บิ๊กแอมเวย์ แจงข้อพิพาทภาษี 1,385 ล.กรมศุลฯ คดีค้างเก่าปมเงินโบนัส-ลั่นสู้เต็มที่
ผู้บริหารยักษ์ขายตรงแอมเวย์ ‘กิจธวัช - เลไล’ พร้อม ‘สุมา’ รอง ผอ.ฝ่ายสื่อสารฯ ยกคณะแจง 'อิศรา' กรณีพิพาทค้างภาษี 1,385.5 ล. ถูกกรมศุลฯ ล็อค 15 ครั้ง ระบุเรื่องเก่าเมื่อ 11 ปี ปมเงินโบนัสจ่ายตัวแทน ค้างอยู่ในชั้น คกก.อุทธรณ์ โอดโดนใหม่อีกกว่าพันล. ลั่นไม่เป็นธรรม สู้เต็มที่
จากกรณีกรมศุลกากร ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการกองข้อมูลธุรกิจ เพื่อขอให้ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและระงับการขีดชื่อออกจากทะเบียน บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบการรายใหญ่ของสหรัฐฯ เนื่องจากมีปัญหาค้างชำระภาษีอากรต่อกรมศุลกากร (อ่านประกอบ : 47 บ.ค้างภาษีนำเข้า!กรมศุลฯสั่งล็อค ห้ามจดชำระบัญชีฯ ‘ยักษ์ขายตรง-รถหรู’ โดนด้วย)
ต่อมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบงบการเงิน บริษัท แอมเวย์ฯ รอบปี 2558 พบว่า บริษัท แอมเวย์ฯ แจ้งว่าถูกกรมศุลกากรประเมินภาษีอากร เรียกร้องให้ชำระค่าภาษีเป็นเงิน 1,385.5 ล้านบาท อันเนื่องมาจาก เงินโบนัสที่บริษัทฯ จ่ายให้ตัวแทน ถูกเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ นำมาคำนวณรวมเป็นส่วนหนึ่งของราคานำเข้าที่ต้องชำระอากร ขณะที่ บริษัทฯ เห็นว่าค่าใช้จ่ายเงินโบนัส ถือเป็นค่าใช้จ่ายการขาย และการตลาดที่เกิดขึ้นหลังการนำเข้าของบริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ ต้องชำระภาษีอากรที่ขาด รวมทั้ง เงินเพิ่ม ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ กรมศุลกากร เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2547
ล่าสุด เวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 9 ส.ค. 2559 กลุ่มผู้บริหารบริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบด้วย นายกิจธวัช ฤทธีราวี กรรมการผู้จัดการ นางเลไล โสฬสรัตนพร ผู้อำนวยการอาวุโสปฏิบัติการ นางสุมา วงษ์พันธุ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร และคณะ เดินทางเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อสำนักข่าวอิศรา
นายกิจธวัช กล่าวว่า ข้อมูลที่ทางสำนักข่าวฯ เผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักข่าว เป็นข้อมูลจริงที่มีเอกสาร เพียงแต่เป็นของเก่าไม่ใช่ข้อมูลใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมานานเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งบางเรื่องก็เคลียร์ไปแล้ว บางเรื่องก็อยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ บริษัทฯ จึงอยากให้ได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์ เนื่องจาก มีความเป็นห่วงในความเข้าใจต่อองค์กร จึงขอเรียนว่า กรณีข้อพิพาทกับกรมศุลกากร เกิดจาก 2 ประเด็น คือ 1.การตีความที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับพิกัดอัตราศุลกากร และอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ตามขั้นตอนกฎหมาย หากมีความคืบหน้าใด ๆ บริษัทจะแจ้งให้ทราบต่อไป
“เนื่องจาก เจ้าหน้าที่ให้พิกัดที่ไม่ตรงกัน เราจึงตีความพิกัดตามสากล ต่อมา กรมศุลฯ บอกไม่ใช่พิกัดนี้ บางเคสมีการตีความกลับไปกับมา จึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมศุลฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี โดยก่อนหน้านี้มีมากกว่า 10 เคส ยุติไปแล้วครึ่งหนึ่ง ปัจจุบันเหลือประมาณ 5 เคส” นายกิจธวัช กล่าวและว่า
2.เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมานานกว่า 11 ปี ที่กรมศุลฯ ต้องการนำเงินโบนัสที่บริษัทจ่ายให้แก่ผู้จำหน่ายอิสระ (นักธุรกิจแอมเวย์) มารวมในราคานำเข้า เพื่อคำนวณภาษีอากรของสินค้าที่นำเข้า
