- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ผ่าเหตุผลฝ่ายหนุน-ค้าน บอร์ดมหาวิทยาลัยยื่นทรัพย์สิน-ยุ่งยากจริงหรือกลัวเผยกิ๊ก?
ผ่าเหตุผลฝ่ายหนุน-ค้าน บอร์ดมหาวิทยาลัยยื่นทรัพย์สิน-ยุ่งยากจริงหรือกลัวเผยกิ๊ก?
“…สังเกตว่า ผู้ออกมาคัดค้านการยื่นบัญชีทรัพย์สิน อ้างอนาคตข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง แต่แท้จริงแล้วคือการปกป้องกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ต่างคนต่างส่งเสริม หรือที่สื่อพาดหัวกันว่า ผลัดกันเกาหลัง วงจรนี้ไม่รู้จักจบสิ้น... VS ...บางคนเกษียณไปแล้ว อาจกระทบกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัว เช่น ชอบขาว ๆ หมวย ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาครอบครัวขึ้นหรือไม่ ตรงนี้เลยทำให้เกิดความกังวล และมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายคนถอนตัวออกไป…”
กำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้าย!
จะได้ทราบกันแล้วว่า ตกลงผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และเจ้าหน้าที่รัฐอื่น หรืออธิบายให้ง่ายขึ้นคือบรรดานายกสภา กรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการในองค์การมหาชน และกรรมการในกองทุนต่าง ๆ จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ ?
จับอาการ ป.ป.ช. ที่เสียงแข็งมาตั้งแต่ต้น ยืนยันว่า ยังไงเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินแน่นอน (ตามมาตรา 102 พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ต่อมาเสียงเริ่มอ่อนลงเมื่อเสียงต้านเริ่มดังขึ้น และมีการไขก๊อกลาออกจากตำแหน่งกันเป็นเวลา เพื่อเลี่ยงไม่อยากยื่นบัญชีทรัพย์สิน อ้างว่า ไม่สะดวก ดูยุ่งยาก หวั่นทำผิดนิดเดียวอาจถึงขั้นติดคุก ทำให้ ป.ป.ช. ขยายเวลาเพิ่มเติมให้อีก 60 วัน และอาจปรับแก้ให้มีการยื่นและไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินแทน (ตามมาตรา 103 พ.ร.บ.ป.ป.ช.)
กระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) งัดไม้ตายมาตรา 44 มาแก้ไขนิยามผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของ ป.ป.ช. โดยตัดคำว่ากรรมการออก และให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐอื่นที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินใหม่ ทำให้บอร์ดสภามหาวิทยาลัยรอดตัวกันไป ขณะที่แรงกดดันกลับมาตกอยู่กับฝั่ง ป.ป.ช. เพราะถ้าทำไม่ถูกใจใครบางฝ่าย อาจถูกรุมวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาเป็นประเด็นใหม่ได้ ?
ทำให้เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดรับฟังความเห็นจากบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐอื่น เช่น กรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการองค์การมหาชน กรรมการในกองทุนต่าง ๆ รวมถึงตัวแทนภาคประชาชน มาประกอบการพิจารณาว่าจะกำหนดตำแหน่งใดบ้างในการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินแก่ ป.ป.ช. (อ่านประกอบ : หนุนต้านเซ็งแซ่!ป.ป.ช.รับฟังความเห็นบิ๊กหน่วยงานรัฐยื่นทรัพย์สิน-เลขาฯยันง่ายขึ้น)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงความเห็นแต่ละฝ่ายให้ทราบ ดังนี้
@เลขาฯยันยื่นทรัพย์สินแบบใหม่รัดกุม-ง่ายขึ้น ลืมจริงคือไม่ผิด
เบื้องต้นเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายวรวิทย์ สุขบุญ ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยเปรียบเทียบกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับเก่า เมื่อปี 2542 และฉบับใหม่ปี 2561 ว่ามีความแตกต่างกันเล็กน้อย และในกฎหมายใหม่มีความยืดหยุ่นกว่า เพราะหากมีบุคคลใดยื่นผิด หรือยื่นไม่ถูกต้อง เลขาธิการต้องทำหนังสือเตือนบุคคลดังกล่าวภายใน 15 วัน ว่า มีเหตุผลรองรับหรือไม่ นอกจากนี้การวินิจฉัยบุคคลใดว่ามีความผิดฐานจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ได้เพิ่มปัจจัยว่า มี ‘เจตนา’ หรือไม่ หากพิสูจน์ได้ว่าลืมจริงก็ไม่มีความผิด ดังนั้นขั้นตอนเหล่านี้จึงรัดกุมมากกว่าเดิม
