ผอ.สำนักระบายน้ำ เผยแผนระยะยาว เตรียมสร้างโรงบำบัดเพิ่ม 4 แห่ง แก้น้ำเสีย กทม.
ผอ.สำนักการระบายน้ำ เผยมาตรการรักษาคูคลอง หลัง ‘อิศรา’ สุ่ม 7 จุด คลองหัวลำโพง พบเน่าเสีย-กลิ่นเหม็น เผยแผนระยะสั้น ใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย ระยะยาว เตรียมสร้างโรงบำบัดอีก 4 แห่ง จะครอบคลุมทุกพื้นที่ต้องใช้งบฯ หลักพันล.
หลังจากที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบสภาพน้ำในคูคลองของกรุงเทพฯ โดยเลือกคลองหัวลำโพง ปรากฎว่า พบปัญหาน้ำเน่าเสียตลอดเส้น อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โชว์วิสัยทัศน์ภารกิจ ปี 2561 หนึ่งในนั้น คือ การเดินหน้ารักษาความสะอาดของคูคลองให้ยั่งยืน ซึ่งต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 100 วัน
(อ่านประกอบ: ‘อิศรา’ สุ่ม 7 จุด ‘คลองหัวลำโพง’ เน่าเสีย-กลิ่นเหม็น รับแผนพัฒนากรุง 100 วัน น้ำต้องใส)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด วันที่ 5 ก.พ. 2561 นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม.เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานรักษาความสะอาดคูคลอง โดยระบุที่ผ่านมา กทม.มีแผนการบำบัดน้ำเสียอย่างต่อเนื่อง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ยอมรับว่าประสิทธิภาพบำบัดจากแหล่งกำเนิดทำได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น
โดยแผนระยะสั้น กทม.เปิดประตูน้ำ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองเทเวศน์ รวมถึงคูเมืองเดิม เพื่อใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนเหนือเข้าสู่ระบบไล่น้ำเสียและไหลลงทางด้านใต้ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง แต่การดำเนินงานตามแผนดังกล่าวค่อนข้างมีข้อจำกัดในเรื่องสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ราวเดือน ม.ค. -ก.พ. ของทุกปี เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องพร่องน้ำบางส่วนไว้ เพื่อรองรับน้ำฝนจากสภาพอากาศแปรปรวน การพร่องน้ำทำให้น้ำทิ้งจากครัวเรือนที่มีคุณภาพไม่ดีสะสมอยู่ก้นคลองจนสะสมเป็นมลพิษ
ขณะที่แผนระยะยาว มีแผนจะก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม 4 แห่ง ซึ่งศึกษาไว้เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ โรงบำบัดน้ำเสียหนองบอน, ธนบุรี, คลองเตย และมีนบุรี ทั้งนี้ การจะสร้างระบบฯ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่จำเป็นต้องอาศัยงบประมาณหลายพันล้านบาท
“ปัจจุบันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร มีข้อบัญญัติให้บ้านเรือนอาคารต้องมีระบบบำบัด ก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำ แต่เจ้าของบางรายยังขาดความรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อน้ำในคูคลองต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา แต่ชุมชนถือเป็นอีกภาคส่วนที่มีความสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นงบประมาณที่ทุ่มลงไปเพื่อแก้ไขปัญหาไม่มีทางเพียงพอ ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันดูแลและตระหนักสำนึกรับผิดชอบ ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำคูคลอง” ผอ.สำนักการระบายน้ำ กล่าว .
อ่านประกอบ:"อัศวิน" โชว์วาระพัฒนา กทม. “Now ทำจริง เห็นผลจริง” ท่ามกลางข่าวสะพัด ปูทางสู่สนามเลือกตั้ง