“ประเด็นนี้ในฐานะที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจในประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก ยังไม่มีหน่วยงานศุลกากรในประเทศใด แจ้งว่า เงินโบนัสที่จ่ายให้ตัวแทน ต้องนำมารวมเป็นส่วนหนึ่งของราคานำเข้าและต้องชำระภาษีนำเข้า และตามข้อตกลงการประเมินราคาศุลกากรขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า เงินโบนัสดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาชำระอากรขาเข้า อีกทั้ง กรมศุลฯ ไทยยังได้นำประเด็นเรื่องนี้ให้องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization:WCO) พิจารณา ซึ่ง WCO โดยประเทศสมาชิกในที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ว่า เงินโบนัสถือเป็นค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่เกิดขึ้นภายหลังการนำเข้า ไม่ต้องนำมารวมในราคานำเข้าเพื่อคำนวณอากรขาเข้า ยกเว้นประเทศไทยที่ขอสงวนไว้” นายกิจธวัช กล่าวและว่า
ส่วนกรณี ที่ปรากฎเอกสารว่า บริษัทค้างชำระภาษีกับกรมสรรพากร และถูกกรมสรรพากรขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อ 8 เม.ย.2548 นั้น นางเลไล ผอ.อาวุโสปฏิบัติการ ยืนยันว่า ได้ชำระภาษีครบถ้วนตามกฎหมาย ล่าสุด ไม่มีการค้างชำระ แต่อย่างใด
“กรณีที่สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยข้อมูลเมื่อเดือน เม.ย. 2548 นั้น ความจริงแล้วทางบริษัทฯ ได้ทำการจ่ายชำระค่าภาษีแล้วทั้ง ภ.ง.ด.3 จำนวน 20,000 กว่าบาท และ ภ.ง.ด.53 จำนวน 240,000 กว่าบาท เหตุที่ปรากฎในฐานข้อมูลนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เข้าใจว่า เป็นแนวปฏิบัติอัตโนมัติของกรมสรรพากรที่ต้องจัดส่งหนังสือให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระงับการรับจดทะเบียนฯ แต่เมื่อบริษัทฯ ชำระเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลนั้นก็คงยังค้างอยู่ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” นางเลไล ยืนยัน
ในตอนท้ายของการชี้แจง คณะผู้บริหารของบริษัทแอมเวย์ฯ ยังกล่าวด้วยว่า ล่าสุด ถูกกรมศุลกากรได้แจ้งประเมินภาษีค้างกรณีนำเข้าปี 2547 อีกประมาณกว่าพันล้านบาท โดยอ้างกรณีเงินโบนัสที่จ่ายให้ตัวแทนเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกัน กรณีพิพาท 1,385 ล้านบาท นั้น กรมศุลกากรได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีแก่บริษัทอีกทางหนึ่งด้วย จึงอยากขอความเห็นใจ บริษัทฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนหน้านี้ เคยเดินทางเข้าพบอธิบดีกรมศุลฯ หลายยุคหลายคนที่ผ่านมา ทุกคนรับปากว่า จะให้ความเป็นธรรม แต่ไม่มีความคืบหน้า อย่างไรก็ตาม พร้อมที่ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อทุกฝ่ายทุกหน่วยงาน และจะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับจากปี 2557 เป็นต้นมา บริษัท แอมเวย์ฯ ถูกกรมศุลกากร ส่งเรื่องให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี จำนวน 15 ครั้ง
สำหรับ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนวันที่ 19 มี.ค. 2528 ทุนปัจจุบัน 2 ล้านบาท แอมเวย์ เนเธอร์แลนด์ ลิมิเต็ด (สัญชาติอเมริกัน) ถือหุ้นใหญ่ 99% แจ้งผลประกอบการรอบปี 2558 รายได้ 15,457,609,178 บาท กำไรสุทธิ 566,587,900 บาท สินทรัพย์ 4,518,973,944 บาท หนี้สิน 3,478,163,856 บาท กำไรสะสม 1,038,810,088 บาท
อ่านประกอบ :
เจาะขุมทรัพย์ ‘แอมเวย์’18 ปี ฟันรายได้ 1.7 แสนล. ก่อนคดีพิพาท 1,385.5 ล.กรมศุลฯ
1,385 ล.! ยักษ์ขายตรง‘แอมเวย์’ไม่จ่ายกรมศุลฯ สำแดงต่ำกว่าเป็นจริง-ทยอยหมดอายุความ
เบื้องหลังยักษ์ขายตรง‘แอมเวย์’โดนกรมศุลฯสั่งล็อค 15 ครั้ง ปมสำแดงนำเข้าสินค้า
47 บ.ค้างภาษีนำเข้า!กรมศุลฯสั่งล็อค ห้ามจดชำระบัญชีฯ ‘ยักษ์ขายตรง-รถหรู’ โดนด้วย