เพจเภสัชกรชายแดน สอบเส้นทางนำเข้าไซบูทรามีน ผสมในอาหารเสริมลดอ้วน-ผอมทันใจ
เพจเภสัชกรชายแดน สอบเส้นทางนำเข้ายาลดความอ้วน ผสมในอาหารเสริม ยกงานวิจัยพบ ไซบูทรามีน ฟอร์มาลีน บอร์เร็กซ์ที่ ปลอมปนในอาหารใช้วิธีแจ้งข้อมูลเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ในทางอุตสาหกรรม ผ่านด่านได้ง่าย เป็นที่นิยม เสี่ยงน้อยกว่า และสามารถนำเข้าได้ปริมาณมาก
ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประกาศ และออกมาเตือนเรื่องผลการพิสูจน์อาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารลีน เอฟเอส-ทรี และ ลีน บล้อค เบิร์น เบรค บิวท์ ใส่ยาแผนปัจจุบันบิซาโคดิล ไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งน่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพ และถึงขั้นเสียชีวิตนั้น
ไซบูทรามีน ซึ่งใช้เป็นยาลดความอ้วน ออกฤทธิ์ต่อการทำงานของสมอง ทำให้อยากอาหารลดลง และอิ่มเร็วขึ้นนั้น มาจากไหน และนำเข้ามาขายกันได้อย่างไร จนสามารถหาซื้อได้อย่างง่ายดายมาปลอมปนให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า เพจเภสัชกรชายแดน ออกมาระบุถึงการตรวจสอบข้อมูลการลักลอบนำเข้า ทั้งไซบูทรามีน , สเตียรอยด์ ฯลฯ หาซื้อไม่ยาก สามารถติดต่อและสั่งซื้อออนไลน์เภสัชเคมีภัณฑ์เหล่านี้ได้อย่างง่ายดายจากต่างประเทศและมีบริการจัดส่งถึงมือผู้ที่ต้องการ
"ความเสี่ยงของยาที่ผสมในอาหารเสริม พอจัดการอาหารเสริมตัวหนึ่งก็ไปโผล่ในอาหารเสริมตัวหนึ่งเสมอ ฉะนั้น อย่าเพียงคอยแก้ปัญหาตามกระแสเพื่อให้ผ่านๆไป ขอให้ แก้ไขให้ตรงจุด ทุบ! ไปที่ตัวการของปัญหา ปัญหาของไซบูทรามีนที่ลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทยเข้ามาโดยใคร ช่องทางไหน และไปพักไซบูทรามีอยู่ที่ไหน"เพจเภสัชกรชายแดน ระบุ
ขณะเดียวกันวารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปีที่ 11 ฉบับพิเศษ กุมภาพันธ์ 2559 ก็เคยตีพิมพ์งานวิจัยของทีมเภสัช เชิดชัย อริยานุชิตกุล, กนกพร ธัญมณีสิน และสุภนัย ประเสริฐสุข ซึ่งทำวิจัย "สถานการณ์การเลื่อนไหลและกลไกการจัดการปัญหาสเตียรอยด์ในระดับต้นน้ำ" โดยตรวจสอบเส้นทางลักลอบนำเข้าเภสัชเคมีภัณฑ์ที่มักมีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ไว้อย่างน่าสนใจ พบว่า
"......การลักลอบนำเข้าเภสัชเคมีภัณฑ์ในประเทศ ไทยเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ทางหนึ่งคือด่านชายแดนทั่วไปที่มักไม่เข้มงวดในประเด็นสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงเช่น ด่านชั่วคราว ด่านวัฒนธรรม ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยัง ประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของเภสัชเคมีภัณฑ์ที่ ได้รับความนิยม
แต่ด่านเหล่านี้มีความเสี่ยงเมื่อถูก ตรวจค้นและไม่สามารถนำเข้าได้บ่อยครั้งอีกทั้ง ปริมาณที่จะลักลอบนำเข้ามานั้นนำมาได้น้อยเพราะจะเป็นที่สังเกตและถูกตรวจค้นได้ ขณะที่อีกทางหนึ่งคือ ทางด่านตามระบบปกติโดยผู้นำเข้าจะสำแดงเท็จใน รูปแบบต่างๆ
นอกจากนี้ยังพบว่า เคมีสำหรับ เครื่องสำอาง ไซบูทรามีน ฟอร์มาลีน บอร์เร็กซ์ที่ ปลอมปนในอาหารนั้นจะใช้วิธีแจ้งข้อมูลเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ในทางอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ผ่านด่าน ได้ไม่ยาก วิธีนี้จะเป็นที่นิยมเพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่าและสามารถนำเข้าได้ปริมาณมาก"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อย.-ตำรวจ บก.ปคบ. สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ “Lyn ลีน” ซ้ำ พบแสดงฉลากไม่ถูกต้อง
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Lyn อย.เตือนเข้าข่ายไม่บริสุทธิ์ ใส่ยาลดความอ้วน-ยาระบาย
รายได้1.7ล. ขาดทุน2แสน! เจาะถุงเงินผู้ผลิต Lyn FS3 - อย. เตือนภัยสิ่งอันตรายเจือปน