ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Lyn อย.เตือนเข้าข่ายไม่บริสุทธิ์ ใส่ยาลดความอ้วน-ยาระบาย
อย.ขอประกาศให้ประชาชนระมัดระวังในการซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารลีน เอฟเอส-ทรี และ ลีน บล้อค เบิร์น เบรค บิวท์ หลังพบใส่ยาแผนปัจจุบันบิซาโคดิล ไซบูทรามีน ชี้น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประกาศเรื่องผลการพิสูจน์อาหาร หลังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารจากสถานที่จำหน่ายอาหารและแบ่งบรรจุอาหาร ณ เลขที่ 109/8-9 หมู่ 3 ถนนพระยาสัจจา ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ส่งตรวจวิเคราะห์ทางวิชาการ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี
ผลปรากฎว่า ตรวจพบยาแผนปัจจุบัน บิซาโคดิล (Bisacodyl) และไซบูทรามีน (Sibutramine) ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเห็นควรประกาศผลการตรวจพิสูจน์อาหารให้ประชาชนทราบ
1.ผลิตภัณฑ์ฉลากระบุ "ลีน เอฟเอส-ทรี (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) Lyn FS-Three (Dietary supplement product by pim) เลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0017 ผลตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ตรวจพบยาแผนปัจจุบันบิซาโคดิล
2.ผลิตภัณฑ์ฉลากระบุ "ลีน บล้อค เบิร์น เบรค บิวท์ Lyn Block burn Break Build (Dietary supplement product by pim) ผลตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ตรวจพบยาแผนปัจจุบัน ไซบูทรามีน
ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 รายการจึงเป็นอาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย เข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามมาตรา 26 (1) ฝ่าฝืนมาตรา 25 (1) มีโทษตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย.ขอประกาศให้ประชาชนระมัดระวังในการซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี อยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับไซบูทรามีน (Sibutramine) ถูกใช้เป็นยาลดน้ำหนักแบบรับประทาน มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมองของมนุษย์ ปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) คณะกรรมการอาหารและยาของประเทศในแถบอเมริกาได้ผลักดันให้ยาไซบูทรามีนเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ใช้ลดน้ำหนัก แต่ต่อมาตรวจพบว่ายานี้มีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงเช่น ทำให้ระบบการทำงานของหัวใจผิดปกติ มีความดันโลหิตสูง แรงดันโลหิตในปอดเพิ่มมากขึ้น เจ็บหน้าอก ตาพร่า หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หัวใจล้มเหลว ไตวาย จนถึงมีรายงานว่าผู้ป่วยบางรายถึงกับเสียชีวิต (ตาย) ดังนั้นในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ยาไซบูทรามีนจึงถูกเพิกถอนออกจากตลาดยาของสหรัฐอเมริกา ส่วนบิซาโคดิล (Bisacodyl) คือยาระบาย กระตุ้นให้ผนังลำไส้ใหญ่บีบตัว