- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ขมวดปมพิพาทค้างภาษี ยักษ์ขายตรง ‘แอมเวย์ VS กรมศุลฯ’ เดิมพันหมื่นล.?
ขมวดปมพิพาทค้างภาษี ยักษ์ขายตรง ‘แอมเวย์ VS กรมศุลฯ’ เดิมพันหมื่นล.?
ชัดๆ ขมวดข้อพิพาทค้างภาษี 1,385 ล. ยักษ์ขายตรง ‘แอมเวย์ VS กรมศุลฯ’ ว่าด้วย ‘เงินโบนัส’ตัวแทนขาย ฝ่ายหนึ่งบอกต้องนำมาคิดรวมราคาสินค้านำเข้า อีกฝ่ายงัดทุกแนวต่อสู้ข้อเท็จจริง มหากาพย์ข้ามทศวรรษ หน่วยงานรัฐ-เอกชนรายได้กว่า 1.5 หมื่นล./ปี เดิมพันสูงลิบ
ประเด็นผลประโยชน์สาธารณะในกรมศุลกากรนอกจากเรื่องการยกเลิกประเมินภาษีรถหรู 16 คันของ บริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด และ บริษัท นิชคาร์ จำกัด ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อยู่ระหว่างเรียก อดีตรองอธิบดีกรมศุลกากร และเจ้าหน้าที่ระดับ ผอ. รวม 3 ราย มาให้ถ้อยคำว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนหรือไม่ มีอีกเรื่องหนึ่งที่ค้างอยู่ในสารบบของกรมศุลฯ มานานข้ามทศวรรษ คือ กรณีพิพาทค้างจ่ายภาษีนำเข้า ระหว่าง ยักษ์ขายตรง บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กับ กรมศุลฯ วงเงิน 1,385.5 ล้านบาท ว่ากันว่า เรื่องนี้มีเดิมพันสูงนับหมื่นล้านบาททีเดียว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขมวดประเด็นให้เข้าใจง่าย ๆ อย่างชัด ๆ อีกครั้ง
ที่มาของเรื่อง
วันที่ 6 ส.ค. 2547 สำนักสืบสวนปราบปราม กรมศุลกากร เข้าไปตรวจสอบ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่สำนักงานบริษัทฯ ภายหลังการตรวจสอบสำนักสืบสวนปราบปรามได้กล่าวหา บริษัทฯ สำแดงราคาสินค้านำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าระหว่างปี 2537-2548 ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยไม่ได้คำนวณค่าใช้จ่ายเงินโบนัสของบริษัทฯ รวมไปในใบราคานำเข้าของสินค้า
ประเด็นกล่าวหา
เงินรางวัลหรือโบนัสที่ บริษัทแอมเวย์ฯ จ่ายให้แก่ตัวแทนขาย (นักธุรกิจแอมเวย์) ถือเป็นต้นทุนของสินค้า ต้องนำมาคำนวณรวมเป็นส่วนหนึ่งของราคานำเข้าที่ต้องชำระอากรกรมศุลกากร
ข้อโต้แย้งของ บริษัท แอมเวย์ฯ
1.ค่าใช้จ่ายเงินโบนัส ถือเป็นค่าใช้จ่ายการขาย และการตลาดที่เกิดขึ้นหลังการนำเข้าของบริษัทฯ โดยที่บริษัทฯ ดำเนินการด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง เพราะฉะนั้น จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากรที่ขาด รวมทั้ง เงินเพิ่มให้แก่กรมศุลกากร
2.ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของราคานำเข้าเพื่อชำระอากร ตามที่ระบุไว้ในความตกลงการประเมินราคาศุลกากรขององค์การการค้าโลก (WTO)
3. กรมศุลฯ ไทยได้นำประเด็นเรื่องนี้ให้องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization : WCO) พิจารณา ซึ่ง WCO โดยประเทศสมาชิกในที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ เมื่อ เดือนเมษายน 2556 ว่า เงินโบนัสถือเป็นค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เกิดขึ้นภายหลังการนำเข้า ไม่ต้องนำมารวมในราคานำเข้าเพื่อคำนวณอากรขาเข้า ยกเว้นประเทศไทยที่ขอสงวนไว้
หลังเกิดเหตุพิพาท บริษัท แอมเวย์ฯ ได้เข้าพบอธิบดีกรมศุลกากรหลายยุค และชี้แจ้งข้อเท็จจริงเรื่อยมา แต่ยังไม่มีข้อยุติ
การดำเนินการของกรมศุลฯ
1.เดือนมิถุนายน 2558 กรมศุลฯ ออกแบบประเมินภาษีอากรศุลกากร กรณีนำเข้าปี 2548 เป็นเงิน จำนวน 1,385.5 ล้านบาท
