- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- อย่าเพิ่งคิดไกลมีทุจริต? เหตุผล รมว.วิทย์ฯ ตั้ง กก.พิจารณาซื้อดาวเทียม THEOS-2
อย่าเพิ่งคิดไกลมีทุจริต? เหตุผล รมว.วิทย์ฯ ตั้ง กก.พิจารณาซื้อดาวเทียม THEOS-2
"...แต่ขอเรียนว่าอย่าพึ่งไปคิดไกลว่ามีหรือไม่เพราะถ้ามีผลประโยชน์ทับซ้อนจริง ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ เป็นไปตามครรลองอยู่แล้ว เรื่องสำคัญในวันนี้คือต้องให้มีกระบวนการมาตรวจสอบก่อนประเด็นข้อเป็นห่วง ความคาดเคลื่อนต่างๆนั้นจริงหรือเท็จแค่ไหน..."
"ขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีประเด็นการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน"
คือหลักใหญ่ใจความสำคัญของนาย สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ยืนยันหนักแน่นเกี่ยวกับกรณีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดาวเทียม THEOS-2 ที่ถูกกังขาจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)
คำพูดนี้ถูกกล่าวในงานแถลงข่าวชี้แจงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างดาวเทียม THEOS-2 วงเงินกว่า 7,000 ล้านบาท ร่วมกับผู้บริหารองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2561 เวลา 14.00 น. ห้องวีนัส 1 ชั้น 2 อาคาร 1 อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี โดยเชิญผู้เกี่ยวข้อง 3 ราย คือ นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหาร สทอภ. นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมการแถลงข่าวด้วย (อ่านประกอบ : ดึงประมนต์ขึ้นเวทีด้วย! รมว.วิทย์ นัดแถลงข่าวจัดซื้อดาวเทียม7พันล.17 ส.ค.นี้)
เหตุผลที่ต้องมีการแถลงข่าวกรณีนี้ นายสุวิทย์ อธิบายว่า หลังจากได้รับฟังความเห็นของทุกฝ่ายเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีประเด็นที่เข้าใจไม่ตรงกันเกี่ยวกับการจัดหาโครงการดาวเทียม THEOS 2 เกิดขึ้น 3-4 ประเด็น จนนำไปสู่เหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น การลาออกของคณะผู้สังเกตการณ์อิสระ การตั้งคณะกรรมการจัดหาดาวเทียมTHEOS ชุดใหม่เป็นต้น อย่างไรก็ดีขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีประเด็นการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังเชิญนายประมนต์ เข้ามาเป็นคนกลาง และขณะเดียวกันได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาการจัดหาดาวเทียม THEOS 2 อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย
1.นายหิรัญ รดีศรี กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ 2.นายกฤษฎา บุณยสมิต ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นกรรมการ 3.น.ส.ชุณหจิต สังข์ใหม่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการ 4.นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ ที่ปรึกษาสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เป็นกรรมการ 5.นายสุระ พัฒนเกียรติ เป็นกรรมการ และ 6.นายบำรุง ตันจิตติวัฒน์ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีกำหนดระยะเวลา 30 วันเพื่อจะตรวจสอบในประเด็นที่มีความเห็นต่างทั้ง 3-4 ประเด็นให้แล้วเสร็จ (อ่านประกอบ : ไม่ใช้คำว่า สืบสวนข้อเท็จจริง! รมว.วิทย์ สั่งตั้งกก.พิจารณาโครงการซื้อดาวเทียม 7 พันล.แล้ว)
ต่อมาจึงมีการเปิดโอกาสสื่อมวลชนที่ร่วมงานได้มีโอกาสซักถาม โดยนายวีระพงษ์ กล่าวว่า สทอภ.มีหลักฐานยืนยันว่าการดำเนินงานจัดหาดาวเทียมเป็นไปด้วยความโปร่งใส แต่เราก็อยากได้คนกลางที่รับฟังเหตุผลและจะได้ให้โอกาสกรรมการชุดที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในการฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย ส่วนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นก็มีการดำเนินการควบคู่กับการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการพิจารณาฯ ขอเรียนว่าไม่มีอะไรที่ส่งผลกระทบต่อการจัดหาแต่อย่างใด
