ไทยแลนด์ 4.0! กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ชี้การลงไปจ่ายเงินสงเคราะห์ เสี่ยงทุจริตมากสุด
สีแดงเลย! กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ชี้การลงไปจ่ายเงินสงเคราะห์ เสี่ยงทุจริตมากสุด เจอทั้งผู้ใช้บริการจำไม่ได้ เข้าใจผิดว่า เป็นของหน่วยงานอื่น, ให้ผู้ใช้บริการลงลายมือชื่อในใบสำคัญรับเงินก่อนขออนุมัติเบิกจ่าย, เจ้าหน้าที่จ่ายเงินไม่ครบ และมีผู้มารับเงินสงเคราะห์แทน ขณะที่การออกแนวทางป้องกันขั้นตอนเสี่ยง กลับไม่ใช้ระบบโอนเงิน มารับไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ยื่นให้ถึงที่บ้าน
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดรายงานการประเมินความเสี่ยงการทุจริตกระบวนการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง และเงินสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัว ประจำปีงบประมาณ 2561
ในรายงานดังกล่าวมีการแสดงตารางสถานะความเสี่ยง แยกตามรายสีไฟจราจร ตั้งแต่ เขียว เหลือง ส้ม และแดง พบว่า มีทั้งหมด 5 ขั้นตอนได้แก่ 1.ขั้นตอนการรับเรื่อง/การขอรับการสนุบสนุน 2.ขั้นตอนการตรวจสอบ 3.ขั้นตอนเยี่ยมบ้าน/สอบสวนข้อเท็จจริง 4.ทำหนังสืออนุมัติการช่วยเหลือ/อนุมัติจ่าย และ5.ลงไปจ่ายเงินสงเคราะห์
ขั้นตอนที่มีความเสี่ยงการทุจริตมากที่สุด คือขั้นตอนการลงไปจ่ายเงินสงเคราะห์ พบว่า มีตั้งแต่
-ผู้ใช้บริการจำไม่ได้ หรืออาจเข้าใจผิดว่า เป็นของหน่วยงานอื่น
-ให้ผู้ใช้บริการลงลายมือชื่อในใบสำคัญรับเงินก่อนการขออนุมัติเบิกจ่าย
-มอบเงินผ่านหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ แต่ไม่ได้ทำหลักฐานการส่งมอบ
-เจ้าหน้าที่จ่ายเงินไม่ครบ
-กรณีมีชื่อแต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำเงินไปจ่ายจริง แต่มีหลักฐานเซ็นรับเรียบร้อย
-มีผู้มารับเงินสงเคราะห์แทน โดยที่ผูู้ใช้บริการไม่ทราบ
-มอบผ่านหน่วยงานหรือผู้นำชุมชน ซึ่งไม่ทราบว่า มีการนำไปจ่ายจริง
ทั้งนี้ จะเห็นว่า ขั้นตอนการจ่ายเงิน ถือเป็นช่องโหว่สำคัญที่นำไปสู่การทุจริต ซึ่งในรายงานชิ้นนี้ มีแนวทาง มาตรการบริหารความเสี่ยงขั้นตอนการลงไปจ่ายเงินสงเคราะห์ เช่น
-ผู้ใช้บริการจำไม่ได้ หรืออาจเข้าใจผิดว่า เป็นของหน่วยงานอื่น ให้ชี้แจงทำความเข้าใจก่อนมอบเงิน มีพยานของแต่ละท้องที่ในการรับรอง
-ผู้ใช้บริการอ้างว่า ยังไม่ได้รับนั้นให้จัดมอบเงินในสถานที่ราชการ มีผู้นำองค์กรและผู้นำชุมชนน เป็นสักขีพยาน บันทึกภาพการรับมอบเงิน เป็นรายบุคคล และภาพหมู่ รวบรวมและแนบรูปภาพพร้อมกับใบสำคัญรับเงิน ไว้เป็นหลักฐาน มีป้ายไวนิลประจำหน่วยงานขึ้นโชว์ ในการมอบเงิน
- มีผู้มารับเงินสงเคราะห์แทน โดยที่ผู้ใช้บริการไม่รับทราบนั้น ให้ผู้ใช้บริการมารับเงินสงเคราะห์ด้วยตัวเองทุกกรณี หากไม่สามารถมารับได้ ให้หน่วยงานมอบหมายเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่มอบเงินสงเคราะห์ที่บ้านของผู้ใช้บริการ เป็นต้น
ขณะที่แนวทางและมาตรการการจ่ายเงินอุดหนุน ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เคยระบุเอาไว้ว่า การดำเนินการช่วยเหลือเป็นเงิน ให้ทำใน 3 รูปแบบ 1.โอนเงินเข้าบัญชี (E-payment/Ktb corporate Online) 2.เช็ค และ 3. เงินสด (กรณีอยู่พื้นที่ห่างไกลทุรกันดารหรือไม่สามารถรับเงินรูปแบบอื่น)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทุ่มเงินสงเคราะห์แสนล้าน/ปี ไร้ผล นักวิชาการตีแผ่ความเหลื่อมล้ำ-ยากจน ไม่ดีขึ้นเลย
จากกรณีเปิดโปงทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง สู่มาตรการปกป้องพยาน สร้างพลเมืองตื่นรู้ สู้โกง
ขอบคุณภาพจาก:https://ilaw.or.th