ผ่าปมร้อนข้อพิรุธประกวดราคาTHEOS-2 ก่อน'บิ๊กตู่'เยือนฝรั่งเศส สักขีพยาน GISTDA & Airbus
"...การจัดประกวดราคาโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอพพลิเคชั่นภูมิภาคสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) วงเงินกว่า 7,000 ล้านบาท ดังกล่าว มีปัญหาถูกร้องเรียนในหลายประเด็น ทั้งเรื่องความไม่โปร่งใสการให้คะแนนข้อเสนอด้านเทคนิค การไม่ยกเลิกการประกวดราคาจัดหาดาวเทียมตามที่คณะกรรมการจัดหาพิจารณาและมีมติแล้วว่าข้อเสนอราคาของเอกชน มีเงื่อนไขข้อสงวนสิทธิ์ ที่ไม่เป็นไปตาม เอกสารแนะนำสำหรับผู้ประมูล ITB (Instructions to Bidders) บางข้อ กำหนดเป็นการเฉพาะให้ไม่ผ่านการประกวดราคา แต่สทอภ. กลับไปดำเนินการเปลี่ยนคณะกรรมการจัดหาฯ ใหม่ ก่อนการประกาศผลการประกวดราคา อย่างเป็นทางการเพียง 13 วัน เท่านั้น..."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า คณะผู้สังเกตการณ์ ตามโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) จำนวน 6 ราย ที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ส่งเข้าไปร่วมสังเกตการณ์การดำเนินงานโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอพพลิเคชั่นภูมิภาคสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) วงเงินกว่า 7,000 ล้านบาท ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้แจ้งขอลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้เห็นเหตุว่า คณะผู้สังเกตการณ์ได้เข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.2560 ถึงปัจจุบัน พิจารณาแล้วเห็นว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการไม่ได้ให้ความสนใจต่อรายงานการแจ้งเตือน และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ หากปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก็ไม่เกิดประโยชน์และเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงขอลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.2561 เป็นต้นมา (อ่านประกอบ : ปฏิบัติหน้าที่ต่อก็ไม่เกิดปย.! ผู้สังเกตการณ์ข้อตกลงคุณธรรมยกขบวนลาออกดาวเทียมTHEOS-2, โชว์หนังสือ ผู้สังเกตการณ์ข้อตกลงคุณธรรม ทำไมต้องยกขบวนลาออกโครงการดาวเทียมTHEOS-2?)
ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ 1 ใน 6 ราย ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เหตุผลสำคัญที่คณะผู้สังเกตการณ์ทั้ง 6 ราย ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออก เนื่องจากไม่สบายใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพราะนับตั้งแต่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ทำเรื่องแจ้งเตือนขั้นตอนการดำเนินงานที่เห็นว่าไม่เหมาะสมต่อหน่วยงานเจ้าของโครงการหลายเรื่อง แต่คำชี้แจงที่ตอบกลับมาไม่มีความชัดเจนเพียงพอ และบางครั้งก็ไม่ได้ชี้แจงอะไรตอบกลับมาด้วย
นอกจากนี้ ล่าสุดปรากฏข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางไปเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงสัญญาดาวเทียมธีออส 2 ระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กับ Airbus Defence & Space SAS ที่ประเทศฝรั่งเศสแล้ว ในช่วงวันที่ 25 มิ.ย. 2561 จึงทำให้คณะผู้สังเกตการณ์ทั้งหมด ยิ่งรู้สึกไม่สบายใจมากกว่าเดิม และกังวลว่านายกฯ อาจจะยังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาในการดำเนินงานโครงการนี้ครบถ้วน คณะผู้สังเกตการณ์จึงมีการหารือและเห็นพ้องตรงกันว่า ถ้ายังปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ก็เหมือนไปช่วยทำหน้าที่เป็นตรายางรับรองเรื่องอะไรบ้างอย่างที่ดูเหมือนจะไม่ถูกต้อง จึงตัดสินใจลงนามในหนังสือลาออกพร้อมกัน
ส่วนข้อสังเกตในขั้นตอนปฏิบัติงานที่คณะผู้สังเกตการณ์เห็นว่า ไม่ถูกต้องมีเรื่องอะไรบ้าง นั้น ผู้สังเกตการณ์ 1 ใน 6 ราย ระบุกับสำนักข่าวอิศราว่า "มีหลายกรณีด้วยกัน อย่างเช่นเรื่องขั้นตอนการเปิดซองเทคนิคและซองราคา ที่ตามระเบียบควรจะเปิดซองตามลำดับ แต่โครงการนี้เปิดพร้อมกันเลยทั้ง 2 ซอง นอกจากนี้ ยังมีกรณีบุคคลจากบริษัทที่เข้ามาร่วมประกวดราคา ปรากฏชื่อเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับงานประกวดราคาในโครงการด้วย ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก" (อ่านประกอบ : หวั่นตรายางรับรองเรื่องไม่ถูกต้อง! ผู้สังเกตการณ์ ชี้ปมTHEOS-2 บ.ร่วมประมูลโผล่ชื่อที่ปรึกษา)
ดูเหมือนว่า ข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่ง ที่ยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการ คือ มีเอกชนรายใดบ้างที่เข้าร่วมการประกวดราคางานโครงการนี้ และใครปรากฏชื่อเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด กระบวนการขั้นตอนการประกวดราคามีข้อร้องเรียนสำคัญอยู่ตรงจุดไหนบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายงานการประชุมคณะกรรมการจัดหาโดยวิธีประกวดราคาจัดหาระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอพพลิเคชั่นภูมิภาคสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) ครั้งที่ 17/2560 เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2560 ณ ห้องประชุม BM 601 ชั้น 6 ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) หรือ สทอภ. พบข้อมูลดังต่อไปนี้
