- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ผ่างบ กห. 4 รบ.‘สุรยุทธ์-สมัคร-มาร์ค-ปู’ ก่อนยุค‘บิ๊กตู่’ได้เท่าไหร่-ใช้อะไรบ้าง?
ผ่างบ กห. 4 รบ.‘สุรยุทธ์-สมัคร-มาร์ค-ปู’ ก่อนยุค‘บิ๊กตู่’ได้เท่าไหร่-ใช้อะไรบ้าง?
ผ่างบประมาณกลาโหม 4 รัฐบาลก่อนยุค ‘บิ๊กตู่’ 3 เหล่าทัพได้เท่าไหร่-ใช้อะไรบ้าง ‘พล.อ.สุรยุทธ์’ 1.1 แสนล้าน ปีเศษ จ้างเอกชน 5.7 พันสัญญา 3.3 หมื่นล้าน ‘สมัคร’ 1.4 แสนล้าน 7 เดือน จ้างเอกชน 2.7 พันสัญญา 2.4 หมื่นล้าน ‘อภิสิทธิ์’ 4.9 แสนล้าน 3 ปีเศษ จ้างเอกชน 1.4 หมื่นสัญญา 1 แสนล้าน ‘ยิ่งลักษณ์’ 3.4 แสนล้าน 2 ปีเศษ จ้างเอกชน 8.1 พันสัญญา 7.3 หมื่นล้าน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จัดทำซีรีย์รายงานการตรวจสอบงบประมาณแต่ละกระทรวงภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะทำงานอย่างเป็นทางการครบรอบ 4 ปีในช่วงปลายเดือน ส.ค. นี้
ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบงบประมาณกระทรวงกลาโหม เนื่องจากเป็นกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญรัฐบาลชุดนี้ใช้ในการควบคุมดูแลด้านความมั่นคง เบื้องต้นสำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ในช่วงบริหารประเทศ 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้จัดสรรงบประมาณให้กระทรวงกลาโหม ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 5 ฉบับ (2557-2561) และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 1 ฉบับ (2560) ได้งบกว่า 8.9 แสนล้านบาท โดยหน่วยงานสำคัญภายใต้การดูแลอย่างกองทัพบก ได้มากที่สุดกว่า 4.5 แสนล้านบาท (อ่านประกอบ : เช็คงบ กห. 5 ปี รบ.บิ๊กตู่ 8.9 แสนล้าน! ทบ.มากสุด4.5แสนล.-ว่าจ้างเอกชนแล้ว 1.7 แสนสัญญา)
อย่างไรก็ดี พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า การใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ที่สูงขึ้นทุกปีสอดคล้องกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีภาพรวมใหญ่ที่มีวงเงินสูงขึ้นทุกปีเช่นกัน ส่วนความจำเป็นในการใช้งบเพื่อซ่อมแซม ปรับปรุง หรือจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ที่เสียหายมาก โดยจัดหาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และทำอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนี้การรักษาความมั่นคง ยังทำให้ประเทศมีเสถียรภาพ มีผู้ลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอยู่ในปัจจุบัน (อ่านประกอบ : โฆษก กห.ยัน4ปีได้งบ8.9แสนล.โปร่งใส พัฒนา ปท.มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ)
เนื้อหาตอนหนึ่งที่ พล.ท.คงชีพ ระบุคือ ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ไล่มาถึงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ไม่นับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เนื่องจากไม่ได้ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณฯ) กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณ ‘สวิง’ มาตลอด กล่าวคือ แต่ละปีได้งบมาก-น้อยไม่เท่ากัน
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550-2556 และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีอีกหลายฉบับ พบรายละเอียด ดังนี้
รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 วงเงินรวม 1,566,200,000,000 บาท หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณ 115,024,014,800 บาท หรือราว 1.1 แสนล้านบาท โดย 3 หน่วยงานสำคัญ คือ กองทัพบก ได้งบ 56,847,886,400 บาท กองทัพเรือ ได้งบ 22,254,661,600 บาท และกองทัพอากาศ ได้งบ 21,443,087,100 บาท
รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช
รัฐสภา ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 วงเงินรวม 1,660,000,000,000 บาท หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณ 143,518,901,100 บาท หรือราว 1.4 แสนล้านบาท โดย 3 หน่วยงานสำคัญ คือ กองทัพบก ได้งบ 71,001,727,900 บาท กองทัพเรือ ได้งบ 27,823,620,300 บาท และกองทัพอากาศ ได้งบ 26,812,345,400 บาท
รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
รัฐสภา ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 วงเงินรวม 1,835,000,000,000 บาท หรือราว 1.8 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณ 170,157,393,800 บาท หรือราว 1.7 แสนล้านบาท โดย 3 หน่วยงานสำคัญ คือ กองทัพบก ได้งบ 84,299,488,300 บาท กองทัพเรือ ได้งบ 33,093,425,200 บาท และกองทัพอากาศ ได้งบ 31,775,548,400 บาท