@ฝ่ายหนุนลั่นต้องเปิดเผย เหตุมีส่วนได้เสีย แก้วงจรผลัดกันเกาหลัง
ต่อมา ป.ป.ช. เปิดฟลอร์ให้ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และตัวแทนภาคประชาชน แสดงความคิดเห็น โดยเริ่มจากฝ่ายเห็นด้วยที่นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินก่อน ส่วนมากเป็นระดับรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และสังกัดของรัฐแต่ละแห่ง มาในฐานะเลขานุการสภามหาวิทยาลัย ความเห็นโดยสรุป ระบุว่า ระบบมหาวิทยาลัยค่อนข้างลึกลับซับซ้อน ส่วนใหญ่เป็นการแก่งแย่งกันให้ได้มาซึ่งอำนาจและบารมี อยู่นาน แก้ไขปัญหายาก แม้ว่า คสช. จะออกคำสั่งห้ามนายกสภามหาวิทยาลัยรับเงินค่าตอบแทนก็ตาม แต่แทบไม่มีความหมาย เพราะนายกสภามหาวิทยาลัยบางแห่งได้รับผลประโยชน์อื่นแทน เช่น ตั้งเป็นประธานกรรมการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อรับเบี้ยเลี้ยง-เบี้ยประชุม หรือนำทรัพยากรของมหาวิทยาลัยไปใช้ส่วนตัว เป็นต้น
“ปัจจุบันสังเกตได้ว่า ผู้ออกมาคัดค้านการยื่นบัญชีทรัพย์สิน อ้างอนาคตข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง แต่แท้จริงแล้วคือการปกป้องกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ต่างคนต่างส่งเสริม หรือที่สื่อพาดหัวกันว่า ผลัดกันเกาหลัง วงจรนี้ไม่รู้จักจบสิ้นถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่กำหนดให้ตำแหน่งเหล่านี้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน” รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง ระบุ
ขณะที่รองอธิการมหาวิทยาลัยราชภัฏอีกแห่ง สนับสนุนเช่นกัน โดยยืนยันว่า แม้สภามหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจจัดสรรงบประมาณ ได้มีอำนาจสรรหาผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการต่าง ๆ ตรงนี้คือส่วนสำคัญที่อาจทำให้เกิดส่วนได้เสีย หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำงาน
ส่วนตัวแทนที่ประชุมนายกสภาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่งทั่วประเทศ ลุกขึ้นจับไมค์ยืนยันเสียงดังฟังชัดว่า สนับสนุนให้นายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เช่นเดียวกับตัวแทนที่ประชุมนายกสภาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ แต่ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ตามมาตรา 44 ที่ยกเลิกนายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ยกเลิกแค่ในส่วนมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเท่านั้น ในส่วนของสังกัดของรัฐยังคงต้องยื่นอยู่ ดังนั้นหากเลิกก็ต้องเลิกทั้งหมด หากยื่นก็ต้องยื่นทั้งหมด ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน
@ฝ่ายค้านยันเงื่อนไขเยอะ บางคนไม่ถนัด-เกษียณแล้วหวั่นเปิดเผยกิ๊ก
ด้านฝ่ายคัดค้าน ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏขนาดเล็กหลายแห่ง ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยขนาดเล็กส่วนมาก ได้รับงบประมาณน้อย จึงจัดสรรเบี้ยประชุมนายก-กรรมการสภาน้อยลงไปด้วย และไม่มีอำนาจอะไรมากมายในการทำงบประมาณ ที่สำคัญส่วนใหญ่ตำแหน่งนี้เป็นการเชิญมา ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งเหมือนนักการเมือง ดังนั้นอะไรที่มันมีเงื่อนไขหรือข้อกฎหมายมากมาย ถ้าบริหารจัดการลำบาก ยุ่งยากมากก็ไม่มีใครมาช่วย
“ขออย่ามองแต่แง่กฎหมายอย่างเดียว ขอให้มองในแง่การบริหารจัดการด้วย” ตัวแทนสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ระบุ
