กระทบหนัก-เลขไม่ตรงทั้ง13หลัก! เจ้าทุกข์บัตรปชช.คนเกิดปี27ราย2 โผล่ให้ข้อมูลอิศรา
เจ้าทุกข์ เลขบัตรปชช.คนเกิดปี 27 ไม่ตรงสูติบัตรราย 2 โผล่ให้ข้อมูลอิศรา ยันได้รับผลกระทบหนัก ตัวเลขไม่ตรงทั้ง 13 หลัก เพิ่งทราบปัญหาช่วงทำเรื่องสมรสสามีชาวต่างชาติ เผยสาเหตุเป็นปีแรกที่ใบสูติบัตรมีเลขประจำตัวปชช. ต่อมาช่วง 8 ขวบย้ายที่อยู่ จนท.จึงใส่เลขใหม่โดยไม่ได้ตรวจสอบ
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอบทสัมภาษณ์ นางสาวเต็มศิริ วัย 33 ปี ที่เปิดตัวร้องเรียนต่อสื่อมวลชน เรื่องหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่ตรงกับใบสูติบัตร โดยหมายเลขบนใบสูติบัตรนำหน้าด้วยหมายเลข 1 แต่หมายเลขบัตรประชาชนที่ใช้มาตลอดนำหน้าด้วยเลข 3 ทำให้ได้รับความเดือดร้อนในการใช้ชีวิต รวมถึงการติดต่อทำธุรกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก ในเวทีทัศน์ เรื่อง จับเข่าคุย'เจ้าทุกข์'เลขบัตรปชช.ไม่ตรงสูติบัตร กับความรับผิดชอบระบบราชการไทย? ขณะที่ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง ระบุว่า ปัจจุบันผู้ที่มีปัญหานี้มีจำนวนกว่า 10,000 ราย ได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว 7,000 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา นั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูล จาก นางปุณณิญาณ์ ชาวจังหวัดนนทบุรี ว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่ตรงกับใบสูติบัตรเช่นกัน โดยหมายเลขในบัตรประจำตัวประชาชนของตนไม่เหมือนกับหมายเลขในสูติบัตรทั้งหมด มิใช่เพียงแค่หลักหรือสองหลักเท่านั้น
"ดิฉันเพิ่งทราบเรื่องเมื่อจะทำเรื่องสมรสกับสามีชาวต่างชาติ ซึ่งในการดำเนินการต้องใช้เอกสารจำนวนมาก เช่น ใบรับรองสถานะโสด สูติบัตร บัตรประชาชน เป็นต้น จึงส่งเอกสารทุกอย่างเพื่อดำเนินการแปล จึงได้ทราบว่าหมายเลขบัตรประชาชนกับหมายเลขในสูติบัตรไม่ตรงกัน ไม่ได้ทราบเรื่องจากหน่วยงานปกครองแต่อย่างใด"
นางปุณณิญาณ์ ชาวจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่แจ้งสาเหตุว่า ปี 2527 เป็นปีแรกที่ใบสูติบัตรมีหมายเลขประจำตัวประชาชน ต่อมาเมื่อมีอายุ 8 ขวบ ได้ย้ายที่อยู่อาศัย เจ้าหน้าที่ต้องใส่หมายเลขประจำตัวลงในทะเบียนบ้านใหม่ เจ้าหน้าที่ทำทะเบียนในขณะนั้นอาจเข้าใจว่ายังไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชนระบุในสูติบัตร จึงใส่เลขให้ใหม่โดยไม่ได้ตรวจสอบ การทำบัตรประชาชนในเวลาต่อมาก็ได้ยึดตามหมายเลขที่ปรากฏบนทะเบียนบ้าน ณ เวลานั้นต้องใช้สูติบัตรเป็นเอกสารประกอบด้วยหรือไม่นั้นจำไม่ได้ แต่ผลก็ออกมาเป็นดังที่ปรากฏ
นางปุณณิญาณ์ กล่าวต่อว่า เมื่อติดตามเรื่องที่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าต้องยกเลิกหมายเลขในบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อกลับมาใช้หมายเลขในสูติบัตร เนื่องจากบุคคลจะมีหมายเลขได้เพียงหมายเลขเดียว
“ตอนนั้นยังไม่ตัดสินใจ เจ้าหน้าที่ไม่มีการค้นหาข้อมูลใด ๆให้ จะให้ยกเลิกอย่างเดียวค่ะ ซึ่งตอนนั้นคิดหนักค่ะ การยกเลิกเลขตามบัตรประจำตัวประชาชนหมายถึงเราต้องทำการเปลี่ยนแปลงเอกสารทุกอย่างรวมถึงธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากมาก จึงยังไม่ตัดสินใจตามที่เจ้าหน้าที่บอก”
นางปุณณิญาณ์ ระบุว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อติดต่อเจ้าหน้าที่เทศบาลเพื่อตรวจสอบข้อมูล จึงพบว่าหมายเลขประตัวประชาชนตามสูติบัตรของตนได้ถูกยกเลิกไปแล้ว จึงต้องใช้เลขหมายตามบัตรประชาชนตามเดิม ส่วนสูติบัตรก็ถูกยกเลิกเช่นกัน จึงต้องใบทำใบรับรองการเกิดด้วย
"ถ้าเราทำตามเจ้าหน้าที่ตั้งแต่แรก คงจะยุ่งกว่านี้ เพราะหมายเลขใหม่ถูกยกเลิก หมายเลขเก่าก็ไม่มีในฐานข้อมูล”
นางปุณณิญาณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่จริงแล้วตนตรวจสอบข้อมูลได้ เพราะมีเส้นสายส่วนตัว มิเช่นนั้นก็คงได้รับความเสียหายเช่นเดียวกับผู้ได้รับผลกระทบคนอื่น เพราะเจ้าหน้าที่ ณ ที่ว่าการอำเภอยืนยันให้เปลี่ยนโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์ให้เลย
ขณะที่ความคืบหน้ากรณีปัญหานางสาวเต็มศิริ วัย 33 ปี ที่เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชน เรื่องหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่ตรงกับใบสูติบัตร เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. กรมการปกครอง ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณี นสพ.เดลินิวส์ เสนอข่าวปัญหาเลขบัตรประชาชนของคนเกิดปี 2527 จำนวน 2 หน้ากระดาษใจความว่าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อราชการ หรือทำธุรกรรมต่างๆ ให้เกิดความรวดเร็ว และมีความคล่องตัว รวมทั้งประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถดำเนินการได้ดังนี้
1.ประชาชนสามารถใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ระบุในทะเบียนบ้านต่อไปได้ตามปกติ โดยไม่ต้องแก้ไขรายการเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในสำเนาทะเบียนบ้านให้ตรงกับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักในสูติบัตร
2.กรณีที่ไปติดต่อราชการหรือติดต่อหน่วยงานอื่นที่จำเป็นต้องใช้สูติบัตร ให้นำหลักฐานทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสูติบัตรฉบับตัวจริง ไปยื่นต่อสำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สำนักทะเบียนท้องถิ่น ออกหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกัน
3.ประชาชนสามารถนำสูติบัตรที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 1 ไปยื่นต่อสำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สำนักทะเบียนท้องถิ่น ที่ตนเองมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อบันทึกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 3 ตามสำเนาทะเบียนบ้านไว้ด้านหลังสูติบัตรเพื่อใช้เป็นเอกสารทางราชการยืนยันว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน (อ้างอิงจาก https://www.dailynews.co.th/politics/585003)