- Home
- Isranews
- ทอท.ยันคุณสมบัติต้องผ่านสหรัฐ-ยุโรป! จับตาทีโออาร์ซื้อเครื่องตรวจระเบิดใหม่ ส่อล็อกสเปคซ้ำ
ทอท.ยันคุณสมบัติต้องผ่านสหรัฐ-ยุโรป! จับตาทีโออาร์ซื้อเครื่องตรวจระเบิดใหม่ ส่อล็อกสเปคซ้ำ
'ทอท.' เผยแพร่ร่างทีโออาร์จัดเครื่องตรวจวัตถุระเบิด2.8พันล.เปิดรับฟังคำวิจารณ์รอบใหม่ หลังถูกร้องเรียนก่อนหน้านี้ เผยยังระบุชัดคุณสมบัติผู้เสนอราคา ต้องได้รับการรับรองขายเครื่องทั้งจากอเมริกาและยุโรป ด้านแหล่งข่าววงในภาคเอกชน ชี้มีปัญหาร้องเรียนตามมาเพียบแน่ ปูดปัจจุบันมีเอกชนไม่กี่รายที่ทำได้ แถมคุณสมบัติเครื่องบางตัวขั้นตอนทำงานยังอยู่แค่ในห้องทดลองเท่านั้น
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวก่อนหน้านี้ว่า นายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช ได้ทำหนังสือถึงนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อประท้วงร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) จัดซื้อจัดจ้างเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 26 เครื่อง วงเงินกว่า 2,800 ล้านบาท โดยระบุว่ามีลักษณะการกีดกัน ไม่ให้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX รุ่นใหม่ 9800 เข้าร่วมแข่งขันเสนอราคาด้วย ขณะที่ร่างเงื่อนไขทีโออาร์มีลักษณะส่อว่าจะมีการล็อกสเปค เนื่องจากร่างเงื่อนไขทีโออาร์ที่จะออกมา มีการกำหนดให้ผู้จำหน่ายเครื่อง ต้องมี หรือต้องไปหาผู้มีประสบการณ์ในการติดต่อ ระบบสายพาน และจะต้องปรับปรุงฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ของระบบสายพานด้วย ส่งผลทำให้ผู้ขายเครื่องยี่ห้อใด ที่จับคู่กับผู้ที่ได้สัญญาซ่อมบำรุงระบบสานพาน และทำงานอยู่ จะได้เปรียบได้คะแนนสูงกว่าได้ราคาต่ำกว่า หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นจับคู่ให้ราคาแก่ผู้ขายเครื่องเจ้าเดียว ทอท.ควรแบ่งแยกงานการซ่อมบำรุงเครื่องตรวจจับวัตถุระเบืิด กับงานซ่อมบำรุงระบบสายพานออกแยกเป็น 2 สัญญา (อ่านประกอบ : 'เสี่ยเช'ปูดขบวนการล็อกสเปคเปลี่ยนเครื่องตรวจวัตถุระเบิด2.8พันล.-โวยCTXรุ่นใหม่ถูกกีดกัน)
ขณะที่ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนายการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า การจัดทำร่างทีโออาร์เปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดสนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 26 เครื่อง ไม่มีการกีดกันผู้เสนอราคารายใดเข้ามาร่วมการประมูล หากบริษัทเอกชนรายไหนคิดว่ามีคุณสมบัติพร้อมสามารถเข้ามาแข่งขันงานได้ทุกราย ขณะที่คุณสมบัติของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่จะนำมาใช้ต้องมีมาตรฐานผ่านการรับรองทั้งจากหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ต้องได้รับการยอมรับทั่วโลก ส่วนข้อร้องเรียนของเอกชน ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ทอท. เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรับข้อร้องเรียนไปตรวจสอบว่ามีข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญเป็นประโยชน์หรือไม่ หากผลการตรวจสอบพบว่างานที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่ปัญหาอะไรก็สามารถเริ่มการดำเนินงานขั้นตอนต่อไปได้ นั้น (อ่านประกอบ :'เสี่ยเช'ปูดขบวนการล็อกสเปคเปลี่ยนเครื่องตรวจวัตถุระเบิด2.8พันล.-โวยCTXรุ่นใหม่ถูกกีดกัน)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. พบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเผยแพร่ร่างทีโออาร์ประกวดราคาโครงการนี้เป็นทางการแล้ว โดยกำหนดระยะเวลาการรับฟังคำวิจารณ์ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.2561 -14 มี.ค.2561