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 วงเงินรวม 1,700,000,000,000 บาท หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณ 154,032,478,600 บาท หรือราว 1.5 แสนล้านบาท โดย 3 หน่วยงานสำคัญ คือ กองทัพบก ได้งบ 75,864,159,000 บาท กองทัพเรือ ได้งบ 29,822,549,900 บาท และกองทัพอากาศ ได้งบ 28,748,063,800 บาท
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 วงเงินรวม 2,070,000,000,000 บาท หรือราว 2 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณ 168,501,828,300 บาท หรือราว 1.6 แสนล้านบาท โดย 3 หน่วยงานสำคัญ คือ กองทัพบก ได้งบ 82,635,178,100 บาท กองทัพเรือ ได้งบ 33,068,577,400 บาท และกองทัพอากาศ ได้งบ 31,626,927,000 บาท
รวม 3 ปี กระทรวงกลาโหมได้งบ 492,691,700,700 บาท หรือราว 4.9 แสนล้านบาท
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รัฐสภา ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 วงเงินรวม 2,380,000,000,000 บาท หรือราว 2.3 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณ 168,667,373,500 บาท หรือราว 1.6 แสนล้านบาท โดย 3 หน่วยงานสำคัญ คือ กองทัพบก ได้งบ 82,574,314,900 บาท กองทัพเรือ ได้งบ 32,746,003,800 บาท และกองทัพอากาศ ได้งบ 31,999,655,500 บาท
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วงเงินรวม 2,400,000,000,000 บาท หรือราว 2.4 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณ 180,491,535,700 บาท หรือราว 1.8 แสนล้านบาท โดย 3 หน่วยงานสำคัญ คือ กองทัพบก ได้งบ 88,558,384,000 บาท กองทัพเรือ ได้งบ 35,071,057,700 บาท และกองทัพอากาศ ได้งบ 33,881,855,800 บาท
รวม 2 ปี กระทรวงกลาโหมได้งบ 349,158,909,200 บาท หรือราว 3.4 แสนล้านบาท
น่าสังเกตว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหมได้รับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศทุกปี เว้นช่วง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554-2555 (ช่วงรอยต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มาสู่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์) ที่งบภาพรวมของประเทศสูงขึ้น แต่งบกระทรวงกลาโหมลดลง
แล้วในแต่ละรัฐบาล 3 หน่วยงานสำคัญภายใต้กระทรวงกลาโหม คือ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ นำงบประมาณในส่วนนี้ไปใช้ทำอะไรบ้าง ?
จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549-22 พ.ค. 2557 พบรายละเอียด ดังนี้
รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (1 ต.ค. 2549-29 ม.ค. 2551) ประมาณ 1 ปีเศษ
กองทัพบก ว่าจ้างเอกชน 3,161 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 18,911,894,751 บาท หรือราว 1.8 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดคือ เครื่องบิน EMBRAER รุ่น ERJ135 จำนวน 1 เครื่อง วงเงิน 882,970,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2550 ดำเนินการโดยบริษัท แอมเบรย์-เอมเปรซา บราซิลเลรา เด ไอโรนอติก้า เอส เอ จำกัด
กองทัพเรือ 1,116 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 4,633,592,572 บาท หรือราว 4.6 พันล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดคือ เครื่องฝึกปราบเรือดำน้ำ พร้อมอาคารเครื่องฝึกปราบเรือดำน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ วงเงิน 348,800,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2550 ดำเนินการโดย Rheinmetall Defence Electronice gmbH
กองทัพอากาศ 1,464 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 10,326,804,925 บาท หรือราว 1 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ จ้างปรับปรุงระบบ Avionics บ.ล.8 (C-130) ระยะที่ 2 รวม 6 เครื่อง วงเงิน 1 พันล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2550 ดำเนินการโดยบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด
รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช (6 ก.พ. 2551-18 ก.ย. 2551) ประมาณ 7 เดือนเศษ
กองทัพบก ว่าจ้างเอกชน 1,525 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 14,743,251,951 บาท หรือราว 1.4 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ เครื่องตรวจจับอิออน วัตถุระเบิดแบบมือถืออเมริกา จำนวน 9 เครื่อง วงเงิน 3,431,482,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2551 ดำเนินการโดยบริษัท แอนดวานซ์ เอวิโอนิคส์ แอนด์ เอวิเอชั่น จำกัด
