ซื้อดาวเทียม: จงใจปิดบัง ตั้งใจเลี่ยงกฎหมาย
ดาวเทียม มูลค่า 7 พันล้านบาท ที่ตกลงสั่งซื้อกันไปแล้วมีหลายอย่างผิดไปจากเงื่อนไขการจัดซื้อหรือทีโออาร์ (TOR - ITB) มีหลายขั้นตอนหลายเรื่องที่จงใจปิดบัง ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ ขาดธรรมาภิบาลและเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
แต่ที่เลวร้ายมากคือ พวกเขาลงมือกระทำทั้งๆ ที่รู้ดีว่า ตัวแทนภาคประชาชนพบเห็นและแจ้งเตือนพฤติกรรมเหล่านั้นแล้ว
ข้อกังขาจะคลี่คลาย หากผู้มีอำนาจเปิดเผย ‘รายงานผลการสังเกตการณ์’ (Notification Report) ทั้ง 4 ฉบับ ความยาว 13 หน้า ของผู้สังเกตการณ์อิสระ ตามข้อตกลงคุณธรรรมที่ยื่นไว้ และ ‘ผลการเจรจาและร่างสัญญา' (Statement of Work) ที่ไปตกลงไว้เงียบๆ กับคนขาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้สังเกตการณ์อิสระ ผู้เชี่ยวชาญและประชาชน ได้ตรวจสอบว่า ทุกอย่างที่เป็นไปตามเงื่อนไขการจัดซื้อที่กำหนดไว้แต่แรกจริงหรือไม่
หากยังไม่ทำให้โปร่งใส คณะผู้สังเกตการณ์อิสระ มีสิทธิ์ที่จะนำข้อมูลที่พบเห็นมารายงานต่อสาธารณะ และ ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. และ สตง. ให้ตรวจสอบการกระทำที่เกิดขึ้นว่ามีการทุจริตและประพฤติมิชอบประการใดหรือไม่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุไว้ใน คู่มือข้อตกลงคุณธรรม ของกรมบัญชีกลาง ข้อ 3.5 - 3.6 รวมถึงเอกสาร ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ ที่ คตช. เห็นชอบเมื่อ 14 มกราคม 2558 และที่ประชุม ครม. เห็นชอบ เมื่อ 20 มกราคม 2558
การจัดซื้อตามเงื่อนไข ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2558 มีหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติที่ชัดแจ้งตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ ภายใต้การกำกับดูแลของ คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คปท.) ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีโครงการจัดซื้อฯ ที่ถูกกำหนดให้เข้าร่วม 73 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ 8 โครงการจบสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วยให้เกิดการประหยัดและเกิดผลดีต่อราชการเป็นอย่างมาก
เพิ่งมีโครงการจัดซื้อดาวเทียมนี่แหละที่ทำเหมือนมีใบสั่งอยู่แล้ว จึงไม่สนใจข้อกฎหมายและคำทักท้วงใดๆ เลย