- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดแผนผัง ชำแหละ บ.ญี่ปุ่น-พาร์ทเนอร์สวิส เอี่ยวสินบนเจ้าภาพโอลิมปิก
ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดแผนผัง ชำแหละ บ.ญี่ปุ่น-พาร์ทเนอร์สวิส เอี่ยวสินบนเจ้าภาพโอลิมปิก
"...ขณะที่หน่วยงานของฝรั่งเศสกำลังดำเนินการสอบสวนครั้งที่ 2 ซึ่งในสำนวนการสอบสวนนั้นได้มีการพิจารณาถึงบทบาทของบริษัทเดนท์สุและบริษัท AMS ที่เกี่ยงข้องกับกรณีการให้สินบนในช่วงการจัดกิจกรรมใหญ่ๆของสหพันธ์สมาคมกรีฑาฯในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และอาจจะมีความเกี่ยวข้องไปถึงข้อกล่าวหาที่ว่าคณะกรรมการประมูลสถานที่ของกรุงโตเกียวนั้นอาจจะให้สินบนกับนายลามิน โดยแลกเปลี่ยนกับการที่นายลามินนั้นจะไปล็อบบี้คณะกรรมการเพื่อโหวตให้กรุงโตเกียวได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในช่วงปี ค.ศ. 2020..."
ส่องคดีทุจริตโลก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ในสัปดาห์นี้ กลับมาสู่ประเด็นการทุจริตในแวดวงกีฬาโอลิมปิกกันอีกครั้งหนึ่ง
โดยเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์ของอังกฤษ รายงานข่าวความเคลื่อนไหวของหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายของฝรั่งเศส ว่ากำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนบริษัทประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีชื่อว่า Lucerne-based Athletics Management & Services (AMS) หุ้นส่วนธุรกิจบริษัทเดนท์สุ (Dentsu) ซึ่งเป็นบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น หลังต้องสงสัยว่าบริษัทสัญชาติสวิสแห่งนี้จะมีบทบาทสำคัญในการทำข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการยักยอกเงินจากผู้สนับสนุนการจัดแข่งขันกีฬาระดับโลก และทางฝรั่งเศสยังได้ขอให้หน่วยงานของสวิตเซอร์แลนด์บุกเข้าไปยังสำนักงานของบริษัทเอกชนแห่งนี้เพื่อยึดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตดังกล่าวไว้ด้วย
หน้าเว็บไซต์บริษํท Lucerne-based Athletics Management & Services (AMS)
สำนักงานใหญ่ บริษัท เดนท์สุ ณ กรุงโตเกียว
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้หน่วยงานสืบสวนของฝรั่งเศสยังไม่ได้ออกมากล่าวโทษว่าบริษัทเอกชนสัญชาติสวิสหรือบริษัทเดนท์สุนั้นได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด
สำหรับพฤติกรรมสงสัยว่าจะมีการทุจริตนั้น มีที่มาจากการทั้ง 2 บริษัทได้ทำงานร่วมกันเพื่อทำสื่อประชาสัมพันธ์และทำการตลาดให้กับ สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAFF) ในช่วงเวลาที่นายลามิน เดียค (Lamine Diack) อดีตประธานสหพันธ์และนายปาป้า มาสซาต้า บุตรชายของนายลามินถูกตั้งข้อหาว่าได้ยักยอกเงินค่าสนับสนุน ยักยอกเงินจากข้อตกลงการออกอากาศรายการแข่งขันกีฬา และข้อหาเกี่ยวกับการเงินอื่นๆ ซึ่งข้อหาทั้งหมดนั้นได้มีการสอบสวนเบื้องต้นไปแล้วเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และขณะนี้กำลังมีการทำสำนวนเพื่อส่งไปพิจารณาในชั้นศาลต่อไป