กองทัพเรือ 541 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 2,405,876,599 บาท หรือราว 2.4 พันล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ ขนาด 45 ที่นั่ง จำนวน 28 คัน วงเงิน 78,288,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2551 ดำเนินการโดยบริษัท เจริญศรี มอเตอร์เซลส์ จำกัด
กองทัพอากาศ 676 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 6,858,039,832 บาท หรือราว 6.8 พันล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ซื้อเวชภัณฑ์ยาจำนวน 7 รายการ วงเงิน 3,237,049,360 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2551 ดำเนินการโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (20 ธ.ค. 2551-9 ส.ค. 2554) ประมาณ 3 ปีเศษ
กองทัพบก ว่าจ้างเอกชน 7,832 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 66,996,703,350 บาท หรือราว 6.6 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ซื้อรถยนต์บรรทุกขนาด 2.5 ตัน วงเงิน 4,998,037,500 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2554 ดำเนินการโดยบริษัท อิทธิพร อิมปอร์ต จำกัด
กองทัพเรือ 3,176 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 19,197,555,001 บาท หรือราว 1.9 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ซื้อระบบการรบ (Combat System) สำหรับเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงนเรศวร วงเงิน 1,850,000,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2554 ดำเนินการโดย Saab AB (publ), Business Area Security and Defence Solutions
กองทัพอากาศ 3,188 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 23,581,246,633 บาท หรือราว 2.3 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ จ้างบริการส่งกำลังพัสดุอะไหล่สายช่างอากาศ และการซ่อมโครงสร้างระดับโรงงานของเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 วงเงิน 515,166,349 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2553 ดำเนินการโดยบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (9 ส.ค. 2554-9 ธ.ค. 2556) ประมาณ 2 ปีเศษ (ไม่นับหลังยุบสภาแล้วรักษาการ เนื่องจากไม่มีอำนาจผูกพันการทำ พ.ร.บ.งบประมาณฯ)
กองทัพบก ว่าจ้างเอกชน 4,346 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 32,406,225,785 บาท หรือราว 3.2 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ จ้างเหมาก่อสร้างอาคารพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกตามโครงการย้ายกองคลังยุทโธปกรณ์สรรพาวุธ กรมสรรพาวุธ จ.สระบุรี วงเงิน 2,959,000,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2554 ดำเนินการโดยบริษัท เบญจมาศ จำกัด
กองทัพเรือ 1,771 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงินรวม 12,109,816,053 บาท หรือราว 1.2 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ซื้อระบบการรบสำหรับเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงตากสิน วงเงิน 2,699,999,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2555 ดำเนินการโดย Saab AB, Business Area Security and Defence Solutions
กองทัพอากาศ 2,070 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงินรวม 29,401,375,132 บาท หรือราว 2.9 หมื่นล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ซ่อมแซมถนนภายในบ้านพักอาศัยกองทัพอากาศ ท่าดินแดงเขต 1 ส่วนที่ 1 วงเงิน 6,995,400,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2555 ดำเนินการโดย หจก.พงษ์ปาน (ดูรายละเอียดตามตาราง)
(ที่มา พ.ร.บ.งบประมาณฯ-ฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, สำนักข่าวอิศรา รวบรวม)
อ่านประกอบ :
เปิดงบ3เหล่าทัพซื้อกระสุนปืนยุค รบ.บิ๊กตู่ 1.5 พันล.-แค่ ทบ. 82 ครั้ง 1.4 พันล.
ส่องผลประกอบการ 9 บิ๊กเอกชนคู่ค้ากองทัพ 4 ปี คว้างานเฉียด 1.7 หมื่นล.
เปิดงบซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ กห. รบ.บิ๊กตู่ 1,720 สัญญา หมื่นล.-ทบ.มากสุด 7.8 พันล.
เปิดตัว 2 เอกชนรายใหญ่คู่ค้าผลิตภัณฑ์ยา ทบ. 7.8 พันล.-เฉพาะ รบ.บิ๊กตู่ 1.9 พันล.
โฆษก กห.ยัน4ปีได้งบ8.9แสนล.โปร่งใส พัฒนา ปท.มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ
เช็คงบ กห. 5 ปี รบ.บิ๊กตู่ 8.9 แสนล้าน! ทบ.มากสุด4.5แสนล.-ว่าจ้างเอกชนแล้ว 1.7 แสนสัญญา