- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดตัว 2 เอกชนรายใหญ่คู่ค้าผลิตภัณฑ์ยา ทบ. 7.8 พันล.-เฉพาะ รบ.บิ๊กตู่ 1.9 พันล.
เปิดตัว 2 เอกชนรายใหญ่คู่ค้าผลิตภัณฑ์ยา ทบ. 7.8 พันล.-เฉพาะ รบ.บิ๊กตู่ 1.9 พันล.
เปิดตัว ‘ดีเคเอสเอช-ซิลลิค ฟาร์มา’ 2 เอกชนรายใหญ่คู่ค้าซื้อผลิตภัณฑ์ยา-เวชภัณฑ์ กองทัพบก เฉพาะ รบ.บิ๊กตู่ 593 สัญญา 1.9 พันล้าน ช่วงปี’61 ได้ไปแล้ว 6 สัญญา 120 ล้าน หากรวมยอดตั้งแต่ปี’40 เบ็ดเสร็จ 2,502 สัญญา 7.8 พันล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า ในช่วงระยะเวลา 4 ปีเศษ นับตั้งแต่รัฐประหาร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านงบประมาณให้กระทรวงกลาโหม ที่ถือเป็นหน่วยงานสำคัญภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้วกว่า 8.9 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 5 ฉบับ (2557-2561) และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีอีก 1 ฉบับ (2560)
หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหมที่สำคัญอย่างน้อย 4 แห่ง คือ กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทบ.) กองทัพบก (ทบ.) กองทัพเรือ (ทร.) และกองทัพอากาศ (ทอ.) กองทัพบกได้รับงบประมาณเยอะที่สุดกว่า 4.5 แสนล้านบาท ดำเนินการว่าจ้างเอกชนไปแล้ว 78,173 โครงการ (เท่าที่ตรวจสอบพบ) รวมวงเงินประมาณ 105,078.96 ล้านบาท โดยสัญญาที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ซื้ออากาศยานขนส่งยุทธภัณฑ์ (เฮลิคอปเตอร์) โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 3,312.82 ล้านบาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2559 ดำเนินการโดย Finmeccanica S.p.a. (อ่านประกอบ : เช็คงบ กห. 5 ปี รบ.บิ๊กตู่ 8.9 แสนล้าน! ทบ.มากสุด4.5แสนล.-ว่าจ้างเอกชนแล้ว 1.7 แสนสัญญา)
สำหรับการว่าจ้างเอกชนของกองทัพบกในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นพวกจัดซื้อรถยนต์ รถบรรทุก หรือยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการรบเป็นหลัก นอกจากนั้นเป็นชิ้นส่วนซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ ซื้อกระสุนปืน เสื้อเกราะกันกระสุน และอาภรณ์ภัณฑ์ต่าง ๆ
แต่ที่น่าสนใจคือ ในช่วง 4 ปีเศษที่ผ่านมาภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ กองทัพบกจัดซื้อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยา หรือเวชภัณฑ์ ไปแล้วประมาณ 593 รายการ (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงินประมาณ 1.9 พันล้านบาทเศษ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า ในปี 2561 กองทัพบกจัดซื้อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยา และเวชภัณฑ์ วงเงินเกินหลัก 10 ล้านบาท อย่างน้อย 6 รายการ (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ได้แก่
1.ซื้อยา ATORVASTATIIN 40 MG TAB จำนวน 1 รายการ วงเงิน 39,697,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 มีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เป็นคู่สัญญา
2.ซื้อยาสำหรับผู้ป่วย จำนวน 1 รายการ วงเงิน 16,852,500 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2561 มีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เป็นคู่สัญญา
3.ซื้อยาสำหรับผู้ป่วย จำนวน 2 รายการ วงเงิน 16,768,184 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2561 มีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เป็นคู่สัญญา
4.ซื้อยาสำหรับผู้ป่วยจำนวน 1 รายการ วงเงิน 16,478,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2561 มีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เป็นคู่สัญญา