ขณะที่หน่วยงานของฝรั่งเศสกำลังดำเนินการสอบสวนครั้งที่ 2 ซึ่งในสำนวนการสอบสวนนั้นได้มีการพิจารณาถึงบทบาทของบริษัทเดนท์สุและบริษัท AMS ที่เกี่ยงข้องกับกรณีการให้สินบนในช่วงการจัดกิจกรรมใหญ่ๆของสหพันธ์สมาคมกรีฑาฯในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และอาจจะมีความเกี่ยวข้องไปถึงข้อกล่าวหาที่ว่าคณะกรรมการประมูลสถานที่ของกรุงโตเกียวนั้นอาจจะให้สินบนกับนายลามิน โดยแลกเปลี่ยนกับการที่นายลามินนั้นจะไปล็อบบี้คณะกรรมการเพื่อโหวตให้กรุงโตเกียวได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในช่วงปี ค.ศ. 2020
แน่นอนว่าที่ผ่านมานั้นคณะกรรมการประมูลฯได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลปรากฏในเอกสารข้อกล่าวหาชุดหนึ่ง จำนวน 89 หน้า ที่มีชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า “ordonnance de renvoi” ซึ่งถูกเซ็นรับรองโดยอดีตผู้พิพากษาฝรั่งเศสชื่อว่าเรอโนลด์ แวน รุมเบค (Renaud Van Ruymbeke) ถูกเผยแพร่ออกมา
โดยเอกสารดังกล่าว ระบุถึงพฤติกรรมของบริษัท AMS ว่า บริษัทแห่งนี้ได้โยกย้ายเงินทุนที่ใช้สำหรับการสนับสนุนกิจกรรมไปยังบัญชีของนายปาป้า มาสซาต้า โดยพฤติกรรมของบริษัท AMS นั้นจะเข้าไปมีส่วนร่วมโดยทำสัญญาร่วมกันกับเหล่าผู้สนับสนุนในการจัดกิจกรรมระดับโลกอันเกี่ยวข้องกับสหพันธ์สมาคมกรีฑาฯ
ขณะที่ ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมต่างๆซึ่งทางผู้สนับสนุนเป็นผู้จ่ายเงินนั้น ส่วนหนึ่งได้กลายเป็นเงินส่วนต่างจำนวนมหาศาลที่เข้าไปสู่กระเป๋าเงินของนายปาป้า
แต่อย่างไรก็ตาม ทางด้านของ AMS ได้ออกมาปฏิเสธที่จะตอบคำถามของสำนักข่าวรอยเตอร์ อันเกี่ยวข้องกับกรณีข้อกล่าวหาที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวนี้
ด้านตัวแทนบริษัทเดนท์สุ ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า บริษัทฯ ยังไม่ได้รับทราบถึงข้อกล่าวหาในเอกสาร และยังไม่มีหน่วยงานไหนมาสอบถามกับทางบริษัทถึงความเกี่ยวข้องกับข้อหาทุจริตเลยแม้แต่น้อย
“บริษัทเดนท์สุไม่ทราบและไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับรายละเอียดใดๆทั้งสิ้นในเอกสารข้อกล่าวหาดังกล่าว”นายชูซาคุ คันนัน โฆษกบริษัทเดนท์สุกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์
มีรายงานข่าวแจ้งว่า นายเรอโนลด์ แวน รุมเบค อดีตผู้พิพากษาฝรั่งเศส ได้เซ็นเอกสารรับรองเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2561 และส่งเอกสารดังกล่าวไปยังหน่วยงานด้านกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรวบรวมหลักฐานและสอบถามข้อมูลจากผู้บริหารบริษัท แต่ปัจจุบันหน่วยงานสวิสยังไม่ได้ดำเนินการตามคำร้องขอแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในเอกสารคำร้องขอของฝรั่งเศสนั้นได้ขอให้ทางประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้รวบรวมเอกสารข้อมูลทั้งหมด ได้แก่ เอกสารสัญญาระหว่างบริษัท AMS และบริษัทเดนท์สุ เอกสารสัญญาอันเกี่ยวข้องกับบริษัทของนายปาป้า เอกสารอันเกี่ยวข้องกับบริษัทจำนวน 5 แห่ง ซึ่งได้เป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมของสหพันธ์กรีฑา
