เบื้องหลังยักษ์ขายตรง‘แอมเวย์’โดนกรมศุลฯสั่งล็อค 15 ครั้ง ปมสำแดงนำเข้าสินค้า
เปิดเบื้องหลังยักษ์ขายตรง ‘แอมเวย์’ โดนศุลกากรฯ สั่งห้ามจดทะเบียนชำระบัญชี 15 ครั้ง ตั้งแต่ปี 57 มีปัญหาสำแดงราคานำเข้าสินค้า คดีอยู่ระหว่าง คกก.อุทธรณ์ เคยถูกสรรพากรบี้ภาษีด้วย สาวลึกผลประกอบการ ทุนจดทะเบียน 2 ล. ฟันรายได้ 1.5 หมื่นล./ปี
จากกรณีที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2559 นายวิชัย มากวัฒนสุข ผู้อำนวยการส่วนคดีแพ่งและคดีปกครอง ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการกองข้อมูลธุรกิจ เพื่อขอให้ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและระงับการขีดชื่อออกจากทะเบียน นิติบุคคล จำนวน 47 รายโดยให้เหตุผลว่า “เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการติดตามหนี้ค่าภาษีอากรจากนิติบุคคลดังกล่าว” และ 1 ใน 47 รายคือ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบการรายใหญ่ของสหรัฐฯ (อ่านประกอบ : 47 บ.ค้างภาษีนำเข้า!กรมศุลฯสั่งล็อค ห้ามจดชำระบัญชีฯ ‘ยักษ์ขายตรง-รถหรู’ โดนด้วย)
ล่าสุด แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรเปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า กรณีของ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด มีปัญหาในการสำแดงการนำเข้าสินค้า และถูกกรมศุลกากรตรวจพบและสั่งประเมินภาษีอากรเป็นจำนวนหลายล้านบาท แต่ผู้ประกอบการรายดังกล่าวได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมศุลกากร ในระหว่างที่คดียังไม่สิ้นสุดกรมศุลกากรจึงขอความร่วมมือไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระงับการจดทะเบียนชำระบัญชีไว้ก่อน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติเหมือนเอกชนรายที่มีปัญหาในเรื่องการสำแดงภาษีนำเข้าสินค้าและคดียังไม่ยุติ
“อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดว่า บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด มีปัญหาค้างชำระภาษีเป็นเงินจำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับการสำแดงใบขนสินค้าในคราวนั้นๆ และกรมศุลฯก็มีหลายส่วนที่รับผิดชอบ”แหล่งข่าวกล่าว
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ฝ่ายคดีแพ่งและคดีปกครอง กรมศุลกากร ได้ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและระงับการจดทะเบียนบริษัท กรณี บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 15 ครั้งตั้งแต่ปี 2557-มิ.ย.2559 และแต่ละครั้งมีรายชื่อเอกชนรายอื่นร่วมในหนังสือคำสั่งด้วย
ครั้งแรกวันที่ 25 เม.ย.2557 (ร่วมรายอื่น 16 ราย) ครั้งที่สอง 17 ก.ย.2557 ครั้งที่สาม 22 ม.ค.2558 ครั้งที่สี่ 9 ก.ค.2558 ครั้งที่ห้า 1 ก.ย.2558 ครั้งที่หก 11 พ.ย.2558 ครั้งที่เจ็ด 12 ม.ค.2559 ครั้งที่แปดวันที่ 12 ม.ค.2559 ครั้งที่เก้า วันที่ 1 มี.ค.2559 ครั้งที่สิบ วันที่ 25 มี.ค.2559 ครั้งที่ 11 วันที่ 21 เม.ย.2559 ครั้งที่ 12 วันที่ 7 มิ.ย.2559 ครั้งที่ 13 วันที่ 15 มิ.ย.2559 (ร่วมกับรายอื่น 47 ราย) ครั้งที่ 14 วันที่ 16 มิ.ย.2559 (ร่วมรายอื่น 50 ราย) และ ล่าสุดครั้งที่ 15 วันที่ 21 มิ.ย.2559 (ร่วมกับเอกชนอื่นรวม 73 ราย)
และยังพบว่า บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เคยมีปัญหาค้างชำระภาษีกับกรมสรรพากรและถูกกรมสรรพากรโดยสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 10 ขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและขอหลักฐานทะเบียนนิติบุคคลมาครั้งหนึ่งเมื่อ 8 เม.ย.2548
บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนวันที่ 19 มีนาคม 2528 ทุน 2 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 1199/1 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แอมเวย์ เนเธอร์แลนด์ ลิมิเต็ด (สัญชาติอเมริกัน) ถือหุ้นใหญ่ 99%
แจ้งผลประกอบการรอบปี 2558 รายได้ 15,457,609,178 บาท กำไรสุทธิ 566,587,900 บาท สินทรัพย์ 4,518,973,944 บาท หนี้สิน 3,478,163,856 บาท กำไรสะสม 1,038,810,088 บาท
รอบปี 2557 รายได้ 15,165,568,933 บาท กำไรสุทธิ 494,799,230 บาท รอบปี 2556 รายได้ 15,750,126,004 บาท กำไรสุทธิ 676,262,776 บาท รอบปี 2555 รายได้ 16,013,173,100 บาท กำไรสุทธิ 725,396,836 บาท รอบปี 2554 รายได้ 14,644,079,720 บาท กำไรสุทธิ 434,986,912 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่บริษัท แอมเวย์ฯ หมายเลข 02-725-8000 ตามที่ระบุในเว็บไซต์บริษัทฯ ขอติดต่อผู้บริหาร เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีข้างต้น โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่งรับสาย พร้อมแนะนำให้ผู้สื่อข่าวติดต่อไปที่หมายเลข 02-840-8000 แทน ผู้สื่อข่าวจึงโทร.ไปที่เบอร์ดังกล่าว พนักงานหญิงรายหนึ่งรับสาย กล่าวว่า “ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว” และระบุให้ผู้สื่อข่าวถือสายรอครู่หนึ่ง
ต่อมา พนักงานคนดังกล่าวดังสายกลับมา แจ้งว่า “ขอโทษที่ให้ถือสายรอค่ะ จากการตรวจสอบเบื้องต้น ข้อมูลตรงนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งเป็นเรื่องลับ ต้องดูว่าเปิดเผยได้หรือไม่ อย่างไรแล้ว แนะนำให้ผู้สื่อข่าวส่งอีเมล์ (E-mail) พร้อมข้อสอบถามทุกประเด็นที่ต้องการทราบไปที่ [email protected] ถึงคุณลักษณา เจนอนันต์พร ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร โดยจะใช้เวลาดำเนินการรวบรวมข้อมูลประมาณ 15 วันหรือเร็วกว่านั้น และพนักงานจะประสานกลับมา
อ่านประกอบ :
2 บ.นำเข้ารถหรู ‘นักธุรกิจหนุ่ม’ หุ้นใหญ่! ชนวน สตง.สอบรองอธิบดีกรมศุลฯ-พวก