5.ซื้อยา DOXAZOSIN XL 4 MG TABLE จำนวน 1 รายการ วงเงิน 14,150,750 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2561 มีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เป็นคู่สัญญา
6.ซื้อยา EPOETIN BETA INJECTION PREFILLED SYRINGE 5000 IU วงเงิน 16,974,480 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2561 มีบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด เป็นคู่สัญญา
เบ็ดเสร็จเป็นเงิน 120,920,914 บาท โดยมีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เป็นคู่สัญญาถึง 4 สัญญา และบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด เป็นคู่สัญญาเพียงรายการเดียว
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพิ่มเติม พบว่า 2 บริษัทดังกล่าว เป็นคู่สัญญากับกองทัพบกในการจัดซื้อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยา และเวชภัณฑ์ เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557-ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ส.ค. 2561) รวม 593 สัญญา วงเงินรวม 1,976,754,330 บาท แบ่งเป็น
บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด 281 สัญญา วงเงิน 870,131,254 บาท และบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด 312 สัญญา วงเงิน 1,106,623,076 บาท
2 บริษัทดังกล่าวถือว่าเป็นคู่สัญญารายใหญ่ของกองทัพบกในการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ยา และเวชภัณฑ์ นับตั้งแต่ปี 2540-2557 มาแล้ว โดยบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ได้ 507 สัญญา วงเงิน 1,345,451,214 บาท ส่วนบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ได้ 1,602 สัญญา วงเงิน 4,494,626,447 บาท
หากนับรวมวงเงินตั้งแต่ปี 2540-ปัจจุบัน บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ได้ 588 สัญญา วงเงิน 2,215,582,468 บาท ส่วนบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ได้ 1,914 สัญญา วงเงิน 5,601,249,523 บาท
เบ็ดเสร็จ 2 บริษัทดังกล่าว เป็นคู่สัญญากองทัพบกรวม 2,502 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) วงเงิน 7,816,831,991 บาท หรือราว 7.8 พันล้านบาท
จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2523 ทุนปัจจุบัน 200 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 2533 ถ.สุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กทม. แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ ปรากฏชื่อนายดักลาส จอห์น ฮัมฟรีย์ นายขวัญชัย อัสนี นายวรเทพ ก่อกิจพูนผล นายจารึก มีขันทอง นายปีเตอร์ เกรแฮม ฮอร์นบี นายจตุรงค์ เจิดสกุลบุญ นายจอห์น ปีเตอร์ แคลร์ นายตัน ไล ฮวด และนายมาเธียส เกรเกอร์ เป็นกรรมการ มีผู้ถือหุ้น 3 ราย เป็นคนไทยถือหุ้น 51% และคนสัญชาติสวีดิชถือหุ้น 49%
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2560 มีรายได้รวม 112,382,081,544 บาท หรือราว 1.1 แสนล้านบาท รายจ่ายรวม 110,252,154,923 บาท กำไรสุทธิ 2,077,539,921 บาท
บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2539 ทุนปัจจุบัน 228 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 2 อาคารเพลินจิตเซ็นเตอร์ ชั้น 8-9 ถ.สุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กทม. แจ้งประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในการแพทย์ ปรากฏชื่อนายอีฟส์ แอร์เมส น.ส.พักตร์นลิต บูลกุล นายเกรียงไกร เวียสุวรรณ นายทิโมธี ทอย-มิง ฮุย น.ส.จินดา เจริญไพบูลย์สิน นายลักษมัณ ชูศิริ และนายหลุยส์ จอร์จส์ โดมินิค มารี คริสเตียน ลาสซองเนอรีย์ เป็นกรรมการ มีผู้ถือหุ้น 3 ราย เป็นคนมาเลเซีย และสิงคโปร์
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2560 มีรายได้รวม 54,243,838,124 บาท หรือราว 5.4 หมื่นล้านบาท รายจ่ายรวม 54,029,351,682 บาท กำไรสุทธิ 151,634,263 บาท