โดยบริษัททั้ง 5 แห่งได้แก่ 1.Russia’s VTB Bank 2.China Petroleum & Chemical Corp 3. South Korea’s Samsung Electronics Co. Ltd 4.China Central Television และ 5. Abu Dhabi Media Corporation ซึ่งทางการฝรั่งเศสยังได้เรียกร้องให้มีการอธิบายด้วยว่าในแต่ละสัญญานั้นมีวิธีและรายละเอียดการจ่ายเงินอย่างไร
ขณะที่ทางด้านสำนักอัยการและกระทรวงยุติธรรมของสวิตเซอร์แลนด์นั้น ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับทางรอยเตอร์ว่า ได้รับเอกสารคำร้องขอจากทางฝรั่งเศสแล้ว และได้ส่งคำถามที่เกี่ยวข้องกลับไปทางฝรั่งเศสเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทางด้านของนายเรอโนลด์และสำนักอัยการด้านคดีการเงินของฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะให้คำความเห็นต่อคำชี้แจงของสวิตเซอร์แลนด์
โดยในขณะนี้กระบวนการสอบสวนของฝรั่งเศสได้มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากนายเรอโนลด์ได้เกษียณออกจากตำแหน่งผู้พิพากษาแล้ว ตัวเขาจึงได้ส่งข้อมูลการสืบสวนต่างๆไปให้กับนาย Benedicte De Perthuis ผู้พิพากษาคนใหม่ที่จะมารับช่วงต่อจากเขา
สำหรับความเกี่ยวข้องของ 5 บริษัทผู้สนับสนุนสหพันธ์สมาคมกรีฑาฯ
สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รายงานเพิ่มเติมว่าหลังจากที่มีประเด็นการสืบสวนออกมาสู่สาธารณะ ทั้ง 5 บริษัทซึ่งเป็นผู้สนับสนุนของสหพันธ์สมาคมกรีฑาฯได้ออกมาชี้แจงต่อสังคมโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.บริษัทซัมซุงของเกาหลีใต้นั้นมีรายงานว่าได้สนับสนุนกิจกรรมของสหพันธ์สมาคมกรีฑาฯ เพื่อจะสร้างการประชาสัมพันธ์ในตัวบริษัทแสดงให้เห็นว่าได้สนับสนุนกิจกรรมกีฬานานาชาติ โดยทางบริษัทซัมซุงนั้นไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับกรณียักยอกเงินดังกล่าว
2.ธนาคาร VTB ของรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆที่ผิดกฎหมายและกล่าวด้วยว่าสัญญาระหว่างธนาคารกับสหพันธ์สมาคมกรีฑาฯนั้น เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะโปรโมตกิจกรรมของธนาคาร VTB ในระดับนานาชาติ
3.ส่วนบริษัท China Central Television และ 4.บริษัท Abu Dhabi Media Corporation นั้นไม่แสดงท่าใดๆข้อสำนวนการสอบสวนทั้งสิ้น
และ 5.บริษัท China Petroleum & Chemical Corp ซึ่งเป็นบริษัทกลั่นน้ำมันของประเทศจีนที่รู้จักกันในชื่อ Sinopec ก็ปฏิเสธที่จะออกมาให้ความเห็นกับกรณีนี้
บริษัท AMS ก็คือ บริษัทเดนท์สุ
มีการเปิดเผยข้อมูล สหพันธ์กรีฑานานาชาติหรือ IAAF นั้นประสบปัญหาเป็นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากไม่รู้วิธีการที่จะดำเนินการจัดการกับกระบวนการทางธุรกิจและการตลาดที่มีความซับซ้อนได้ และยังไม่รู้ถึงวิธีการในการบริหารเรื่องสิทธิการออกออากาศรายการและการรวบรวมผู้สนับสนุน ซึ่งจากจุดนี้ทำให้สหพันธ์สมาคมกรีฑาฯต้องจ้างบริษัทภายนอกเข้ามารับงาน ซึ่งบริษัทที่ว่านี้ก็คือบริษัทเดนท์สุ ปัจจุบันถือว่าเป็นบริษัทโฆษณาอันดับ 5 ของโลก
