- Home
- Isranews
- ข่าว
- 'เสี่ยเช'ปูดขบวนการล็อกสเปคเปลี่ยนเครื่องตรวจวัตถุระเบิด2.8พันล.-โวยCTXรุ่นใหม่ถูกกีดกัน
'เสี่ยเช'ปูดขบวนการล็อกสเปคเปลี่ยนเครื่องตรวจวัตถุระเบิด2.8พันล.-โวยCTXรุ่นใหม่ถูกกีดกัน
'เสี่ยเช' ออกโรงร่อนหนังสือถึง ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม พร้อมสำเนาถึงรมว. -บิ๊กตู่ ประท้วงเครื่องCTX รุ่นใหม่ 9800 ถูกกีดกันเข้าร่วมเสนอราคาแข่งขันงานเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด สุวรรณภูมิใหม่ 26 เครื่อง โวยถูกคนบางกลุ่มให้ข้อมูลเท็จโจมตี ทั้งที่เป็นของดีมีคุณภาพ ปูดขบวนการล็อกสเปคเอางานสายพานลำเลียงมาผูกติดทำให้เกิดการได้เปรียบ วงการเรียก "เอาของเล็ก มาล็อคสเปคของใหญ่" สะพัด! วางแผนเป็นระบบ กำหนดชื่อยี่ห้อคว้างานล้วงหน้าแล้ว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช ได้ทำหนังสือถึงนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อประท้วงร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) จัดซื้อจัดจ้างเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จำนวน 26 เครื่อง ณ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยระบุว่ามีลักษณะการกีดกัน ไม่ให้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX รุ่นใหม่ 9800 เข้าร่วมแข่งขันเสนอราคาด้วย
"มีความพยายามจากคนบางกลุ่ม ให้ข้อมูลเท็จ ที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับ เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX รุ่นใหม่ 9800 ต่อ คณะกรรมการหรือบอร์ด ทอท. ในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการใช้งาน อาทิ ถ้ามีการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX รุ่นใหม่ จะไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ จนถึงปี 2578 และศักยภาพไม่ถึง ทั้งที่ เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX มีมาตรฐานได้รับการยอมรับจากทั่วโลก มียอดขายมากที่สุด และเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX รุ่น 9000 ที่ใช้งานในสนามบินสุวรรณภูมิมานานกว่า 11 ปี ก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการใช้งานเลยแม้แต่วันเดียว" นายวรพจน์ระบุ
นายวรพจน์ ยังระบุด้วยว่า ร่างเงื่อนไขทีโออาร์ที่จะออกมา มีการกำหนดให้ผู้จำหน่ายเครื่อง ต้องมี หรือต้องไปหาผู้มีประสบการณ์ในการติดต่อ ระบบสายพาน และจะต้องปรับปรุงฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ของระบบสายพานด้วย ซึ่งมองว่าเป็นการดำเนินการที่ส่อล็อกสเปค เพราะผู้ขายเครื่องยี่ห้อใด ที่จับคู่กับผู้ที่ได้สัญญาซ่อมบำรุงระบบสานพาน และทำงานอยู่ จะได้เปรียบได้คะแนนสูงกว่าได้ราคาต่ำกว่า หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นจับคู่ให้ราคาแก่ผู้ขายเครื่องเจ้าเดียว ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน ทอท.ควรแบ่งแยกงานการซ่อมบำรุงเครื่องตรวจจับวัตถุระเบืิด กับงานซ่อมบำรุงระบบสายพานออกแยกเป็น 2 สัญญา
"การกระทำอย่างนี้ ในวงการเรียกว่า "เอาของเล็ก มาล็อคสเปคของใหญ่ และในความเป็นจริง ขอให้ลองคิดดูว่า ผู้ที่จะมาทำงาน โมดิฟายระบบสายพาน และมอเตอร์ต่างๆ เป็นคนละคน เป็นคนละบริษัท ที่ได้สัญญาซ่อมบำรุงทำงานอยู่ทุกวัน เขาจะได้รับความร่วมมือกันอย่างไร มันไม่มีทางเข้ากันได้เลย และปัญหาก็จะตกอยู่แก่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ได้รับนามพระราชทานและเป็นสนามบินแห่งชาติของคนไทยทุกคน"
เสี่ยเช ยังระบุด้วยว่า "ผู้นำประเทศทางด้านการบินความปลอดภัย หรือประเทศมหาอำนาจจะไม่พิจารณาสิ่งที่มีความสำคัญหรือเป็นหัวใจของระบบหรือหัวใจของสนามบิน ด้วยการพิจารณาจากเอกสาร คำพูดคำบอกเล่าของที่ปรึกษาอย่างเดียว จะต้องไปที่สนามบินที่ติดตั้งแล้วให้เห็นกับตา จะต้องหาข้อมูลความสำเร็จ อย่างน้อย 20 หรือ 30 สนามบินมาเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ"
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในการทำหนังสือประท้วงต่อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมครั้งนี้ นายวรพจน์ ระบุตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยโทรนิค จำกัด เป็นตัวแทนบริษัทขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX ในประเทศไทย และยังสำเนาหนังสือประท้วงไปยังนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในการจัดทำร่างทีโออาร์จัดจ้างเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จำนวน 26 เครื่อง ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ดังกล่าว มีความพยายามของคนบางกลุ่ม ให้การหาช่องทางล็อกสเปคให้ใช้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดบางยี่ห้อที่ไม่ใช่ CTX ไว้แล้ว ขณะที่การดำเนินงานโครงการนี้มีการนำเนื้องานในส่วนการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดมาผูกร่วมเข้ากับงานในส่วนของสายพานลำเลียงกระเป๋า กำหนดวงเงินงบประมาณอยู่ที่ตัวเลข 2,800 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ ทอท.ได้มีการจัดทำโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด พร้อมติดตั้งสายพานำเลียงไปแล้ว 1 โครงการวงเงินกว่า 3,800 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด ทอท. เพื่อให้พิจารณาอนุมัติผลการประกวดราคาที่ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว และโครงการนี้ก็ถูกเอกชนร้องเรียนว่ามีปัญหากีดกันการเสนอราคาแข่งขันด้วยเช่นกัน