"ในประเด็นข้อตกลงคุณธรรมซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่ละฝ่ายก็มีความเห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องมีการมาหารือว่าจะเอาอย่างไร เพราะบางประเด็นอาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนในการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้นต้องเอาหลักฐานมากางดูกันและต้องให้คณะกรรมการพิจารณาฯได้เห็นหลักฐานและเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วย หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาฯได้ข้อสรุปทั้ง สทอภ.และคณะกรรมการพิจารณาฯก็จะต้องมานั่งพูดคุยกันและจะต้องเชิญคนกลางที่มีความรู้ทั้งทางด้านดาวเทียมและด้านกฎหมายเข้ามาร่วมในวงพูดคุยนี้ด้วย เพื่อจะได้หาข้อสรุปในกระบวนการจัดซื้อครั้งนี้ต่อไป" นายวีระพงษ์ ระบุ
ประเด็นสำคัญของเรื่องคือ นายวีระพงษ์ คาดว่าข้อสรุปที่ได้ในเบื้องต้นจากกรณีนี้คงไม่ใช่เรื่องการทุจริต แต่เป็นประเด็นเรื่องของการทำตามกฎระเบียบ ข้อตกลงคุณธรรม และประเด็นในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกันมากกว่า
เมื่อถามว่าสามารถเปิดเผยประเด็นความคลาดเคลื่อนทั้ง 3-4 ประเด็นนี้ได้หรือไม่ นายประมนต์ กล่าวว่าเรื่องนี้ต้องรอให้คณะกรรมการพิจารณาฯทำหน้าที่ผ่านพ้นระยะเวลา 30 วันไปก่อน โดยจะต้องไปตรวจสอบข้อมูลให้ถี่ถ้วน ชัดเจนถึงถึงจะเปิดเผยได้ ทั้งนี้ส่วนตัวเชื่อว่าการกำหนดให้มีผู้สังเกตการณ์ทำให้การดำเนินการใดใดถูกเปิดเผยและโปร่งใสมากขึ้นเพราะสามารถเสนอแนะทักท้วงสิ่งผิดปกติไม่ถูกต่อผู้ดำเนินโครงการได้ แต่เมื่อมีข้อขัดแย้งจนนำไปสู่การลาออกเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นทบทวน ก็เชื่อว่าจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐโปร่งใสขึ้น
เมื่อถามถึงกรณีที่มีชาวต่างชาติเข้าไปนั่งทำหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการเจรจาสำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) และอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับบริษัท Airbus ซึ่งชนะการประกวดราคาในครั้งนี้ จนนำไปสู่เรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนได้ นายสุวิทย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่คณะกรรมการพิจารณาฯจะต้องเข้าไปดูและตรวจสอบรายละเอียดด้วยเช่นกัน เพราะเป็นหนึ่งในข้อกังวลตามที่ได้เรียนไว้
"แต่ขอเรียนว่าอย่าพึ่งไปคิดไกลว่ามีหรือไม่เพราะถ้ามีผลประโยชน์ทับซ้อนจริง ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ เป็นไปตามครรลองอยู่แล้ว เรื่องสำคัญในวันนี้คือต้องให้มีกระบวนการมาตรวจสอบก่อนประเด็นข้อเป็นห่วง ความคลาดเคลื่อนต่างๆนั้นจริงหรือเท็จแค่ไหน"
นี่คือความเคลื่อนไหวเบื้องต้นจากฝ่ายรัฐ ภายหลังสังคมครหากระบวนการจัดหาดาวเทียม THEOS-2 วงเงินกว่า 7 พันล้านบาท ท้ายที่สุดจะมีบทสรุปอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด!
อ่านประกอบ:
ยันทำหน้าที่ปราศจากอคติ! องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจี้ก.วิทย์ฯหาข้อเท็จจริงซื้อดาวเทียม7พันล.
ซื้อดาวเทียม: จงใจปิดบัง ตั้งใจเลี่ยงกฎหมาย
รมว.วิทย์ ปัดตอบปัญหาจัดซื้อดาวเทียม7พันล.!องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน รุกส่งข้อมูลให้ป.ป.ช.
ปลัดก.วิทย์ แจงยังไม่มีตั้งกก.สอบจัดซื้อดาวเทียม7พันล.-คุย 'อานนท์' เคลียร์หมดแล้ว
รมว.วิทย์ฯ รับตั้ง กก.สอบปมจัดซื้อดาวเทียม7พันล.หลังหารือร่วมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เตรียมยกคณะผู้สังเกตการณ์พบรมว.วิทย์ ถกปัญหาจัดซื้อดาวเทียม7พันล.
เห็นไม่ตรงกันแค่ช่วงคัดเลือกผู้ชนะ! ปธ.จัดหาTHEOS-2 ชี้ผู้สังเกตการณ์ลาออกเหตุเข้าใจผิด
ปฏิบัติหน้าที่ต่อก็ไม่เกิดปย.! ผู้สังเกตการณ์ข้อตกลงคุณธรรมยกขบวนลาออกดาวเทียมTHEOS-2
โชว์หนังสือ ผู้สังเกตการณ์ข้อตกลงคุณธรรม ทำไมต้องยกขบวนลาออกโครงการดาวเทียมTHEOS-2?
ผ่าปมร้อนข้อพิรุธประกวดราคาTHEOS-2 ก่อน'บิ๊กตู่'เยือนฝรั่งเศส สักขีพยาน GISTDA & Airbus