สำหรับบทบาทของบริษัทเดนท์สุซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดมหกรรมโอลิมปิก ค.ศ.2020 นั้น มีข้อมูลว่าบริษัทแห่งนี้ได้ทำหน้าที่ทั้งประชาสัมพันธ์ วิจัยด้านการตลาด และสำรวจความคิดเห็น ซึ่งทั้งหมดนั้นอยู่เบื้องหลังสาเหตุที่ว่าทำไมกรุงโตเกียวได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ค.ศ. 2020 และนอกจากนี้บริษัทแห่งนี้ยังได้ทำหน้าที่รวบรวมผู้สนับสนุนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อมาสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จนได้เงินถึง 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.48 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทแห่งนี้ยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพรรค LDP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน โดยนางอากิเอะ ชินโซ ภรรยาของนายอาเบะก็เคยทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ณ บริษัทเดนท์สุแห่งนี้ด้วย
โดยในช่วงประมาณปี 2544 ถือได้ว่าเป็นเวลาที่บริษัทเดนท์สุนั้นได้สัญญางานของสหพันธ์กรีฑาเป็นจำนวนมาก โดยในปีเดียวกันนั้นเอง บริษัท International Sport and Leisure หรือ ISL ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสวิสนั้นก็เข้าสู่ภาวะล้มละลาย จึงทำให้บริษัทเดนท์สุนั้นสามารถเข้ามาซื้อบริษัท AMS ซึ่งเป็นบริษัทที่ถูกก่อตั้งใหม่จากอดีตผู้บริหารของ ISL ได้ และแน่นอนว่าบริษัท AMS แห่งนี้ก็มีสัญญางานกับทางสหพันธ์สมาคมกรีฑาฯมาโดยตลอด
โดยเมื่อเดือน พ.ย. 2559 นายคิโยชิ นากามูระ ผู้บริหารของเดนท์สุถึงกับออกมายอมรับกับผู้บริหารในสหพันธ์สมาคมกรีฑาฯเลยว่าบริษัท AMS นั้นก็คือบริษัทเดนท์สุนี่เอง
แต่อย่างไรก็ตาม นายชูซาคุ คันนัน โฆษกบริษัทเดนท์สุได้ออกมาปฏิเสธแล้ว โดยระบุว่านายนาคามูระไม่เคยที่จะพูดออกไปแบบนั้น และยังบอกอีกด้วยว่าบริษัทเดนท์สุและบริษัท AM แค่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเท่านั้น
พฤติกรรมการทุจริต
สำนักข่าวรอยเตอร์ ยังได้ทำแผนภูมิภาพเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นทุจริตดังกล่าวนี้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (ดูภาพประกอบ)
1.สหพันธ์สมาคมกรีฑาฯได้มอบสัญญาการบริหารด้านการตลาดให้กับบริษัทเดนท์สุ ขณะเดียวกันบริษัทเดนท์สุก็ได้จ่ายเงินให้กับสหพันธ์เป็นจำนวนนับล้านดอลลาร์
2.บริษัทเดนท์สุได้โอนย้ายสิทธิด้านการบริหารการตลาดให้กับบริษัท AMS ในสวิตเซอร์แลนด์
3.มีการรายงานว่ามีการโอนย้ายสิทธิการบริหารบางอย่างไปให้กับบริษัท Pamodzi Sports Consulting ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเซเนกัลของนายปาป้าบุตรของนายลามิน เดียค ประธานสหพันธ์สมาคมกรีฑาฯในช่วงปี 2542-2558
4.บริษัท Pamodzi ได้สิทธิเรียกร้องเงินสนับสนุนจากบริษัทหลายๆแห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือธนาคาร VTB ของประเทศรัสเซีย