- คณะกรรมการบริหาร สทอภ. ได้ลงประกาศเชิญชวนผู้สนใจทางเว็บไซต์ ระหว่างวันที่ 13-22 ม.ค. 2560 พร้อมส่งจดหมายแจ้งสถานฑูตประเทศต่างๆ ให้เข้าร่วมประกวดราคา เบื้องต้น กำหนดเปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคาระหว่าง 23-27 ม.ค. 2560 ต่อมา 27 ม.ค. 2560 ได้ออกประกาศแจ้งขยายระยะเวลาการจำหน่ายเอกสารประกวดราคาครั้งที่ 1 ไปเป็น 3 ก.พ. 2560 และขยายเวลาครั้งที่ 2 เป็น 8 ก.พ. 2560 อ้างว่าเพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุด กำหนดวันยื่นเอกสารประกวดราคา 30 มี.ค. 2560
- คณะกรรมการบริหาร สทอภ. มีมติเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2560 นำโครงการฯ นี้ เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสเป็นธรรม พร้อมปรับปรุงเนื้อหาในเอกสารแนะนำสำหรับผู้ประมูล ITB (Instructions to Bidders) และเผยแพร่ในเว็บไซต์ สทอภ. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2560 รวมถึงจัดส่งข้อมูลให้ผู้ซื้อเอกสารประกวดราคาทุกรายทางอีเมล
- คณะกรรมการบริหาร สทอภ. มีมติวันที่ 21 มี.ค. 2560 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างบันทึกความเข้าใจ เพื่อพิจารณาตรวจร่างบันทึกความเข้าใจระหว่าง สทอภ. และหน่วยงานรัฐของประเทศคู่สัญญาที่ชนะการประกวดราคา
- เมื่อถึงวันกำหนดวันยื่นเอกสารประกวดราคา 30 มี.ค. 2560 มีผู้มายื่นเอกสารประกวดราคา 7 ราย ประกอบไปด้วย
1. Airbus Defence and Space SAS
2. ATHI Corporation Co.LTD., SOLETOP Co.LTD. and Sat Byul Co.LTD.
3. China Great Wall Industry Corporation
4. Israel Aerospace industries Ltd.
5. NEC Corporation
6. Satrec Initiative Co.LTD and POSCO Daewoo Corporation
7. Thales Alenia Space France SAS and e-GEOS SPA
เบื้องต้นมีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสารหลักฐาน 4 ราย คือ 1. Airbus Defence and Space SAS 2. ATHI Corporation Co.LTD., SOLETOP Co.LTD. and Sat Byul Co.LTD. 3. Satrec Initiative Co.LTD and POSCO Daewoo Corporation 4. China Great Wall Industry Corporation
ต่อมามีผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอเทคนิค 2 ราย คือ 1. Airbus Defence and Space SAS และ 2. Satrec Initiative Co.LTD and POSCO Daewoo Corporation
ก่อนที่ Airbus Defence and Space SAS จะได้รับการคัดเลือกในเวลาต่อมา และมีการจัดพิธีลงนามเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา (https://www.gistda.or.th/main/th/node/2529)
ขณะที่แหล่งข่าวจาก สทอภ. ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า การจัดประกวดราคาโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอพพลิเคชั่นภูมิภาคสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) วงเงินกว่า 7,000 ล้านบาท ดังกล่าว มีปัญหาถูกร้องเรียนในหลายประเด็น ทั้งเรื่องความไม่โปร่งใสการให้คะแนนข้อเสนอด้านเทคนิค การไม่ยกเลิกการประกวดราคาจัดหาดาวเทียมตามที่คณะกรรมการจัดหาพิจารณาและมีมติแล้วว่าข้อเสนอราคาของเอกชน มีเงื่อนไขข้อสงวนสิทธิ์ ที่ไม่เป็นไปตาม เอกสารแนะนำสำหรับผู้ประมูล ITB (Instructions to Bidders) บางข้อ กำหนดเป็นการเฉพาะให้ไม่ผ่านการประกวดราคา แต่สทอภ. กลับไปดำเนินการเปลี่ยนคณะกรรมการจัดหาฯ ใหม่ ก่อนการประกาศผลการประกวดราคา อย่างเป็นทางการเพียง 13 วัน เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อร้องเรียนว่า ในช่วงเดือนม.ค. มีตัวแทนหน่วยงานรัฐบางกลุ่ม ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดหาในโครงการนี้ เดินทางไปประชุมร่วมกับตัวแทนบริษัทเอกชนบางรายที่เข้าร่วมการประมูลงานในต่างประเทศ ทั้งที่ กระบวนการจัดหายังไม่สิ้นสุดด้วย
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการจัดประกวดราคาโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอพพลิเคชั่นภูมิภาคสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) วงเงินกว่า 7,000 ล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด และเป็นประเด็นสำคัญที่ ผู้บริหาร สทอภ. รวมถึงตัวแทนจากรัฐบาลไทย จะต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้สาธารณชนรับทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การดำเนินงานโครงการนี้ มีความโปร่งใสมากที่สุด ตามโครงการข้อตกลงคุณธรรม
แม้จะมีการลงนามในสัญญาว่าจ้างกับเอกชน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลไทย จะให้เกียรติเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามไปแล้วก็ตาม