ขณะที่ตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคกลางแห่งหนึ่ง ระบุว่า เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ได้งบประมาณปีหนึ่งราว 4-5 ร้อยล้านบาท/ปี เงินที่จะนำมาจ่ายเบี้ยประชุม หรือค่าตอบแทนกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็น้อยมาก ค่าตอบแทนอื่นก็แทบไม่มี ดังนั้นในข้อกฎหมายเห็นด้วย ใครก็ตามเข้ามาทำงานแสดงความโปร่งใส เป็นหนึ่งในหลักธรรมาภิบาล การเปิดเผยคือการแสดงเจตนาความโปร่งใส
อย่างไรก็ดีในส่วนของบัญชีทรัพย์สินนั้น คนไทยอาจไม่ค่อยถนัด บางคนชมชอบความมีเงิน แต่ละคนต่างเหตุผลกัน เรื่องการเปิดเผยบางคนไม่อยากให้คนอื่นรู้ หรือบางคนกลัวการเปิดเผยอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดตามมา ไม่ได้มองในเรื่องการทุจริตหรือไม่ทุจริต
“ข้อกฎหมายมีทั้งจุดดีและจุดอ่อน ถ้ารับได้จะดี การเปิดเผยสาธารณะ จะมีวิธีไหนบ้างให้เปิดเผยเฉพาะคนเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ อย่าให้ถึงกับสาธารณชนเลย หรือถ้าลงระบบอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยเฉพาะบางส่วนที่สาธารณชนดูได้หรือไม่”
อีกประเด็นที่ตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนี้เป็นกังวลคือ พอมีประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกมา มีการพิจารณาบทลงโทษที่สืบเนื่องจากการยื่นบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมายเก่า ป.ป.ช. มีเยอะแยะ แค่ลืมแจ้งหนี้สินยังโดนคดีอาญา
“นอกจากนี้ยังมีประเด็น บางคนเกษียณไปแล้ว อาจกระทบกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัว เช่น ชอบขาว ๆ หมวย ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาครอบครัวขึ้นหรือไม่ ตรงนี้เลยทำให้เกิดความกังวล และมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายคนถอนตัวออกไป”
ขณะที่ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ที่เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ระบุว่า ถ้าเป็นเรื่องธรรมาภิบาล ไม่มีใครค้าน แต่วันนี้พูดถึงเรื่องวิธีการเปิดเผยอยู่ กฎหมายปัจจุบันอาจเหมาะสมกับบางกลุ่ม แต่อาจไม่เหมาะกับบางกลุ่ม เป็นต้น
นี่คือเหตุผลหลัก ๆ จากทั้งฝ่ายหนุน และฝ่ายต้าน ว่านายก-กรรมการสภามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช. หรือไม่ ?
ท้ายที่สุดจะมีตำแหน่งใดบ้างที่ต้องยื่น คงต้องรอดุลพินิจจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกครั้ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช. นัด 4 ม.ค.เชิญมหาวิทยาลัย-กองทุน ถกปมกำหนดตำแหน่งยื่นทรัพย์สิน
ปธ.ป.ป.ช.ยันชัด กก.มหาวิทยาลัยไม่ต้องยื่นทรัพย์สินแล้ว-4 ม.ค.ถกกำหนดตำแหน่งใหม่
อย่าเอาใจใคร! เลขาฯ ACT หนุน ป.ป.ช. ให้บอร์ดมหาวิทยาลัย-กองทุนยื่นทรัพย์สิน
รีเซ็ตใหม่! ม.44 แก้ กม.ป.ป.ช. กก.สภามหาวิทยาลัย-บอร์ดกองทุนไม่ต้องยื่นทรัพย์สิน
ผ่าปมร้อน! กก.สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นทรัพย์สิน ป.ป.ช. เหลือ 2 ทางเปิด-ไม่เปิดสาธารณะ?
อาจชง สนช.แก้ กม.ลูก! ปธ.ป.ป.ช.ชี้ทางออกให้ จนท.รัฐยื่นแต่ไม่เปิดเผยทรัพย์สิน
ป.ป.ช.ถกใหม่ กก.สภามหาวิทยาลัย-จนท.รัฐใดบ้างต้องยื่นทรัพย์สินหลังถูก ม.44 แก้
ไม่ถอย!ป.ป.ช.ยันผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงต้องยื่นทรัพย์สิน-ถ้า รบ.จะสั่งเลิกก็แล้วแต่
ราชกิจจาฯแพร่แล้ว! ประกาศ ป.ป.ช.ขยายเวลา จนท.รัฐยื่นทรัพย์สินฉบับใหม่
กลัวไม่เสมอภาค! ป.ป.ช.เคาะเพิ่มตำแหน่ง 5 ประเภทขยายเวลายื่นทรัพย์สินอีก 60 วัน
ป.ป.ช.ไม่ยอมถอย! ยันนายก-กก.สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นทรัพย์สินแต่ขยายเวลา 60 วัน