อย่างไรก็ดี ในหนังสือเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมการประกวดโครงการนี้ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาพร้อมกัน มีการระบุคุณสมบัติผู้เสนอราคาไว้ในข้อ18 ว่า จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ หรือ เจ้าของผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ หรือ ผู้จำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้จำหน่ายภายในประเทศ ว่าเป็นผู้จำหน่ายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด (EDS machine) รุ่นที่มีความเร็วสายพานไม่น้อยกว่า 0.5 เมตรต่อวินาที ซึ่งได้รับการรับรองจาก TSA (หน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่งของประเทศสหรัฐอเมริกา Transportation Security Administration: TSA) และ การอนุมัติจาก ECAC Standard-3 หรือสูงกว่า (ECAC standard-3 approved or higher) (กรมการบินพลเรือนของประเทศในกลุ่มยุโรป The European Civil Aviation Conference: ECAC) และโดยต้องแสดงสำเนาเอกสารหนังสือแต่งตั้งเป็นตัวแทนฯ ฉบับล่าสุดและเป็นปัจจุบน ซึ่งออกโดยผู้ผลิต หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือตัวแทนจำหน่ายภายในประเทศ ภายในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา (นับย้อนหลังจากวันที่ยื่นซองประกวดราคา) พร้อมสำเนาหนังสือรับรองของ TSA และสำเนาหนังสืออนุมัติของ ECAC หรือสูงกว่า (ECAC standard-3 approved or higher)
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า ร่างทีโออาร์ประกวดราคาโครงการที่เปิดรับฟังคำวิจารณ์ดังกล่าว ต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมว่า การกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ที่จะต้องผ่านการขายเครื่องทั้งในส่วนของสหรัฐและยุโรปปัจจุบันมีกี่เจ้ากันแน่ เนื่องจากมีการระบุข้อความชัดเจน โดยใช้คำว่า และ ไม่ได้ใช้คำว่า หรือ ซึ่งเท่าที่ทราบในปัจจุบันมีเอกชนเพียงไม่กี่รายที่ทำได้ ถ้าหากเป็นเช่นนั้น อาจทำให้ถูกมองได้ว่า มีความพยายามในการเปิดช่องให้มีการล็อกสเปคกำหนดตัวเอกชนผู้ได้รับงานล่วงหน้าไว้แล้ว แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เครื่องมือบางชนิด ที่นำมาระบุไว้เป็นเงื่อนไขปัจจุบันยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น
นอกจากนี้ การกำหนดให้ผู้เสนอราคา ต้องแสดงสำเนาเอกสารหนังสือแต่งตั้งเป็นตัวแทน ฉบับล่าสุดและเป็นปัจจบัน ซึ่งออกโดยผู้ผลิต หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือตัวแทนจำหน่ายภายในประเทศ ภายในระยะเวลา 3 เดือน ก็มีจุดที่น่าสังเกตเช่นกัน เพราะถ้าสินค้าแบบนี้ มีเอกชนรายเดียวขายได้ ตัวแทนในประเทศไทยจะมีกี่เจ้ากันแน่ โดยเฉพาะในประเทศไทย อำนาจการออกหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจะอยู่ที่ใคร จะมีลักษณะเป็นการผูกขาดเลือกที่จะออกให้พวกพ้องของตนเองเท่านั้นไม่ ซึ่งจากนี้ต้องดูว่าจะมีเอกชนรายใดกล้าที่จะนำข้อมูลเรื่องนี้มาเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือไม่ หรือยื่นเรื่องร้องเรียนอะไรต่อหรือไม่ แต่เชื่อว่าการดำเนินงานจัดซื้อโครงการนี้ จะมีปัญหาวุ่นวายตามมาค่อนข้างมากแน่นอน ผู้บริหารทอท.ต้องรีบออกมาชี้แจงโดยเร็ว เพื่อความโปร่งใสในขั้นตอนการดำเนินงาน
สำนักข่าวอิศรายงานว่า สำหรับการประกวดราคาโครงการนี้ ระบุว่าใช้วิธีการการประมูล ตั้งราคากลางไว้ที่ 2,880,500,000 บาท ระบุแหล่งที่มาของราคากลาง มาจากนิติบุคคลร่วมลงทุน ประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอเอ คอนซัลแตนท์ และ BNP Associates, Inc. (ดูเอกสารประกอบ)