จับเข่าคุย'เจ้าทุกข์'เลขบัตรปชช.ไม่ตรงสูติบัตร กับความรับผิดชอบระบบราชการไทย?
“...แม้จะมีใบรับรองที่ราชการออกให้ว่ามีการเปลี่ยนหมายเลขบัตรประชาชน แต่ก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากข้อมูลในบัตรประชาชนใหม่แทบจะไม่มี ทำให้เมื่อต้องติดต่อหน่วยงานราชการหลาย ๆ แห่งต้องใช้เอกสารอื่นๆ นอกเหนือจากบัตรประชาชน เช่น ทะเบียนบ้านตัวจริงมายืนยันด้วย ทั้งที่ปกติแล้วไม่จำเป็น...นอกจากนี้แล้วยังต้องมาคอยแก้ไขเอกสารธุรกรรมต่าง ๆ ที่ได้ทำไปจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากที่ไม่ได้เกิดจากความผิดของตน โดยหน่วยงานต้นเรื่องไม่ได้มาร่วมรับผิดชอบด้วยเลย ..."
กลายเป็นเรื่องราวที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนขึ้นมาทันที!
เมื่อ นางสาวเต็มศิริ วัย 33 ปี เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชน เรื่องหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่ตรงกับใบสูติบัตร โดยหมายเลขบนใบสูติบัตรนำหน้าด้วยหมายเลข 1 แต่หมายเลขบัตรประชาชนที่ใช้มาตลอดนำหน้าด้วยเลข 3 ทำให้ได้รับความเดือดร้อนในการใช้ชีวิต รวมถึงการติดต่อทำธุรกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก ขณะที่ล่าสุด ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง ระบุว่า ปัจจุบันผู้ที่มีปัญหานี้มีจำนวนกว่า 10,000 ราย ได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว 7,000 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา นั้น
คำถามที่น่าสนใจของเรื่องนี้ ต้นทางสาเหตุจริง ๆ ของรากแห่งปัญหาเรื่องนี้ เกิดจากอะไร? และความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการในการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างไร ?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ติดต่อไปยัง นางสาวเต็มศิริ วัย 33 ปี เจ้าทุกข์ของเรื่องนี้ เพื่อตรวจสอบข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นอีกครั้ง
นางสาวเต็มศิริ เล่าให้ฟังว่า หมายเลขบัตรประชาชนของตน มีที่มาจากทะเบียนบ้าน ซึ่งหมายเลขแตกต่างจากหมายเลขในสูติบัตรตั้งแต่ต้น
"โดยเมื่อมีการทำบัตรประชาชนก็ใช้ทะเบียนบ้านในการยืนยัน จึงได้ใช้หมายเลขนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งได้รับการแจ้งจากที่ว่าการอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ว่ามีปัญหาให้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไข"
"เมื่อทราบเรื่อง ดิฉันจึงได้โทรศัพท์สอบถามสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ว่าเลือกใช้หมายเลขเดิมได้หรือไม่ เพราะได้ใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ไปมากแล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ต้องเปลี่ยนให้ตรงตามสูติบัตรก็ได้"
"แต่ทางที่ว่าการอำเภอเกษตรสมบูรณ์ยืนยันว่าต้องเปลี่ยนให้ตรงกับสูติบัตร จึงโทรศัพท์สอบถามที่สำนักทะเบียนกลางอีกรอบ แต่กลับได้คำตอบต่างไปจากเดิม โดยได้รับแจ้งให้เปลี่ยนให้ตรงตามสูติบัตร ดิฉันจึงได้เปลี่ยนหมายเลขให้ตรงตามเอกสารให้เรียบร้อย”
อย่างไรก็ตาม นางสาวเต็มศิริ ยืนยันว่า การเปลี่ยนหมายเลขบัตรประชาชนกลับให้ตรงตามสูติบัตร แม้จะตรงตามความเป็นจริงตามระบบ แต่ก็ส่งผลเสียมาก เนื่องจาก ได้ใช้หมายเลขบัตรประชาชนเดิมมาตั้งแต่มีบัตรประชาชนครั้งแรก ผ่านการทำธุรกรรมต่าง ๆ มาจำนวนมาก อาทิ สมัครเข้าสถานศึกษา ตลอดจนเสียภาษี หรือทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น
“แม้จะมีใบรับรองที่ราชการออกให้ว่ามีการเปลี่ยนหมายเลขบัตรประชาชน แต่ก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากข้อมูลในบัตรประชาชนใหม่แทบจะไม่มี ทำให้เมื่อต้องติดต่อหน่วยงานราชการหลาย ๆ แห่งต้องใช้เอกสารอื่นๆ นอกเหนือจากบัตรประชาชน เช่น ทะเบียนบ้านตัวจริงมายืนยันด้วย ทั้งที่ปกติแล้วไม่จำเป็น”
นางสาวเต็มศิริ ระบุว่า นอกจากนี้แล้วยังต้องมาคอยแก้ไขเอกสารธุรกรรมต่าง ๆ ที่ได้ทำไปจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากที่ไม่ได้เกิดจากความผิดของตน โดยหน่วยงานต้นเรื่องไม่ได้มาร่วมรับผิดชอบด้วยเลย
“หากหน่วยงานราชการมีการเชื่อมโยงทางข้อมูลมากกว่านี้จะทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ง่ายขึ้นมาก”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้โทรศัพท์สอบถามสำนักผู้เชี่ยวชาญการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงอีกด้าน
เจ้าหน้าที่รายหนึ่ง ระบุว่า หากพบกรณีบุคคลเดียวถือสองหมายเลข “จะดูว่าหมายเลขไหนถูกใช้ทำธุรกรรมมากว่ากัน” โดยบุคคลสามารถเลือกใช้หมายเลขที่ได้ใช้ผูกพันกับธุรกรรมต่าง ๆ มากกว่าได้
"ล่าสุดมีการมอบหมายให้ฝ่ายทะเบียนราษฎร์เป็นผู้ดูแลแก้ไขปัญหา ซึ่งฝ่ายทะเบียนราษฎร์แจ้งว่าได้มีการหารือเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการยื่นข้อเสนอแก้ไขปัญหาให้ผู้มีอำนาจรับผิดชอบพิจารณาต่อไป" เจ้าหน้าที่ระบุ
และย้ำว่า ตอนนี้ไม่อยากพูดหรือให้ข้อมูลอะไรมาก เพราะผู้ใหญ่ ออกมาให้ข่าวไปแล้ว
ทั้งนี้ แม้จะยังไม่ได้รับคำตอบยืนยันชัดๆ ว่า ต้นทางสาเหตุจริงๆ รากแห่งปัญหาเรื่องนี้ เกิดจากอะไรกันแน่
แต่สิ่งที่ได้รับทราบ สะท้อน ภาพปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น คือ ความรับผิดชอบ ในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนตัวเล็กๆ ของกลไกระบบการทำงานของหน่วยงานราชการ
จริงจัง กระตือรือร้น แค่ไหน ขอให้สาธารณชนเป็นผู้ตัดสิน!