2.ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีแก่ บริษัท แอมเวย์ฯ แต่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา พฤติการณ์การกระทำผิด และจำนวนที่เสียหาย
3.ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและระงับการจดทะเบียน บริษัท แอมเวย์ ฯ ครั้งแรกวันที่ 25 เม.ย. 2557 (ร่วมรายอื่น 16 ราย) ครั้งที่สอง 17 ก.ย. 2557 ครั้งที่สาม 22 ม.ค. 2558 ครั้งที่สี่ 9 ก.ค. 2558 ครั้งที่ห้า 1 ก.ย. 2558 ครั้งที่หก 11 พ.ย. 2558 ครั้งที่เจ็ด 12 ม.ค. 2559 ครั้งที่แปด 12 ก.พ. 2559 ครั้งที่เก้า 1 มี.ค. 2559 ครั้งที่สิบ 25 มี.ค. 2559 ครั้งที่สิบเอ็ด 21 เม.ย. 2559 ครั้งที่สิบสอง 7 มิ.ย. 2559 ครั้งที่สิบสาม 15 มิ.ย. 2559 (ร่วมกับรายอื่น 47 ราย) ครั้งที่สิบสี่ 16 มิ.ย. 2559 (ร่วมรายอื่น 50 ราย) และล่าสุดครั้งที่สิบห้า 21 มิ.ย. 2559 รวมทั้งสิ้น 15 ครั้ง
4.เรียกประเมินภาษีอากรศุลกากรกรณีนำเข้าปี 2547 ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับปี 2548 (1,385 ล้านบาท)
การดำเนินการของบริษัท แอมเวย์ฯ
1.ยื่นคำขออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ของกรมศุลกากรโดยยกข้อโต้แย้งข้างต้นขึ้นต่อสู้ ขณะนี้ เรื่องอยู่ในชั้นคณะอนุกรรมการฯ
2.ติดต่อเข้าชี้แจงต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
กรณีนี้มีเดิมพันสูง เนื่องจาก วงเงินที่ถูกศุลกากรประเมินว่า บริษัทแอมเวย์ฯ ค้างจ่ายจำนวน 1,385 ล้านบาท เป็นตัวเลขแค่ปีเดียว คือ ปี 2548 ไม่รวมปี 2547 อีกกว่าพันล้านบาท และในปีอื่น ๆ (ถ้ามี-กรมศุลฯ กล่าวหาสำแดงราคาสินค้านำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าระหว่างปี 2537-2548 ต่ำกว่าความเป็นจริง) จะรวมเป็นตัวเลขสูงขึ้น (ไม่รวมปี 2549 เป็นต้นมา)
ขณะที่ ยอดรายได้ของบริษัท แอมเวยฯ ระหว่างปี 2554 -2558 อยู่ที่ 14,644,079,720 บาท - 16,013,173,100 บาท หรือมากกว่าหมื่นล้านบาทมาโดยตลอด กำไรสุทธิอยู่ที่ 434,986,912 บาท - 725,396,836 บาท (ข้อมูลจากงบการเงินที่บริษัทแอมเวย์ฯ นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
หากเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ อาจจะมีผลต่อผลประกอบการของบริษัทฯ ไม่นับรวมภาพลักษณ์ และอาจมีผลต่อการต่อสู้ข้อเท็จจริงที่อยู่ในมือของดีเอสไอ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ยักษ์แอมเวย์จึงต้องใช้ทุกแนวทางในการต่อสู้ข้อเท็จจริงแบบยิบตา
กระนั้น น่าสังเกตว่า เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2547 แต่กรมศุลฯ เพิ่งออกแบบประเมินภาษีอากรศุลกากรแก่เอกชนเมื่อปี 2558 หลังผ่านไป 10 ปี และยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน
บทสรุปสุดท้ายขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง บนหลักของความถูกต้อง เป็นธรรม ที่ต้องซื้อด้วยเวลา ?
อ่านประกอบ :
บิ๊กแอมเวย์ แจงข้อพิพาทภาษี 1,385 ล.กรมศุลฯ คดีค้างเก่าปมเงินโบนัส-ลั่นสู้เต็มที่
เจาะขุมทรัพย์ ‘แอมเวย์’18 ปี ฟันรายได้ 1.7 แสนล. ก่อนคดีพิพาท 1,385.5 ล.กรมศุลฯ
1,385 ล.! ยักษ์ขายตรง‘แอมเวย์’ไม่จ่ายกรมศุลฯ สำแดงต่ำกว่าเป็นจริง-ทยอยหมดอายุความ
เบื้องหลังยักษ์ขายตรง‘แอมเวย์’โดนกรมศุลฯสั่งล็อค 15 ครั้ง ปมสำแดงนำเข้าสินค้า
47 บ.ค้างภาษีนำเข้า!กรมศุลฯสั่งล็อค ห้ามจดชำระบัญชีฯ ‘ยักษ์ขายตรง-รถหรู’ โดนด้วย