5.ในเวลาต่อมาธนาคาร VTB ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนของสหพันธ์สมาคมกรีฑาฯ โดยปรากฏว่ามีการจ่ายเงินผ่านบริษัทเอกชนที่ชื่อว่า Sportima ในช่วงปี 2550-2554 เป็นเงินมูลค่าทั้งสิ้น 29.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 899 ล้านบาท โดยบริษัทที่รับเงินก็คือบริษัท Pamodzi Sports Consulting ของนายปาป้า
6.ในกระบวนการนี้ปรากฏว่าบริษัท Pamodzi ของนายปาป้านั้นเก็บเงินค่าคอมมิชชั่นไว้เป็นจำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะจ่ายเงินกลับไปให้กลับบริษัท AMSเป็นจำนวนทั้งสิ้น 19.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 602 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัท AMS ก็ได้จ่ายเงินย้อนไปยังบริษัทเดนท์สุที่จะจ่ายเงินให้กับสหพันธ์สมาคมกรีฑาฯต่อไป
ทั้งนี้ ถ้าหากนำเอาข้อมูลในแผนภูมิที่แสดงพฤติกรรมการทุจริต ไปย้อนดูข้อมูลเก่าๆที่นำเสนอก็จะพบประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทุจริตอันเกี่ยวข้องกับนายลามิน และนายปาป้า ผู้เป็นบุตรชาย จะพบประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีก 2 ประการคือ
1.นายลามินและบุตรยังมีธุรกิจให้คำปรึกษาในด้านการกีฬา ในชื่อว่า บริษัท 'Black Tiding' ซึ่งบริษัทสัญชาติสิงคโปร์แห่งนี้ได้เรียกเก็บเงินจากนักกีฬาทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นเงินจำนวนรวมมากกว่า 3.45 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 128 ล้านบาท เพื่อแลกกับการปกปิดผลการใช้สารกระตุ้นในกลุ่มนักกีฬา ซึ่งนักกีฬาส่วนใหญ่นั้น ก็ล้วนเป็นนักกีฬาประเภทกรีฑาจากประเทศรัสเซีย (อ่านประกอบ:ส่องคดีทุจริตโลก : อดีตปธ.กรีฑานานาชาติ รับสินบนปกปิดการใช้สารกระตุ้นนักกีฬาระดับโลก)
2.นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งข้อสงสัยว่า บริษัท Black Tiding อาจจะมีส่วนในการรับสินบนเพื่อแลกกับการสนับสนุนให้ประเทศญี่ปุ่นได้จัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
เนื่องจากข้อมูลล่าสุดนั้นระบุว่าในขณะนี้ นายทาเคดะ ทซึเนะคาสุ อดีตประธานคณะกรรมการการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกญี่ปุ่นหรือ JOC กำลังอยู่ระหว่างถูกสอบสวน จากสำนักงานอัยการฝรั่งเศสในข้อหาทุจริต ซึ่งมีการระบุตัวเลขการจ่ายเงินที่น่าสงสัย มูลค่าประมาณ 1.8 ล้านปอนด์ หรือ73,875,322.76 บาทให้กับบริษัท Black Tiding ดังกล่าวนี้ โดยผู้ที่แนะนำให้นายทาเคดะบริจาคเงินให้กับบริษัท Black Tiding ก็คือบริษัทเดนท์สุนั่นเอง
แต่เบื้องต้น นายทาเคดะก็ได้ชี้แจงผ่านแถลงการณ์ว่า การจ่ายเงินจำนวน 1.8 ล้านปอนด์ดังกล่าวนั้นเป็นการจ่ายเงินค่าจ้างเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น (อ่านประกอบ:ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อปธ.คกก.จัดโอลิมปิกญี่ปุ่น ถูกอัยการฝรั่งเศสสอบปมจ่ายสินบน73ล.?)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
อ่านประกอบ :
ส่องคดีทุจริตโลก: นักข่าวสืบสวนถูกคุกคาม หลังเขียนหนังสือเปิดโปงการทุจริตกองทัพชิลี
ส่องคดีทุจริตโลก: ตำรวจอังกฤษอายัดเงิน 3.7 พันล. โยงปมทุจริตติดสินบนฟอกเงินนอกปท.
