค. 2561 เนื่องจากจำเลยที่ 7 ไม่มาศาล เพราะป่วย ส่วนจำเลยที่ 11 13 15 19 มีพฤติการณ์หลบหนี จึงออกหมายจับแล้ว (อ่านประกอบ : ศาลเลื่อนอ่านฎีกาคดีฉ้อโกงคลองด่านอีกหน!จำเลยป่วย-หนี ออกหมายจับ 4 คน-นัด13ก.ค.)
หมายเหตุ : ภาพประกอบบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านจาก nation