ส่องคดีทุจริตโลก : อดีตผบ.เรือเสบียงสหรัฐ สารภาพรับสินบน แลกเปลี่ยนข้อมูลลับให้เอกชน
ส่องคดีทุจริตโลก : อินเดียเลิกซื้อเครื่องบินสวิสหมื่นล.สอบเจอปมจ่ายสินบนล็อบบี้กองทัพ
ส่องคดีทุจริตโลก : อดีตผู้บริหารบ.สัญชาติโมนาโก รับสารภาพเอี่ยวสินบนสัญญาน้ำมันอิรัก
ส่องคดีทุจริตโลก : ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงแบนนักการเงินสหรัฐตลอดชีวิต เอี่ยวปมทุจริต 1MDB
ส่องคดีทุจริตโลก : อดีตผู้ว่า 'ริโอ' ยอมรับจ่ายสินบน61.5 ล.แลกโหวตเลือกบราซิลจัดโอลิมปิก
ส่องคดีทุจริตโลก : อดีตปธ.กรีฑานานาชาติ รับสินบนปกปิดการใช้สารกระตุ้นนักกีฬาระดับโลก
ส่องคดีทุจริตโลก: เบื้องลึก 'พลาตินี' ถูกจับพัวพันทุจริตคดีเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022
ส่องคดีทุจริตโลก: เรือขนธนบัตร2.4พันล้าน ‘ล่องหน’ ปริศนา รบ.ไลบีเรียป่วน สั่งตามล่าคืน
ส่องคดีทุจริตโลก :เปิดปม บ.ยักษ์ใหญ่แคนาดา จ่ายสินบนพันล.แลกสัญญา ยุค 'กัดดาฟี่' เรืองอำนาจ
ส่องคดีทุจริตโลก : กรณีอื้อฉาวโคคาโคลา จ่ายสินบน 284 ล. จ้างหน่วยงานวิจัยด้านสุขภาพฝรั่งเศส
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดแผนโจรกรรม 1MDB - ปล้นเงินกองทุนแห่งชาติมาเลย์ 2 หมื่นล้าน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่ออดีตนายกฯฝรั่งเศส ขึ้นศาลปมใช้เงินหลวง35.6ล. จ้างเมีย-ลูก ช่วยงานรัฐสภา
ส่องคดีทุจริตโลก: เปิดโปงสินบน บ.ยักษ์ใหญ่บราซิล 2.5 หมื่นล. สะเทือนทั่วลาตินอเมริกา
ส่องคดีทุจริตโลก: ศาลจีนจำคุก จนท.มองโกเลีย 18 ปี เลียนแบบหนังสายลับซ่อนเงินสินบน700ล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อ บ.เชลล์-เอมิ เจอข้อหาให้สินบนหมื่นล้าน แลกใบอนุญาตสำรวจบ่อน้ำมัน
ส่องคดีทุจริตโลก : ศึกชิงเก้าอี้ ปธน.ยูเครน เดือด! ข้อกล่าวหาโกงซื้อเสียงเพียบ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อหัวคะแนนพรรครีพับลิกันโกงการเลือกตั้งรัฐนอร์ทแคโรไลน่า
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ป.ป.ช.ยูเครน ดองเรื่องไม่สอบทุจริตขนย้ายอะไหล่อาวุธ
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดโปงขบวนการทุจริตขายอาวุธยูเครน โยงข้อมูลธุรกิจบริษัทประธานาธิบดี?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อรัฐวิสาหกิจขายอาวุธยูเครนส่อโดนยุบจากข้อหาทุจริต 295ล.
ส่องคดีทุจริตโลก:ตีแผ่ปัญหาคอร์รัปชั่น เส้นสาย ฝังรากลึกในกองทัพปลดปล่อยปชช.จีน
ส่องคดีทุจริตโลก: ความพยายามในการขจัดอิทธิพลกลุ่มทุนในการเมืองสหรัฐ ผ่าน Dark Money
ส่องคดีทุจริตโลก: อดีตผู้บริหารบ.จีน ส่อโดนโทษประหาร ปมขายความลับเรือบรรทุกเครื่องบิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติวิจารณ์นครดูไบเป็นสวรรค์การฟอกเงิน
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่จีน เจอข้อครหาฉ้อโกงราคาชิ้นส่วนโดรน 4.6 พันล.
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อเกม Fortnite กลายเป็นเครื่องมือฟอกเงินของอาชญากรไซเบอร์?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อปธ.คกก.จัดโอลิมปิกญี่ปุ่น ถูกอัยการฝรั่งเศสสอบปมจ่ายสินบน73ล.?
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อบ.ส่งเสบียงให้กองทัพสหรัฐฯ ถูกสอบปมฉ้อโกงสัญญา 8 พันล.เหรียญ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อบ.ลูกโฟล์คสวาเกน ยอมรับมีเอี่ยวโกงทดสอบค่าปล่อยมลพิษสหรัฐฯ ด้วย
ส่องคดีทุจริตโลก : เปิดกรณีสินบนจัดซื้อ 'กริพเพน' แสนล.กระทบปมทุจริตอดีตผู้นำบราซิล
ส่องคดีทุจริตโลก: เมื่อธนาคารยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯสอบสวน ปมเอี่ยวฟอกเงินเกาหลีเหนือ
ส่องคดีทุจริตโลก : เมื่อ ปธ.ANOC ลงจากตำแหน่ง หลังถูกสอบปลอมแปลงกระบวนการอนุญาโตฯ จัดโอลิมปิก